แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายเป็นสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยนำความเท็จไปฟ้องโจทก์หลายศาลทำให้โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าจ้างทนายความในการต่อสู้คดีส่วนที่โจทก์บรรยายว่าจำเลยได้นำข้อความที่รู้อยู่แล้วว่าเป็นความเท็จไปยื่นฟ้องโจทก์กับพวกเป็นคดีอาญาในข้อหาว่าร่วมกันหมิ่นประมาทซึ่งฟ้องในคดีอาญาล้วนเป็นความเท็จทั้งสิ้นนั้นข้อความดังกล่าวเป็นเพียงข้ออ้างที่โจทก์อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเพื่อให้ฟ้องสมบูรณ์ขึ้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา172วรรคสองเท่านั้นหาได้เป็นสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ไม่ดังนั้นเมื่อคำฟ้องโจทก์เป็นการเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดโดยมิได้กล่าวในคำฟ้องว่าจำเลยได้กระทำผิดในทางอาญาต่อโจทก์จะใช้อายุความทางอาญาที่ยาวกว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา448วรรคสองไม่ได้ต้องใช้อายุความในมูลละเมิดตามมาตรา448วรรคแรก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ กล่าวคือเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2529 จำเลยทั้งสองได้นำเอาข้อความที่รู้อยู่แล้วว่าเป็นเท็จไปยื่นฟ้องโจทก์กับพวกอีก 3 คน เป็นคดีอาญาต่อศาลจังหวัดตรัง ในข้อหาว่าร่วมกันหมิ่นประมาท โดยกล่าวหาว่าโจทก์เป็นผู้ไขข่าวให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้มีอิทธิพลในตำแหน่งหน้าที่การงานและร่วมกันฆ่านางภาวิณี ศิริวรรณ ภรรยาของจำเลยที่ 1 เพื่อประสงค์จะเอาทรัพย์ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 10,000,000 บาท และว่าจำเลยที่ 1มีเมียน้อยและเมียเก็บหลายคนเป็นเหตุให้หนังสือพิมพ์ไทยรัฐได้นำไปตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับลงวันที่ 4 เมษายน 2529(ฉบับแรก) ซึ่งเป็นความเท็จทั้งสิ้น ความจริงโจทก์ไม่เคยไขข่าวหรือให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐดังกล่าวเช่นนั้นเลย ฉะนั้นเมื่อศาลจังหวัดตรังได้ดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องและพิจารณาแล้ว จึงมีคำสั่งให้ยกฟ้องของจำเลยที่ 1 โดยวินิจฉัยว่าเป็นการฟ้องซ้อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1) และมีคำสั่งให้ยกฟ้องของจำเลยที่ 2 โดยวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่นำสืบไม่ปรากฏว่ามีความตอนใดระบุว่าโจทก์คดีนี้เป็นผู้ให้ข่าวกล่าวหาว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกันฆ่านางภาวินีดังปรากฏตามสำเนารายงานกระบวนพิจารณาของศาลจังหวัดตรังในคดีหมายเลขดำที่ 890/2529 และเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2529 จำเลยทั้งสองยังได้ไปยื่นฟ้องโจทก์กับพวกอีก 3 คน ต่อศาลแขวงพระนครเหนือในคดีอาญาหมายเลขดำที่13203/2529 โดยระบุข้อหาและฐานความผิดอย่างเดียวกันกับที่ฟ้องต่อศาลจังหวัดตรัง ซึ่งในที่สุดศาลแขวงพระนครเหนือได้มีคำสั่งให้งดสืบพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องและมีคำสั่งให้ยกฟ้องของจำเลยทั้งสองในคดีนี้เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2529 การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางและต้องเสียค่าจ้างทนายความในการต่อสู้คดีรวมเป็นเงิน 60,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 60,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะมิได้ยื่นฟ้องดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองภายในอายุความ 1 ปี ในมูลหนี้ละเมิดซึ่งจะต้องยื่นฟ้องภายในวันที่ 9 กรกฎาคม 2530 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ส่วนปัญหาข้อกฎหมายต่อไปที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์ฟ้องคดีโดยอาศัยมูลความผิดของจำเลยทั้งสองในทางอาญามิใช่ละเมิด ต้องนับอายุความ 10 ปี นั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องนั้นโจทก์บรรยายว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดซึ่งเป็นสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ส่วนที่โจทก์บรรยายว่าจำเลยทั้งสองได้นำข้อความที่รู้อยู่แล้วว่าเป็นความเท็จไปยื่นฟ้องโจทก์กับพวกเป็นคดีอาญาในข้อหาว่าร่วมกันหมิ่นประมาท ซึ่งฟ้องในคดีอาญาล้วนเป็นความเท็จทั้งสิ้นนั้น ข้อความดังกล่าวเป็นเพียงข้ออ้างที่โจทก์อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเพื่อให้ฟ้องสมบูรณ์ขึ้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสอง เท่านั้น หาได้เป็นสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ไม่ดังนั้น เมื่อคำฟ้องโจทก์เป็นการเรียกค่าเสียหายฐานละเมิด โดยมิได้กล่าวในคำฟ้องว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำผิดในทางอาญาต่อโจทก์ คดีจึงนับอายุความทางอาญาที่ยาวกว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคสอง ไม่ได้คดีโจทก์จึงขาดอายุความในมูลละเมิด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิด และรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 448 วรรคแรก แล้ว”
พิพากษายืน