คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1941/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นสินสมรสเมื่อผู้คัดค้านที่1จดทะเบียนหย่ากับลูกหนี้ซึ่งเป็นภริยาโดยมิได้ตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นไว้ผู้คัดค้านที่1กับลูกหนี้จึงมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันการที่ผู้คัดค้านที่1โอนทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่ผู้คัดค้านที่2ย่อมเป็นการโอนส่วนของลูกหนี้ด้วยเมื่อการโอนได้กระทำขึ้นภายหลังวันที่ลูกหนี้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา22และ24การโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเฉพาะส่วนของลูกหนี้ย่อมตกเป็นโมฆะไม่มีผลบังคับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจที่จะร้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเฉพาะส่วนของลูกหนี้ได้ เมื่อการโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในส่วนของลูกหนี้กระทำหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดย่อมตกเป็นโมฆะไม่ว่าผู้คัดค้านที่2รับโอนโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา114หรือไม่ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในส่วนของลูกหนี้

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ได้ยื่นฟ้องขอให้ลูกหนี้ (จำเลย)ล้มละลาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ทางการสอบสวนปรากฏว่าลูกหนี้ได้สมรสกับผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2515 ต่อมาได้หย่ากันเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2534 ในระหว่างการสมรสลูกหนี้กับผู้คัดค้านที่ 1 มีที่ดินโฉนดเลขที่ 30162 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 39/3 โดยซื้อมาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2530 และใส่ชื่อผู้คัดค้านที่ 1 เป็นเจ้าของ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2534ผู้คัดค้านที่ 1 ได้ขายที่ดินดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้ผู้คัดค้านที่ 2 ไปในราคา 640,000 บาท ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของลูกหนี้กึ่งหนึ่งด้วย ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 30162 ตำบลบางหัวเสืออำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 39/3 หมู่ที่ 13 ตำบลบางหัวเสือ อำเภอพระประแดงจังหวัดสมุทรปราการ เฉพาะส่วนของลูกหนี้
ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านว่า ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทมิใช่สินสมรสระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้านที่ 1 แต่เป็นมรดกส่วนตัวของผู้คัดค้านที่ 1 ขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 2 ได้รับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทโดยทำหนังสือสัญญาซื้อขายจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย และได้ชำระราคาไปจำนวน 680,000 บาทโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านแต่อย่างใด ก่อนจดทะเบียนโอนมีการชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองแก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาปากน้ำการรับโอนดังกล่าวเป็นการกระทำโดยสุจริต ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทเป็นสินสมรส เป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้านที่ 1การโอนเฉพาะส่วนของลูกหนี้จึงเป็นโมฆะ มีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 30162 ตำบลบางหัวเสือ อำเภอพระประแดงจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมสิ่งปลูกสร้างเฉพาะส่วนของลูกหนี้ฐานะเดิม ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนผู้คัดค้านทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 จดทะเบียนสมรสกับลูกหนี้เมื่อปี 2515 ระหว่างสมรสมีทรัพย์สินคือที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาท เมื่อวันที่19 มีนาคม 2534 ผู้คัดค้านที่ 1 หย่าขาดจากลูกหนี้ และวันที่11 มิถุนายน 2534 ลูกหนี้ถูกศาลชั้นต้นสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดต่อมาวันที่ 21 พฤศจิกายน 2534 ผู้คัดค้านที่ 1 ได้โอนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองในชั้นนี้มีว่า ผู้ร้องจะขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทเฉพาะส่วนของลูกหนี้ได้หรือไม่ข้อที่ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกาว่าการถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของลูกหนี้ไม่ครอบคลุมถึงที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาท เพราะแม้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทจะได้มาระหว่างผู้คัดค้านที่ 1กับลูกหนี้อยู่กินฉันสามีภริยา แต่ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2534 ซึ่งเป็นวันหลังจากที่ผู้คัดค้านที่ 1 และลูกหนี้หย่าขาดกันแล้วนั้น เห็นว่า เมื่อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทฟังเป็นยุติว่าได้มาระหว่างสินสมรสจึงเป็นสินสมรส การที่ต่อมาผู้คัดค้านที่ 1 จดทะเบียนหย่ากับลูกหนี้ก็มิได้มีข้อตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินดังกล่าวไว้ผู้คัดค้านที่ 1 กับลูกหนี้จึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทร่วมกัน ฉะนั้น การที่ผู้คัดค้านที่ 1 โอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 ในวันที่ 21 พฤศจิกายน2534 ย่อมเป็นการโอนส่วนของลูกหนี้ด้วย เมื่อการโอนได้กระทำขึ้นภายหลังจากวันที่ 11 มิถุนายน 2534 ซึ่งเป็นวันที่ลูกหนี้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด อำนาจในการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้จึงตกอยู่แก่ผู้ร้อง ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 22 และ 24 นิติกรรมการโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทเฉพาะส่วนของลูกหนี้จึงฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าว ตกเป็นโมฆะไม่มีผลบังคับ ผู้ร้องมีอำนาจที่จะร้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทเฉพาะส่วนของลูกหนี้ได้
ส่วนข้อที่ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกาต่อไปว่า ผู้คัดค้านที่ 2ได้รับโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนจึงได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 114 นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทในส่วนของลูกหนี้ได้กระทำหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว อันเป็นผลให้การโอนในส่วนของลูกหนี้ตกเป็นโมฆะดังวินิจฉัยมาแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าผู้คัดค้านที่ 2 รับโอนโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 114 หรือไม่ เพราะศาลมิได้เพิกถอนการโอนตามมาตราดังกล่าว คำว่าการโอนทรัพย์สินหรือการกระทำใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ซึ่งลูกหนี้ได้กระทำหรือยินยอมให้กระทำในระหว่างระยะเวลาสามปีก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังตามมาตราดังกล่าวนั้น หมายถึงการโอนหรือการกระทำใด ๆ ก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้หาใช่การโอนหรือการกระทำใด ๆ หลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษามาชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share