คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1503/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามสัญญาว่าจ้างก่อสร้างบ้านระบุว่าโจทก์เป็นคู่สัญญากับจำเลยการที่จำเลยยินยอมเข้าทำสัญญาและปฎิบัติตามสัญญาบางส่วนแล้วถือได้ว่าจำเลยยอมรับว่าโจทก์เป็นคู่สัญญาโดยโจทก์มอบอำนาจให้จ. ทำสัญญากับจำเลยแทนโจทก์จำเลยจะกลับยกเอาความไม่สมบูรณ์ของหนังสือมอบอำนาจมาต่อสู้เพื่อให้พ้นความรับผิดตามสัญญาหาไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างบ้านในโครงการหมู่บ้านพิบูลย์ ซอยจรัญสนิทวงศ์ 35 ราคา 1,260,000บาท หลังจากโจทก์สำหรับบ้านให้แล้วเสร็จ จำเลยได้เข้าอยู่อาศัยจำเลยยังคงค้างค่าจ้างก่อสร้างบ้านแก่โจทก์อีก 216,000 บาทแต่จำเลยไม่ชำระ จึงขอให้บังคับจำเลยชำระค่าจ้างดังกล่าวพร้อมค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 216,000บาท ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2533 จนถึงวันฟ้อง คิดเป็นดอกเบี้ย12,150 บาท รวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์จำนวน 228,150 บาท
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยว่าจ้างให้โจทก์เป็นผู้ก่อสร้างบ้านตามฟ้อง กรรมการของโจทก์ผู้มีอำนาจมิได้ลงลายมือชื่อเป็นคู่สัญญาในช่องผู้รับจ้าง สัญญาดังกล่าวจึงไม่ผูกพันอำนาจเลยขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 228,150 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 216,000บาท ตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยชำระเสร็จ จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาข้อแรกว่า จำเลยมิได้ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ ตามเอกสารหมาย จ.6 โจทก์นำสืบโดยมีนางสาวกรภัทร์ สุวิวัฒน์ธนชัย และนางสาวจำเนียร วิธีจงเจริญเบิกความเป็นพยานว่า จำเลยได้ทำสัญญากับโจทก์เมื่อปี 2536ว่าจ้างให้โจทก์ก่อสร้างบ้านปรากฎตามเอกสารหมาย จ.6 จำเลยให้การรับว่า ได้ตกลงซื้อบ้านแบบพิกุลพร้อมที่ดิน ตามโครงการหมู่บ้านพิบูลย์ ซอยจรัลสนิทวงศ์ 35 ซึ่งเจือสมกับข้อความในเอกสารหมาย จ.6 อีกประการหนึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเมื่อพิเคราะห์การเขียนในช่องผู้ว่าจ้างในเอกสารเปรียบเทียบกับลายมือชื่อในช่องใบแต่งทนายความที่จำเลยแต่งทนายเข้ามาต่อสู้คดี เห็นได้ว่า มีลักษณะการเขียนและลายมือที่คล้ายคลึงกัน จึงน่าเชื่อว่า จำเลยได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้ว่าจ้างจริง จำเลยมิได้อุทธรณ์หรือฎีกาโต้แย้งคำวินิจฉัยดังกล่าวแต่กลับอุทธรณ์และฎีการับว่าจำเลยเคยลงชื่อในสัญญาเปล่าให้บริษัทชินภัทรเคหะและก่อสร้างจำกัด ซึ่งก็สอดคล้องกับพยานโจทก์เช่นเดียวกัน พยานโจทก์จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้ว่าจ้างโจทก์ตามสัญญา เอกสารหมาย จ.6จำเลยจึงต้องรับผิดตามสัญญาดังกล่าว ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นจำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่าใบมอบอำนาจให้นางสาวจำเนียร ลงนามแทนโจทก์ เอกสารหมาย จ.7 ไม่สมบูรณ์เพราะกรรมการโจทก์ลงชื่อเพียงคนเดียว โจทก์จึงไม่เป็นคู่สัญญาไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่าตามสัญญาเอกสารหมาย จ.6 ระบุชัดแจ้งว่าโจทก์เป็นคู่สัญญากับจำเลยการที่จำเลยยินยอมเข้าทำสัญญาและปฎิบัติตามสัญญาบางส่วนแล้วถือได้ว่าจำเลยยอมรับว่าโจทก์เป็นคู่สัญญาโดยโจทก์มอบอำนาจให้นางสาวจำเนียร ทำสัญญากับจำเลยแทนโจทก์ จำเลยจะกลับยกเอาความไม่สมบูรณ์ของหนังสือมอบอำนาจมาต่อสู้ เพื่อให้พ้นความรับผิดตามสัญญาไม่ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยให้ปฎิบัติตามสัญญาได้”
พิพากษายืน

Share