คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 135/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่1เป็นมารดาของจำเลยที่2ถึงที่5เมื่อวันที่15กรกฎาคม2532โจทก์ได้ไปที่บ้านจำเลยที่1เพื่อขอซื้อที่พิพาททั้ง3แปลงพบจำเลยที่1กับจำเลยที่4เมื่อเจรจากันแล้วโจทก์ได้มอบเงินจำนวน10,000บาทให้จำเลยที่1ไว้และจำเลยที่1ได้ออกใบเสร็จรับเงินให้โจทก์โดยจำเลยที่4ลงลายมือชื่อเป็นผู้รับเงินโดยมีข้อตกลงว่าจะต้องปรึกษาจำเลยอื่นก่อนว่าจะขายที่พิพาทหรือไม่วันรุ่งขึ้นเมื่อจำเลยที่2กลับมาได้ปรึกษาและสอบถามแล้วเห็นว่ายังไม่ควรขายตอนเย็นวันนั้นจึงโทรศัพท์ไปบอกโจทก์โจทก์ว่ามีหุ้นส่วนหลายคนเมื่อพร้อมแล้วจะมารับเงินคืนดังนี้แม้จะฟังข้อเท็จจริงได้ว่าเงินจำนวน10,000บาทที่จำเลยที่1รับไว้จากโจทก์เป็นมัดจำก็เป็นการรับไว้โดยมีเงื่อนไขหรือข้อตกลงว่าจำเลยที่1และที่4จะต้องปรึกษากับจำเลยอื่นก่อนเมื่อปรึกษาแล้วจำเลยที่1ได้แจ้งปฎิเสธการขายให้โจทก์ทราบสัญญาจะซื้อขายที่พิพาทจึงยังไม่เกิดขึ้นจำเลยที่1และที่4จึงไม่มีหน้าที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทให้โจทก์และไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นมารดาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 866 ตำบลชัยนารายณ์ (บัวชุม) จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 559 และ 560 ตำบลลำนารายณ์ บัวชุม ที่ดินทั้งสามแปลงอยู่ที่อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี เนื้อที่9 ไร่ 2 งาน 41 ตารางวา 10 ไร่ 2 งาน 24 ตารางวา และ 6 ไร่2 งาน 68 ตารางวาตามลำดับ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2532จำเลยที่ 1 และที่ 4 ตกลงขายที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวให้โจทก์ในราคา 790,000 บาท และรับมัดจำจากโจทก์ไปแล้วเป็นเงินจำนวน 10,000 บาท หลังจากนั้นโจทก์ติดต่อขอรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 3 แปลง จำเลยทั้งห้าบ่ายเบี่ยงไม่ยอมโอนโจทก์จึงมอบหมายให้ทนายความมีหนังสือนัดจำเลยทั้งห้าไปโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ณ สำนักงานที่ดิน จังหวัดลพบุรี ในวันที่ 17มกราคม 2533 เวลา 9 นาฬิกา แต่จำเลยทั้งห้าไม่ไปตามนัดขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 866 ตำบลชัยนารายณ์(บัวชุม) อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี เนื้อที่ 9 ไร่ 2 งาน41 ตารางวา ที่ดินโฉนดเลขที่ 559 และ 560 ตำบลลำนารายณ์(บัวชุม) อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี เนื้อที่ 10 ไร่ 2 งาน24 ตารางวา และ 6 ไร่ 2 งาน 68 ตารางวา ให้แก่โจทก์ ถ้าจำเลยทั้งห้าขัดขืนให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา และให้จำเลยทั้งห้ารับเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือ 780,000 บาทไปจากโจทก์ ค่าภาษีเงินได้ส่วนบุคคลในการโอนให้จำเลยทั้งห้าเป็นผู้เสีย ส่วนค่าธรรมเนียมในการโอนกรรมสิทธิ์เมื่อไม่ได้ระบุไว้ให้ฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยทั้งห้าเป็นผู้เสียฝ่ายละครึ่งถ้าการโอนที่ดินของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ไม่สามารถกระทำได้ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ชดใช้ราคาที่ดินเป็นเงิน1,550,700 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 17 มกราคม 2533 จนกว่าจะชำระเสร็จ และถ้าการโอนที่ดินของจำเลยที่ 4 ไม่สามารถกระทำได้ไม่ว่าด้วยเหตุใดให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ราคาที่ดินเป็นเงิน 516,900 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 มกราคม 2533จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 1 และที่ 4ยังมิได้ตกลงขายที่ดินพิพาททั้ง 3 แปลงตามฟ้อง เมื่อวันที่15 กรกฎาคม 