คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2890/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามสัญญาข้อ9เป็นเรื่องกรณีที่ผู้ขายผิดสัญญาไม่ส่งมอบสิ่งของที่ตกลงขายให้แก่ผู้ซื้อหรือส่งมอบสิ่งของทั้งหมดไม่ถูกต้องหรือไม่ครบจำนวนและผู้ซื้อได้บอกเลิกสัญญาต่อผู้ขายส่วนสัญญาข้อ10กำหนดค่าปรับในกรณีผู้ซื้อไม่บอกเลิกสัญญาต่อผู้ขายและยังคงยินยอมให้ผู้ขายนำสิ่งของที่ตกลงขายตามสัญญามาส่งให้ผู้ซื้อต่อไปผู้ซื้อจึงจะมีสิทธิเรียกร้องเอาเบี้ยปรับจากผู้ขายเป็นรายวันได้ซึ่งต้องปรากฏว่าผู้ขายได้มีการส่งมอบสิ่งของแล้วจะครบถ้วนถูกต้องหรือไม่ก็ตามแต่ตามข้อเท็จจริงในคดีนี้เนื่องจากจำเลยไม่ส่งมอบสิ่งของทั้งหมดภายในกำหนดสัญญาโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและริบหลักประกันซึ่งเป็นการปฏิบัติตามสัญญาข้อ9โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาเบี้ยปรับเป็นรายวันตามสัญญาข้อ10อีก โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าปรับรายวันตามสัญญาการที่ศาลชั้นต้นฟังว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระค่าปรับรายวันแต่ใช้ดุลพินิจกำหนดให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน10,000บาทโดยอาศัยนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา391นั้นเป็นการพิพากษาเกินกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องของโจทก์ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา142วรรคแรกและเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยมิได้ฎีกาโต้เถียงในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาซื้ออะไหล่ซ่อมบำรุงจากจำเลยกำหนดส่งมอบวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2535 จำเลยได้วางหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาไว้แก่โจทก์จำนวนเงิน 6,808 บาท ครบกำหนดจำเลยผิดสัญญาไม่ส่งมอบสิ่งของแก่โจทก์ตามสัญญา โจทก์มีหนังสือเตือนให้จำเลยปฎิบัติตามสัญญาเมื่อเห็นว่าจำเลยไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้จึงบอกเลิกสัญญา ริบเงินที่จำเลยวางไว้เป็นหลักประกัน กับทวงถามให้จำเลยชำระค่าปรับรายวันอัตราร้อยละ 0.2 ต่อปีของราคาของ นับแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์2535 ถึงวันที่ 23 เมษายน 2535 ซึ่งเป็นวันเลิกสัญญา รวมเป็นเงิน10,756.64 บาท แต่จำเลยเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยจำนวน 11,808.73 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.4ข้อ 9 วรรคแรก ระบุว่า “เมื่อครบกำหนดส่งมอบสิ่งของตามสัญญานี้แล้ว ถ้าผู้ขายไม่ส่งมอบสิ่งของตามที่ตกลงขายให้แก่ผู้ซื้อ หรือส่งมอบสิ่งของทั้งหมดไม่ถูกต้อง หรือส่งมอบสิ่งของไม่ครบจำนวน ผู้ซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้” วรรคสองระบุว่า”ในกรณีที่ผู้ซื้อใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อริบหลักประกัน เป็นจำนวนเงินทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้แล้วแต่ผู้ซื้อจะเห็นสมควร หากผู้ซื้อต้องซื้อสิ่งของในราคาที่แพงกว่าผู้ขายยอมรับผิดและยอมชดใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นจากราคาที่กำหนดไว้ในสัญญานี้ด้วย” สัญญาซื้อขายข้อ 10 วรรคแรก ระบุว่า”ในกรณีที่ผู้ซื้อไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามสัญญาข้อ 9 ผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละศูนย์จุดสอง (0.2)ของราคาสิ่งของที่ยังไม่ได้รับมอบ นับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดตามสัญญาเป็นต้นไป จนถึงวันที่ผู้ขายได้นำสิ่งของมาส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อจนถูกต้องครบถ้วน” วรรคสาม ก็ระบุว่า “ในระหว่างที่มีการปรับนั้น ถ้าผู้ซื้อเห็นว่า ไม่อาจจะปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ ผู้ซื้อจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและริบหลักประกันกับเรียกร้องให้ชดใช้ราคาที่เพิ่มขึ้น ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาข้อ 9 วรรคสอง นอกเหนือจากการปรับ จนถึงวันบอกเลิกสัญญาด้วยก็ได้” เห็นว่า ตามสัญญาข้อ 9 เป็นเรื่องกรณีที่ผู้ขายผิดสัญญาไม่ส่งมอบสิ่งของที่ตกลงขายให้แก่ผู้ซื้อหรือส่งมอบสิ่งของทั้งหมดไม่ถูกต้องหรือไม่ครบจำนวน และผู้ซื้อได้บอกเลิกสัญญาต่อผู้ขายส่วนสัญญาข้อ 10 กำหนดค่าปรับในกรณีผู้ซื้อไม่บอกเลิกสัญญาต่อผู้ขาย และยังคงยินยอมให้ผู้ขายนำสิ่งของที่ตกลงขายตามสัญญามาส่งให้ผู้ซื้อต่อไป ผู้ซื้อจึงจะมีสิทธิเรียกร้องเอาเบี้ยปรับจากผู้ขายเป็นรายวันได้ ซึ่งต้องปรากฏว่าผู้ขายได้มีการส่งมอบสิ่งของแล้วจะครบถ้วนถูกต้องหรือไม่ก็ตามแต่ตามข้อเท็จจริงในคดีนี้ เนื่องจากจำเลยไม่ส่งมอบสิ่งของทั้งหมดภายในกำหนดสัญญา โจทก์จึงใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและริบหลักประกันซึ่งเป็นการปฏิบัติตามสัญญาข้อ 9 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาเบี้ยปรับเป็นรายวันตามสัญญาข้อ 10 อีกศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนนี้ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจกำหนดให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 10,000 บาท โดยอาศัยนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 นั้น เป็นการพิพากษาเกินกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องของโจทก์ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคแรก และเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยมิได้ฎีกาโต้เถียงในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share