แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยไม่ได้ฟ้องให้รับผิดในฐานะผู้ทำละเมิดหากจำเลยจะยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยก็ต้องยกอายุความในการเรียกค่าสินไหมทดแทนที่ว่าห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันวินาศภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา882วรรคแรกซึ่งบัญญัติไว้ต่างหากจากอายุความเรื่องละเมิดตามมาตรา448ขึ้นต่อสู้เมื่อจำเลยไม่ได้ยกอายุความเรื่องการเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยขึ้นต่อสู้จึงไม่เป็นประเด็นแห่งคดีและไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลอุทธรณ์จะยกขึ้นวินิจฉัยเองไม่ได้จำเลยจึงฎีกาต่อมาไม่ได้เพราะเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่10725/2532 ของศาลชั้นต้น แต่คดีดังกล่าวถึงที่สุดตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น คงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2529 จำเลยที่ 1ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 1 ร-6738 กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 2ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ตามถนนเสือป่ามุ่งหน้าไปถนนยุคล 2 ด้วยความประมาทฝ่าสัญญาณไฟจราจรสีแดงที่สี่แยกถนนเสือป่าตัดกับถนนหลวง เข้าไปในถนนยุคล 2 จนเสียหลักพุ่งชนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 6ง-3653 กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ซึ่งแล่นสวนทางมาได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับ และเป็นผู้ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินจำนวน 27,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่ง ต่อปีนับแต่วันละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์ทราบถึงเหตุแห่งการกระทำละเมิดและรู้ตัวผู้พึงจะต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์นับแต่วันที่ 14 มกราคม 2529 อันเป็นวันทำละเมิดแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงิน 15,900 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันละเมิด จนกว่าจะชำระเสร็จให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่สำหรับจำเลยที่ 3 ให้รับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาต่อไปว่า ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ฟ้องภายในอายุความ 2 ปี นับแต่วันเกิดวินาศภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 วรรคแรกนั้น เป็นเรื่องอายุความการฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนระหว่างจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยกับจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยเท่านั้นเห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย ไม่ได้ฟ้องให้รับผิดในฐานะผู้ทำละเมิด หากจำเลยที่ 3 จะยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 3 ก็ต้องยกอายุความในการเรียกค่าสินไหมทดแทนที่ว่าห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันวินาศภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 วรรคแรก ซึ่งบัญญัติไว้ต่างหากจากอายุความเรื่องละเมิดตามมาตรา 448 ขึ้นต่อสู้เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ได้ยกอายุความเรื่องการเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยขึ้นต่อสู้จึงไม่เป็นประเด็นแห่งคดีและไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลอุทธรณ์จะยกขึ้นวินิจฉัยเองไม่ได้ จำเลยที่ 3 จึงฎีกาต่อมาไม่ได้เพราะเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน”
พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3