คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2956/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กองทับบกโจทก์เป็นนิติบุคคลมีผู้บัญชาการทหารบกเป็นผู้แทนมีอำนาจบังคับบัญชาและรับผิดชอบจึงเป็นผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา75หรือที่แก้ไขใหม่มาตรา70การที่กองบัญชาการควบคุมกองพลทหารราบที่4ส่วนราชการของโจทก์มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อทราบข้อเท็จจริงและมีการรายงานเหตุการเสียชีวิตของนายทหารชั้นสัญญาบัตรให้โจทก์ทราบตลอดจนมีการทำบันทึกเรื่องค่าเสียหายจะถือว่าโจทก์ทราบไม่ได้กรณีต้องถือว่าโจทก์เพิ่งทราบเหตุและตัวผู้ต้องรับผิดเมื่อผู้บัญชาการทหารบกได้ทราบรายงานและลงนามอนุมัติให้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสามเมื่อวันที่28ธันวาคม2531โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่30สิงหาคม2532ยังไม่พ้นกำหนด1ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา448ฟ้องโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ การที่โจทก์ซื้อรถมาโดยได้รับยกเว้นภาษีอากรนั้นราคาที่โจทก์ซื้อย่อมมิใช่ราคาที่แท้จริงในท้องตลาดเพราะราคาในท้องตลาดต้องเป็นราคาที่รวมค่าภาษีอากรเข้าด้วยแล้วดังนี้ราคารถที่จะให้ชดใช้ต้องถือตามราคาปกติในท้องตลาดอันเป็นมูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สิน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์จิ๊ปซูซูกิ ราคา660,000 บาท เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2531 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วยความเร็วสูง และอยู่ในอาการเมาสุรา เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุมีรถยนต์บรรทุกคันหนึ่งขับอยู่ข้างหน้าและขณะเดียวกันได้มีรถโจทก์ซึ่งมีพันโทสมโภชขับไปใช้ในราชการของโจทก์แล่นมาตามถนนดังกล่าวสวนทางกับรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับอยู่ ซึ่งในภาวะเช่นนั้นจำเลยที่ 1จะต้องใช้ความระมัดระวังโดยชะลอความเร็วของรถลง แต่จำเลยที่ 1ยังคงขับรถด้วยความเร็วสูง รถที่จำเลยที่ 1 ขับจึงพุ่งเข้าชนท้ายรถยนต์บรรทุกดังกล่าว แล้วพุ่งชนรถของโจทก์อย่างแรงที่ด้านหน้าข้างขวาทำให้รถของโจทก์พังยับเยินไม่สามารถซ่อมได้ คิดค่าเสียหายเป็นเงิน 660,000 บาท และยังเป็นเหตุให้พ้นโทษสมโภชถึงแก่ความตายและร้อยโทสมชายซึ่งนั่งไปด้วยได้รับอันตรายสาหัส จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นนายจ้างและเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์ที่จำเลยที่ 1ขับไปทำละเมิดดังกล่าวต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจำนวน660,000 บาท ให้แก่โจทก์ โจทก์เพิ่งทราบเหตุละเมิดและทราบตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2531 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน660,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความละเมิดเพราะมูลคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2531 แต่โจทก์ฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2532 ซึ่งพ้นกำหนดระยะเวลา 1 ปีแล้ว จำเลยที่ 1 นำรถของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ออกไปขับโดยพลการมิได้กระทำไปในทางการที่จ้างจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิด รถของโจทก์มีสภาพเก่าใช้งานมานานแล้วมีราคาไม่เกิน50,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 125,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้อง (30 สิงหาคม 2532) จนกว่าชำระเสร็จ
โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3ว่าฟ้องขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลโดยมีผู้บัญชาการทหารบกเป็นผู้แทน มีอำนาจบังคับบัญชาและรับผิดชอบ ดังนี้ผู้บัญชาการทหารบกจึงมีฐานะเป็นผู้แทนนิติบุคคลและเป็นผู้แสดงเจตนาอันเป็นความประสงค์ของนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 75 หรือที่แก้ไขใหม่ มาตรา 70 การรับทราบเหตุและตัวผู้ต้องรับผิดจะต้องให้ผู้บัญชาการทหารบกเป็นผู้รับทราบและสั่งการการที่กองบัญชาการควบคุม กองพลทหารราบที่ 4 อันเป็นส่วนราชการของโจทก์ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อทราบข้อเท็จจริงแล้วรายงานตามลำดับชั้นจนถึงพลเอกพิจิตรในฐานะผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ทำการแทนผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งได้ลงนามอนุมัติตามที่เสนอให้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสามตามบันทึกคำสั่งอนุมัติเอกสารหมาย จ.8 โดยลงนามอนุมัติเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2531กรณีจึงต้องถือว่าโจทก์เพิ่มทราบเหตุและตัวผู้ต้องรับผิดในวันที่28 ธันวาคม 2531 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2532ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448ฟ้องจึงยังไม่ขาดอายุความ การรายงานเหตุการเสียชีวิตของนายทหารชั้นสัญญาบัตรให้โจทก์ทราบภายใน 24 ชั่วโมง และต่อมาเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2531 ได้มีการทำบันทึกเรื่องค่าเสียหายมิใช่เป็นการรับทราบเหตุโดยผู้แทนผู้มีอำนาจทำการแทนของโจทก์ ไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ทราบเหตุและตัวผู้รับผิดตามข้อฎีกาของจำเลย
ปัญหาต่อไปเกี่ยวกับเรื่องค่าเสียหาย ได้ความว่า โจทก์ซื้อรถยนต์คันเกิดเหตุมาใช้ในราชการโดยไม่ต้องเสียภาษีอากรในราคา138,800 บาท โจทก์ฎีกาขอให้กำหนดราคารถเป็นเงิน 660,000 บาทศาลฎีกาเห็นว่า การที่โจทก์ซื้อรถมาโดยได้รับยกเว้นภาษีอากรนั้นราคาที่โจทก์ซื้อย่อมมิใช่ราคาที่แท้จริงในท้องตลาด เพราะราคาในท้องตลาดนั้นจะต้องเป็นราคาที่รวมค่าภาษีอากรเข้าด้วยแล้ว ดังนี้ราคารถที่จะใช้ชดใช้ต้องถือตามราคาปกติในท้องตลาด อันเป็นมูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สิน การถือเอาจำนวนเงินที่โจทก์ชำระไปในการได้รถมาเพื่อคำนวณราคารถจะทำให้มูลค่าของทรัพย์สินผิดไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 250,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี คิดตั้งแต่วันฟ้อง(30 สิงหาคม 2532) จนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์

Share