คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8083/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องข้อ1(ก)ว่าจำเลยได้บังอาจมีแอมเฟตามีนจำนวน1เม็ดน้ำหนัก0.14กรัมอันเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ในประเภท2ไว้ในครอบครองเพื่อขายและข้อ1(ข)ว่าจำเลยได้บังอาจขายแอมเฟตามีนจำนวน2เม็ดน้ำหนัก0.14กรัมอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท2อันเป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองดังกล่าวในฟ้องข้อ1(ก)ให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อเช่นนี้ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าโจทก์ยืนยันว่าจำเลยได้ขายแอมเฟตามีนตามที่จำเลยมีไว้ในครอบครองตามข้อ1(ก)นั่นเองที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำนวน2เม็ดและเป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนนั้นเห็นได้ว่าโจทก์พิมพ์ผิดไปฟ้องโจทก์จึงบรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำและสิ่งของที่เกี่ยวข้องพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้วเป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา158(5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 5, 6, 13 ทวิ,62, 89, 106, 116 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 คืนธนบัตรของกลางที่ใช้ล่อซื้อแก่เจ้าของด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 13 ทวิวรรคหนึ่ง, 89 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียว จำคุก 5 ปีคืนธนบัตรของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า การที่โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 1(ก) ว่า จำเลยมีแอมเฟตามีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท2 ข้อ 3(7) ไว้ในครอบครองเพื่อขาย แต่บรรยายฟ้องในข้อ 1(ข)ว่าจำเลยขายแอมเฟตามีนซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 อันเป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองดังกล่าวในฟ้องข้อ 1 (ก) นั้น นอกจากจะเป็นการบรรยายฟ้องที่ขัดแย้งกันอยู่ในตัวแล้ว ยังถือว่าโจทก์มิได้บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับข้อหาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งของพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจได้ดีจึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(5) ซึ่งปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยกขึ้นอ้างได้ แม้ว่าจำเลยจะไม่อุทธรณ์ก็ตาม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 195 วรรคสอง ไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยต่อไปพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง คืนธนบัตรของกลางแก่เจ้าของ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฎีกาข้อแรกว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ สิ่งของที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อขายตามฟ้องข้อ 1(ก)เป็นแอมเฟตามีน สิ่งของที่จำเลยได้ขายให้แก่สายลับตามคำฟ้องโจทก์ข้อ 1(ข) จึงต้องเป็นแอมเฟตามีนเช่นเดียวกันและเป็นปริมาณเดียวกัน ที่คำฟ้องโจทก์ข้อ 1(ข) ระบุว่า แอมเฟตามีนที่จำเลยขายเป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองตามฟ้องข้อ 1(ก) เป็นการฟ้องผิดพลาดเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่ขัดแย้งกัน จำเลยไม่หลงต่อสู้ ทั้งแอมเฟตามีนและแอมเฟตามีนก็เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ตามประเภทกระทรวงสาธารณสุขฉบับเดียวกันอยู่ในข้อ 3 เหมือนกัน ปรากฏว่าโจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1(ก) ว่าจำเลยได้บังอาจมีแอมเฟตามีนจำนวน 1 เม็ด น้ำหนัก0.14 กรัม อันเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อขาย และข้อ 1(ข) โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้บังอาจขายแอมเฟตามีนจำนวน 2 เม็ด น้ำหนัก 0.14 กรัม อันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 อันเป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองดังกล่าวในฟ้องข้อ 1(ก) ให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อเห็นได้ว่าโจทก์ยืนยันว่าจำเลยได้ขายแอมเฟตามีนตามที่จำเลยมีไว้ในครอบครองตามข้อ 1 (ก) นั่นเอง ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำนวน 2 เม็ด และเป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนนั้นเห็นได้ว่าโจทก์พิมพ์ผิดไปดังที่โจทก์ฎีกา ฟ้องโจทก์จึงบรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำและสิ่งของที่เกี่ยวข้องพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้วเป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) และเนื่องจากคดีนี้จำเลยอุทธรณ์ว่า พยานโจทก์ไม่พอฟังลงโทษจำเลยและศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยหนักเกินไป แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าว กรณีมีเหตุสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยในปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยเสียก่อนเพื่อให้เป็นไปตามลำดับชั้นศาล
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share