คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 738/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ที่พิพาทคดีนี้ได้มีคำพิพากษาในคดีก่อนว่าไม่ใช่ของโจทก์เพราะโจทก์ถูกมารดาจำเลยฟ้องบุกรุกแล้วศาลให้ขับไล่โจทก์ออกจากที่พิพาทการที่โจทก์ฟ้องคดีนี้แม้จะอ้างเหตุใหม่ว่าความจริงที่พิพาทเป็นของมารดาจำเลยแล้วโจทก์ครอบครองไว้โดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาสิบปีจึงได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1382แต่โจทก์ไม่ได้ตั้งรูปเรื่องเข้ามาใหม่ว่าเป็นการได้กรรมสิทธิ์มาภายหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาแล้วแม้จำเลยคดีนี้ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีก่อนแต่จำเลยได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทสืบต่อมาจากมารดาผู้ชนะคดีตามคำพิพากษาจึงไม่ถือว่าเป็นบุคคลภายนอกโจทก์ในคดีนี้ต้องผูกพันโดยคำพิพากษาในคดีก่อนด้วยและโจทก์ก็ไม่ได้เป็นบุคคลภายนอกคดีที่จะพิสูจน์ให้ตนมีสิทธิดีกว่าจึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินโฉนดที่ 4893 มารดาโจทก์ที่ 2 ยกให้โจทก์ทั้งสอง ซึ่งที่ดินทางทิศเหนือจดที่ดินโฉนดเลขที่ 79703ของจำเลย แต่เดิมที่ดินของโจทก์จำเลยมีแนวหมอนไม้เป็นเขตรั้วกั้นแดนมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายของโจทก์ กินเข้าไปในแนวเขตที่ดินของจำเลยประมาณ 3 เมตร เนื้อที่ประมาณ 5 ตารางวา โดยโจทก์และปู่ย่าตายายไม่ทราบว่าเป็นที่ดินของจำเลยและเข้าใจว่าเป็นที่ดินของตนเองตลอดมา โจทก์ครอบครองทำกินในที่ดินของจำเลยตามแนวเขตที่ดินแผนที่พิพาทมาเป็นเวลา 18 ปี โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ได้ครอบครองติดต่อกันมาในระหว่างที่มารดาโจทก์และปู่ ย่า ตา ยายโจทก์ครอบครองไว้เป็นเวลาเกือบ 100 ปีมาแล้ว จำเลยไม่เคยมาโต้แย้งคัดค้าน ต่อมาเมื่อประมาณปี 2532 นางเพ็ญพรรณ สาคระพันธ์ ทำการแบ่งแยกที่ดินให้แก่บุตรหลาน โดยนำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดที่ดินเข้ามาในอาณาเขตที่ดิน ซึ่งโจทก์ครอบครองอยู่ ทั้งยังสร้างรั้วล้ำเข้ามาในบริเวณที่พิพาทประมาณ 2 เมตร หรือประมาณ 3 ตารางวา จึงเกิดกรณีพิพาทระหว่างโจทก์จำเลย ต่อมาเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2533โจทก์นำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดในที่พิพาท จึงทราบว่าที่ดินที่โจทก์ครอบครองอยู่ตามแผนที่พิพาทเป็นที่ของจำเลย การที่โจทก์ทั้งสองครอบครองที่ดินของจำเลย โดยสำคัญผิดว่าเป็นที่ดินของโจทก์เองเป็นเวลาถึง 18 ปี โดยใช้ประโยชน์เป็นบริเวณบ้านและทำการเพาะปลูกพืชผักสวนครัวตลอดมา โดยจำเลยไม่เคยเข้ามาโต้แย้งคัดค้าน โจทก์ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวตามกฎหมาย ขอให้พิพากษาว่า ที่ดินเนื้อที่ 5 ตารางวา ตามแผนที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยการครอบครองปรปักษ์ ให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินตามที่โจทก์ครอบครองปรปักษ์คืนแก่โจทก์จำนวน 5 ตารางวา หรือถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยในการจดทะเบียนคืนที่พิพาทแก่โจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่พิพาท