2532 โจทก์ไปพบและเสนอขอซื้อที่พิพาทจากจำเลยที่ 1 ในราคา 790,000 บาท ที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกตกทอดจากสามีจำเลยที่ 1 และมีชื่อจำเลยทั้งห้าเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมกัน จำเลยที่ 1 จึงแจ้งโจทก์ว่ายังไม่สามารถตอบรับคำเสนอได้เพราะจะต้องปรึกษากันในระหว่างจำเลยทั้งห้าเสียก่อน โดยขณะนั้นจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ไม่อยู่บ้านโจทก์ยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวแต่ขอร้องให้จำเลยที่ 1 รับเงิน10,000 บาท ไว้เพื่อเป็นหลักประกันว่าหากจำเลยทั้งห้าตกลงขายโจทก์จะไปทำสัญญาซื้อขายในภายหลัง ถ้าหากไม่ขายโจทก์จะขอรับเงินดังกล่าวคืนไป จำเลยที่ 1 ไม่ยอมรับเงิน โจทก์จึงขอให้จำเลยที่ 4 รับไว้แทน และขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 4ออกใบเสร็จรับเงินเพื่อใช้เป็นหลักฐานในกรณีที่โจทก์ต้องรับเงินคืน จำเลยที่ 4 จึงออกใบเสร็จรับเงินให้โจทก์ไปต่อมาในวันเดียวกันจำเลยทั้งห้าปรึกษากันแล้วเห็นว่าไม่ขายจำเลยที่ 1 จึงโทรศัพท์แจ้งให้โจทก์ทราบ ซึ่งโจทก์บอกว่าจะไปขอรับเงินคืนในภายหลัง สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1ยังไม่เกิดขึ้น จำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่ต้องโอนที่พิพาทลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ในใบเสร็จรับเงินเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 เป็นลายมือชื่อปลอมขณะจำเลยที่ 4 ลงลายมือชื่อรับเงินเป็นหลักฐานให้โจทก์มีอายุเพียง 19 ปีเศษ ยังไม่บรรลุนิติภาวะ นิติกรรมที่จำเลยที่ 1 ทำไว้เป็นโมฆียะ ต่อมาจำเลยที่ 4 บรรลุนิติภาวะและบอกล้างโมฆียกรรมดังกล่าวแล้วโจทก์มิได้เสียหาย จำเลยที่ 1 และที่ 4 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ไม่เคยมีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์ หรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 มิได้ก่อความเสียหายแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นมารดาของจำเลยที่ 2ถึงที่ 5 เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2532 โจทก์ได้ไปที่บ้านจำเลยที่ 1 เพื่อขอซื้อที่พิพาททั้ง 3 แปลง พบจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 เมื่อเจรจากันแล้วโจทก์ได้มอบเงินจำนวน 10,000บาท ให้จำเลยที่ 1 ไว้ และจำเลยที่ 1 ได้ออกใบเสร็จรับเงินให้โจทก์ โดยจำเลยที่ 4 ลงลายมือชื่อเป็นผู้รับเงิน โดยมีข้อตกลงว่าจะต้องปรึกษาจำเลยอื่นก่อนว่าจะขายที่พิพาทหรือไม่ซึ่งในข้อนี้ปรากฎตามคำเบิกความของวันรุ่งขึ้นเมื่อจำเลยที่ 2กลับมา ได้ปรึกษาและสอบถามแล้ว เห็นว่ายังไม่ควรขาย ตอนเย็นวันนั้นจึงโทรศัพท์ไปบอกโจทก์ โจทก์ว่ามีหุ้นส่วนหลายคนเมื่อพร้อมแล้วจะมารับเงินคืน ดังนี้ แม้จะฟังข้อเท็จจริงได้ว่าเงินจำนวน 10,000 บาท ที่จำเลยที่ 1 รับไว้จากโจทก์เป็นมัดจำก็เป็นการรับไว้โดยมีเงื่อนไขหรือข้อตกลงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 4 จะต้องปรึกษากับจำเลยอื่นก่อน เมื่อปรึกษาแล้วจำเลยที่ 1 ได้แจ้งปฎิเสธการขายให้โจทก์ทราบสัญญาจะซื้อขายที่พิพาทจึงยังไม่เกิดขึ้น จำเลยที่ 1 และที่ 4จึงไม่มีหน้าที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทให้โจทก์และไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 3และที่ 5 ตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฎว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการเจรจาซื้อขายที่พิพาทด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 4ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์แล้ว จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 จึงไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นเดียวกัน
พิพากษายืน

Share