แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องจำเลยที่2ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีเพราะเหตุที่จำเลยที่2ดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายในเรื่องการบังคับคดีและมีคำขอให้มีการเพิกถอนการบังคับคดีในการขายทอดตลาดทรัพย์ครั้งที่11โดยมิได้เรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่2ในกรณีเช่นนี้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา296วรรคสองได้บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะแล้วว่าให้ผู้มีส่วนได้เสียยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลงโจทก์จึงต้องดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าวจะฟ้องขอให้เพิกถอนการบังคับคดีเป็นคดีใหม่มิได้ โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งห้าขอให้เพิกถอนการบังคับคดีในการขายทอดตลาดทรัพย์คำฟ้องของโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่1ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีเดิมและจำเลยที่3ถึงที่5ซึ่งเป็นผู้ซื้อและผู้ขายทรัพย์จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยมิได้เรียกค่าเสียหายมาด้วยก็เป็นคำฟ้องที่เกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งห้า
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เดิมจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ให้ชำระหนี้เงินกู้และบังคับจำนอง ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้โจทก์ชำระเงิน 7,782,465.61 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ20 ต่อปีของต้นเงิน 7,000,000 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2526จำเลยที่ 1 ขอหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพร้อมบ้านพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์ของโจทก์ที่จำนองไว้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อขายทอดตลาด ได้มีการขายทอดตลาดจนถึงวันที่ 15 มกราคม 2528 ซึ่งเป็นการขายทอดตลาดครั้งที่ 10 มีผู้เสนอราคาสูงสุด 7,200,000 บาทโจทก์คัดค้านว่าราคาต่ำไป แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้อนุมัติให้ขายแก่ผู้ให้ราคาสูงสุด โจทก์ร้องคัดค้านต่อศาลชั้นต้นศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ยังมิได้ยกเลิกการขายครั้งที่ 10 หรือให้ประกาศขายใหม่ จำเลยที่ 1 ได้สมคบกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดครั้งที่ 11 อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบแบบแผนของกรมบังคับคดีโดยจำเลยที่ 2 สมคบกับผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 3 เป็นผู้ซื้อรายใหม่และเสนอราคาสูงสุดเป็นเงิน 6,100,000 บาทจึงเป็นการขายทอดตลาดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แล้วจำเลยที่ 3ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านพิพาทที่ซื้อมาให้แก่จำเลยที่ 4และที่ 5 โดยจำเลยที่ 4 และที่ 5 รู้ดีว่า โจทก์อุทธรณ์คำสั่งการขายทอดตลาดอยู่ อันเป็นการหลีกเลี่ยงมิให้ถูกยกเลิกการขายเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต ขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่ซื้อขายและการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 76233 และ 76234แขวงคันนายาว เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พร้อมบ้านพิพาทระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 และที่ 5 ให้ยกเลิกการขายทอดตลาดครั้งที่ 11 เสีย และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ดำเนินการขายทอดตลาดใหม่
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 2ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบและสุจริตแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 3ไม่ได้สมคบกับจำเลยที่ 2 กระทำโดยมิชอบ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ได้ทรัพย์สินพิพาทมาโดยสุจิตและเสียค่าตอบแทน โจทก์ฟ้องเพื่อประวิงคดี ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ขอเลื่อนคดีด้วยเหตุป่วย 2 ครั้ง ศาลชั้นต้นอนุญาตและเลื่อนไปสืบพยานโจทก์วันที่6 พฤษภาคม 2536 โดยกำชับไม่ให้โจทก์เลื่อนคดีอีก ถึงวันนัดโจทก์ขอเลื่อนคดีอ้างว่าทนายโจทก์ถอนตัวกะทันหัน ไม่สามารถหาทนายความคนใหม่ได้ทัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์เลื่อนคดี หากโจทก์ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไปให้โจทก์อ้างตนเองเป็นพยานโจทก์ไม่ยอมเบิกความ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์ไม่ติดใจสืบพยานทนายจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 แถลงไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลชั้นต้น พิจารณา แล้ว พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์ คำสั่ง และ คำพิพากษา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งและคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานโจทก์จำเลยจะสิ้นกระแสความแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลย ที่ 2 ถึงที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยเป็นประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีเพราะเหตุที่จำเลยที่ 2 ดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายในเรื่องการบังคับคดี และมีคำขอให้มีการเพิกถอนการบังคับคดีในการขายทอดตลาดทรัพย์ครั้งที่ 11โดยมิได้เรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 ในกรณีเช่นนี้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง ได้บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะแล้วว่าให้ผู้มีส่วนได้เสียยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง โจทก์จึงต้องดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าว จะฟ้องขอให้เพิกถอนการบังคับคดีเป็นคดีใหม่มิได้ ส่วนคำฟ้องของโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีเดิมและจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ซึ่งเป็นผู้ซื้อและผู้ขายทรัพย์จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยมิได้เรียกค่าเสียหายมาด้วย ก็เป็นคำฟ้องที่เกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งห้า เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว คดีไม่ต้องวินิจฉัยปัญหาว่าโจทก์ประวิงคดีหรือไม่ตามฎีกาของจำเลยที่ 2ถึงที่ 5 อีกต่อไป คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษากลับ ให้ยก ฟ้อง