จำเลยให้การว่า ที่พิพาทเป็นของจำเลย จำเลยครอบครองดูแลตลอดมา โจทก์ไม่เคยเข้ามาเกี่ยวข้อง ที่พิพาทตามโฉนดที่ดินเลขที่ 79703 เดิมเป็นที่ดินของมารดาจำเลย มีหลักฐานเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 9375 เนื้อที่ 3 งาน 11 ตารางวา มารดาจำเลยยกที่ดินแปลงนี้ให้จำเลย เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2533 ก่อนที่มารดาจำเลยจะยกที่ดินให้ มารดาจำเลยทำการรังวัดแนวเขตของที่ดิน แต่โจทก์ไม่ยอมรับรองแนวเขต มารดาจำเลยจึงฟ้องขับไล่โจทก์ให้ออกจากที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 4975 ศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่โจทก์ห้ามเกี่ยวข้องต่อไป ตามคดีหมายเลขแดงที่ 919/2533 โจทก์ใช้สิทธิฟ้องไม่สุจริตและโจทก์ไม่ได้เป็นผู้ครอบครองดูแลที่พิพาทของจำเลยตามที่กล่าวอ้าง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ทั้งสองฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายว่า ฟ้องโจทก์ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 โจทก์ทั้งสองรับว่ามารดาจำเลยได้ฟ้องขับไล่โจทก์ทั้งสองออกจากที่พิพาทในคดีนี้ ซึ่งศาลพิพากษาตามคดีหมายเลขแดงที่ 919/2533 ขับไล่โจทก์ทั้งสองและคดีถึงที่สุดแล้ว และมารดาจำเลยได้โอนที่พิพาทให้จำเลย จำเลยจึงรับช่วงสิทธิต่าง ๆ ในที่พิพาทจากมารดา แต่โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยเรื่องสิทธิในการครอบครองปรปักษ์ในคดีนี้ จึงไม่ใช่ข้อหาเดียวกันกับคดีหมายเลขแดงที่ 919/2533 และคำพิพากษาในคดีก่อนจึงไม่ผูกพันคู่ความในคดีนี้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ที่พิพาทคดีนี้ได้มีคำพิพากษาตามคดีหมายเลขแดงที่ 919/2533 วินิจฉัยว่าไม่ใช่ของโจทก์ทั้งสองแล้วเพราะโจทก์ทั้งสองถูกมารดาจำเลยบุกรุกแล้ว ศาลให้ขับไล่โจทก์ทั้งสองออกจากที่พิพาท แม้จำเลยมิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าวแต่จำเลยได้ที่พิพาทจากมารดาผู้ชนะคดีตามคำพิพากษา การที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้ว่าโจทก์ทั้งสองครอบครองปรปักษ์ในที่พิพาทมาโดยตลอด แม้จะอ้างเหตุใหม่ว่าความจริงที่พิพาทเป็นของมารดาจำเลยแล้วโจทก์ทั้งสองครอบครองไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี จึงได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 หากโจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ใหม่จากจำเลย โจทก์ทั้งสองย่อมมีอำนาจฟ้องได้ แต่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้โดยไม่ได้ตั้งรูปเรื่องเข้ามาใหม่ว่าเป็นการได้กรรมสิทธิ์มาภายหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาแล้วอย่างไร แม้จำเลยคดีนี้ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีก่อน แต่จำเลยได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทสืบต่อมาจากผู้ชนะคดีตามคำพิพากษาจำเลยในคดีนี้จึงไม่ถือว่าเป็นบุคคลภายนอก โจทก์ทั้งสองในคดีนี้ต้องผูกพันโดยคำพิพากษาในคดีเดิมด้วย และคดีนี้โจทก์ทั้งสองก็ไม่ได้เป็นบุคคลภายนอกคดีที่จะพิสูจน์ให้ตนมีสิทธิดีกว่าที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 สั่งเฉพาะค่าทนายความให้โจทก์ทั้งสองใช้แทนจำเลย ส่วนค่าใบแต่งทนายความเข้ามาใหม่มิได้วินิจฉัยถึง จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 161 ศาลฎีกาเห็นสมควรให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นด้วย”
พิพากษายืน ให้ โจทก์ ทั้ง สอง ใช้ ค่าฤชาธรรมเนียม ใน ชั้นอุทธรณ์แทน จำเลย โดย กำหนด ค่า ทนายความ 300 บาท

Share