คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7797/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยรับราชการในตำแหน่งสาธารณสุขอำเภอเมืองยโสธรเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายมีหน้าที่รักษาเงินตามหน้าที่เมื่อจำเลยถอนเงินดังกล่าวมาแล้วเบียดบังเอาเป็นของจำเลยเสียโดยทุจริตแม้จะเป็นเงินของสถานีอนามัยอำเภอเมืองยโสธรไม่ใช่เงินของสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองยโสธรที่จำเลยเป็นเจ้าพนักงานอยู่และเป็นเงินบำรุงนอกงบประมาณจำเลยก็มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา147

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเคยรับราชการในตำแหน่งสาธารณสุขอำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร มีฐานะเป็นหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายมีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการขอกำหนดงบประมาณประจำปี การเงินการบัญชี และควบคุมการเบิกจ่ายเงินสำหรับสาธารณสุขอำเภอเมืองยโสธรให้เป็นไปตามระเบียบแบบแผน ควบคุมการรับจ่ายเงิน การเบิกจ่ายและอนุมัติให้จ่ายเงินบำรุงของสถานบริการสาธารณสุข (สถานีอนามัย)สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองยโสธรและมีหน้าที่ทำเอกสารรับรองเอกสารในขณะที่จำเลยดำรงตำแหน่งเป็นสาธารณสุขอำเภอเมืองยโสธรจำเลยได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2527 เวลากลางวัน จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานและมีหน้าที่ดังกล่าวข้างต้นได้เบิกเงินนอกงบประมาณประเภทเงินบำรุงของสถานบริการสาธารณสุขจำนวน 9,000 บาทของสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองยโสธรจากธนาคารกรุงไทย จำกัดสาขายโสธร แล้วเบียดบังเอาเงินจำนวนดังกล่าวไปเป็นของตนหรือของผู้อื่นโดยทุจริต เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2527 เวลากลางวันจำเลยได้บังอาจสั่งการให้นายพิพัฒน์ จิตตะยโสธร (ที่ถูกนายนิพัฒน์ จิตตะยโศธร) ผู้ช่วยสาธารณสุขอำเภอเมืองยโสธรซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยให้ทำเอกสารบันทึกข้อความเรื่องขออนุมัติยืมเงินบำรุงของสถานบริการสาธารณสุขเพื่อจัดซื้อวัสดุงาน จปฐ. จำนวน 3 รายการ คือ กระดาษโรเนียว 158 รีมรีมละ 50 บาท กระดาษไข 50 แผ่น แผ่นละ 4 บาท และหมึกโรเนียว15 หลอด หลอดละ 60 บาท และสัญญายืมเงินจากสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองยโสธรเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในราชการตำรวจ จปฐ. จำนวน58 หมู่บ้าน เป็นเงินทั้งสิ้น 9,000 บาท แล้วจำเลยลงลายมือชื่ออนุมัติให้ยืมเงินดังกล่าว ลงวันที่ย้อนหลังเป็นวันที่ 22กุมภาพันธ์ 2527 อันเป็นความเท็จ ซึ่งความจริงในวันที่ 22กุมภาพันธ์ 2527 สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองยโสธรไม่ได้จัดซื้อวัสดุงาน จปฐ. ดังกล่าว เมื่อระหว่างวันที่ 17 เมษายน 2527เวลากลางวัน ถึงวันที่ 18 เมษายน 2527 เวลากลางวัน จำเลยได้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริต โดยขอให้นายประวิทย์ทองวิทยาพร หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดพรวิทยายโสธรออกใบเสร็จรับเงิน เล่มที่ 14 เลขที่ 0700 ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์2527 เป็นค่าซื้อกระดาษโรเนียว กระดาษไขและหมึกโรเนียว รวมราคา9,000 บาท แล้วมอบให้แก่จำเลยเพื่อนำไปใช้เป็นพยานหลักฐานยืนยันว่าจำเลยได้ซื้อสินค้าดังกล่าวจากห้างหุ้นส่วนจำกัดพรวิทยายโสธรเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2527 อันเป็นความเท็จ ซึ่งความจริงแล้วระหว่างวันเวลาดังกล่าวข้างต้น สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองยโสธร โดยจำเลยในฐานะหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอไม่ได้ซื้อสินค้าและมิได้จ่ายเงินตามใบเสร็จรับเงินดังกล่าวนั้นให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดพรวิทยายโสธรแต่อย่างใด อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและทุจริตเพื่อให้จำเลยได้เงินจำนวน 9,000บาท ที่จำเลยยักยอกไปดังกล่าว เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองยโสธร กระทรวงสาธารณสุข ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 151, 162, 91 ให้จำเลยคืนเงิน 4,300 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่เจ้าของ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147, 162(1) ให้ลงโทษจำเลยฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 5 ปี ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยคืนเงินจำนวน 4,300 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่เจ้าของนั้นได้ความจากนายพิพัฒน์ จิตตะยโสธร ว่า เมื่อปี 2528 จำเลยได้นำเงินจำนวนดังกล่าวมาคืนแก่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองยโสธรแล้ว จึงยกคำขอในส่วนนี้เสีย
โจทก์ และ จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 กระทงหนึ่ง และมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162(1) อีกกระทงหนึ่ง เรียงกระทงลงโทษจำเลยตามมาตรา 91 ความผิดกระทงแรกจำคุก 5 ปี ความผิดกระทงหลังจำคุก 1 ปี รวมจำคุกจำเลยมีกำหนด 6 ปี ให้ยกฟ้องข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า เงินตามที่โจทก์ฟ้องเป็นเงินที่สถานีอนามัยอำเภอเมืองยโสธรได้มาจากค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นและจากการบริจาค ซึ่งสถานีอนามัยอำเภอเมืองยโสธรเป็นเจ้าของผู้ครอบครองเก็บรักษาเงินจำนวนนี้ไว้โดยนำไปฝากไว้กับธนาคารและครอบครองสมุดฝากเงินไว้เอง จำเลยมีหน้าที่เพียงอนุมัติให้เบิกจ่ายหรืออนุมัติให้ยืมเท่านั้นไม่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินดังกล่าว การที่จำเลยให้นายพิพัฒน์หัวหน้าสถานีอนามัยอำเภอเมืองยโสธรยืมเงินดังกล่าว ซึ่งเป็นเงินบำรุงนอกงบประมาณ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 เห็นว่าการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดตามมาตราดังกล่าวหรือไม่ ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมาแล้วจากหลักฐานในสำนวน พิเคราะห์แล้วศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงว่า เงินตามที่โจทก์ฟ้องเป็นเงินที่ฝากไว้ในนามของสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองยโสธรซึ่งจำเลยมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบและมีอำนาจลงนามถอนเงินดังกล่าวจากบัญชีได้ จำเลยได้ถอนเงินดังกล่าวมาแล้วเบียดบังเป็นของจำเลยโดยทุจริต เห็นว่า จากข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังมาดังกล่าวจำเลยซึ่งรับราชการในตำแหน่งสาธารณสุขอำเภอเมืองยโสธรเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย มีหน้าที่รักษาเงินตามที่โจทก์ฟ้องเมื่อจำเลยถอนเงินดังกล่าวมาแล้วเบียดบังเอาเป็นของจำเลยเสียโดยทุจริต ดังนี้ แม้เงินดังกล่าวจะเป็นเงินของสถานีอนามัยอำเภอเมืองยโสธรไม่ใช่เงินของสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองยโสธรที่จำเลยเป็นเจ้าพนักงานอยู่ และเงินดังกล่าวเป็นเงินบำรุงนอกงบประมาณดังที่จำเลยฎีกาก็ตาม การกระทำของจำเลยเข้าลักษณะเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รักษาทรัพย์แล้วเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนโดยทุจริต มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147ดังที่โจทก์ฟ้อง”
พิพากษายืน

Share