คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1387/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอนการโอนตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา114จำเลยผู้ล้มละลายและผู้คัดค้านกลับคืนสู่ฐานะเดิมผู้คัดค้านต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยแต่เนื่องจากผู้คัดค้านไม่อาจคืนที่ดินให้แก่จำเลยได้เพราะผู้คัดค้านได้ขายให้แก่บุคคลภายนอกผู้สุจริตไปแล้วผู้คัดค้านก็ต้องคืนเงินที่ขายได้ให้แก่จำเลยโดยเต็มจำนวนเพราะเป็นกรณีที่ผู้คัดค้านรับโอนที่ดินไว้โดยไม่สุจริตอันฝ่าฝืนต่อมาตรา114แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483จะนำเงินที่ผู้คัดค้านไถ่ถอนจำนองที่ดินก่อนขายให้แก่บุคคลภายนอกมาหักออกจากเงินที่ผู้คัดค้านต้องชดใช้ราคาแทนไม่ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2532 โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้เป็นบุคคลล้มละลาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองไว้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2532และพิพากษาให้จำเลยทั้งสองเป็นบุคคลล้มละลาย เมื่อวันที่ 5 มีนาคม2534 ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2532 จำเลยที่ 2โอนขายที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 ตามโฉนดเลขที่ 438และ 439 ให้แก่ผู้คัดค้าน ในระหว่างระยะเวลา 3 ปี ก่อนที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ให้เป็นบุคคลล้มละลายด้วยราคาต่ำกว่าราคาที่เป็นจริงทั้งผู้คัดค้านทราบเป็นอย่างดีว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่สามารถชำระหนี้ให้ธนาคารกรุงไทย จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้ จนต้องยอมให้ธนาคารกรุงไทย จำกัด ฟ้องบังคับจำนองที่ดินทั้งสองแปลง พฤติการณ์ของผู้คัดค้านส่อแสดงให้เห็นเป็นพิรุธว่าได้โอนที่ดินทั้งสองแปลง โดยไม่สุจริตและไม่มีค่าตอบแทนชอบที่จะถูกเพิกถอนการโอนที่ดินทั้งสองแปลง ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 114 ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 438 และ 439 ตำบลดีลัง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรีระหว่างจำเลยที่ 2 กับผู้คัดค้าน ให้ทั้งสองฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะเดิมโดยให้ผู้คัดค้านโอนที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวคืนสู่กองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 หากไม่โอนให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของผู้คัดค้าน ในกรณีไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ให้ผู้คัดค้านใช้ราคาแทนเป็นเงิน 5,394,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่มีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนจนกว่าจะชำระเสร็จแก่กองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านไม่ทราบมาก่อนว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว จนไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด เจ้าหนี้ได้ เพราะจำเลยที่ 2 มีที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้แก่ธนาคารกรุงไทยจำกัด เมื่อจำเลยที่ 2 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ ธนาคารกรุงไทย จำกัดชอบที่จะฟ้องบังคับจำนองยึดที่ดินทั้งสองแปลงออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ได้ ธนาคารกรุงไทย จำกัด มิได้ฟ้องจำเลยที่ 2ให้เป็นบุคคลล้มละลาย ผู้ร้องกล่าวอ้างลอย ๆ ว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัดเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2532 จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองที่ดินทั้งสองแปลงจากธนาคารกรุงไทย จำกัด เรียบร้อยแล้วการที่ผู้คัดค้านรับโอนที่ดินทั้งสองแปลงมาจากจำเลยที่ 2 ได้กระทำโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ทั้งราคาที่ดินทั้งสองแปลงมิได้ต่ำกว่าราคาเป็นจริงตามสภาพของที่ดินและราคาประเมินของทางราชการเนื่องจากราคาประเมินของทางราชการ ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมีราคาเพียง 247,820 บาท เท่านั้น การที่ผู้ร้องขอให้ผู้คัดค้านใช้ราคาที่ดินทั้งสองแปลงเป็นเงิน 5,394,000 บาท จึงเป็นการไม่ถูกต้อง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านใช้ราคาที่ดินพิพาทแทนเป็นเงิน1,900,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่มีคำสั่ง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่กองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ผู้คัดค้านใช้ราคาแทนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นเงิน 1,280,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
ผู้คัดค้านและผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยที่ 2เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทสองแปลงตามโฉนดเลขที่ 438 และ439 ตำบลดีลัง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ซึ่งจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ไว้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด ต่อมาธนาคารกรุงไทย จำกัด ฟ้องจำเลยที่ 2 ให้ชำระหนี้และบังคับจำนองที่ดินพิพาททั้งสองแปลง ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 2ชำระหนี้และยึดที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดังกล่าวออกขายทอดตลาดตามคดีหมายเลขแดงที่ 7703/2523 ของศาลชั้นต้น ระหว่างประกาศการขายทอดตลาด จำเลยที่ 2 ได้ขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแก่ผู้คัดค้าน โดยมอบอำนาจให้ผู้คัดค้านไปชำระหนี้จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจากธนาคารกรุงไทย จำกัด เป็นเงิน620,000 บาท แล้วจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนซื้อขายโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่ผู้คัดค้านเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2532ต่อมาวันที่ 6 มีนาคม 2532 ผู้คัดค้านได้ขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่นายณรงค์ศักดิ์ ชวรางกูร เป็นเงิน 1,900,000 บาทครั้นวันที่ 29 กันยายน 2532 โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้เป็นบุคคลล้มละลายเป็นคดีนี้ พยานหลักฐานของผู้คัดค้านยังไม่พอฟังว่าผู้คัดค้านรับโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาโดยสุจริต เมื่อการรับโอนดังกล่าวจำเลยที่ 2 ได้กระทำในระหว่างระยะเวลาสามปีก่อนมีการขอให้จำเลยที่ 2 ล้มละลาย เช่นนี้ศาลจึงมีอำนาจสั่งให้เพิกถอนการโอนได้ตามคำร้อง ผู้คัดค้านต้องส่งมอบที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่กองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 หรือมิฉะนั้นก็ต้องชดใช้ราคาแทนพร้อมดอกเบี้ย ฎีกาข้อนี้ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปตามฎีกาของผู้ร้องมีว่า เมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอนการโอนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 114 แล้วเงินค่าขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจำนวน 1,900,000 บาท ผู้คัดค้านจะต้องส่งคืนกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ทั้งหมดหรือไม่ เพียงใดเห็นว่า เมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอนการโอนดังกล่าวแล้ว มีผลให้จำเลยที่ 2 และผู้คัดค้านกลับคืนสู่ฐานะเดิม ผู้คัดค้านต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เนื่องจากผู้คัดค้านไม่อาจคืนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่จำเลยที่ 2 ได้เพราะผู้คัดค้านได้ขายให้แก่บุคคลภายนอกไปแล้ว ในราคา 1,900,000 บาทผู้คัดค้านก็ต้องคืนเงินจำนวน 1,900,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเต็มจำนวนเพราะเป็นกรณีที่ผู้คัดค้านรับโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงไว้โดยไม่สุจริต อันฝ่าฝืนต่อมาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 ที่ศาลอุทธรณ์นำเงินที่ผู้คัดค้านไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาหักออกจากเงินที่ผู้คัดค้านชดใช้ราคาแทนนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ผู้คัดค้านใช้ราคาแทนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นเงิน 1,900,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share