คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3608/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หลังจดทะเบียนสมรสแล้ว จำเลยเป็นฝ่ายก่อเหตุให้เกิดความระหองระแหงในครอบครัว ด้วยการไปรับบุตรสาวซึ่งเกิดจากภริยาเก่ามามาเลี้ยงดูอยู่ในบ้านเดียวกัน อันเป็นการผิดถ้อยคำพูดที่จำเลยเคยให้ไว้แก่โจทก์ว่าจำเลยไม่เคยมีภริยาและบุตรมาก่อน แล้วหลังจากนั้นจำเลยก็ไม่จ่ายเงินเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์และครอบครัวเช่นที่เคยปฏิบัติมา เป็นเหตุให้โจทก์ต้องนำเงินเดือนแต่ละเดือนของโจทก์มาใช้จ่ายเลี้ยงดูครอบครัวจำเลยเกือบหมด ทั้งจำเลยยังติดต่อกับภริยาเก่าและแสดงกิริยาวาจาเหยียดหยามมารดาของโจทก์จนกระทั่งโจทก์ไม่สามารถอยู่ร่วมกับจำเลยต่อไปได้ เช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูโจทก์ตามสมควรอันประกอบด้วยเหตุอื่น ๆ อีกถึงขนาดที่โจทก์เดือดร้อนเกินสมควรที่โจทก์จะอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยากับจำเลยต่อไปได้ อันเป็นเหตุฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (6)
การหย่าโดยคำพิพากษานั้น พระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.2478 มาตรา 16 บัญญัติให้ผู้มีส่วนได้เสียยื่นสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดที่รับรองถูกต้องต่อนายทะเบียน และขอให้นายทะเบียนบันทึกการหย่านั้นไว้ในทะเบียน โดยคู่สมรสไม่จำต้องไปแสดงเจตนาขอจดทะเบียนการหย่าต่อนายทะเบียนอีก ศาลจึงไม่ต้องสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา

ย่อยาว

มูลกรณีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน ถ้าจำเลยไม่ไปจดทะเบียนการหย่าก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาในการจดทะเบียนหย่า ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเป็นอันรับฟังได้ตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ว่า โจทก์และจำเลยได้จดทะเบียนสมรถอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาเมื่อวันที่ ๒๘ มกราคา ๒๕๒๔ ที่บ้านเลขที่ ๑๕๘๓/๑๖ ซอยเกษมสุวรรณ แขวงบางลำภูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร โดยมีคนในครอบครัว ๖ คน คือโจทก์ จำเลย มารดาและพี่สาวจำเลย กับหลานจำเลยอีก ๒ คน ระหว่างนั้นจำเลยได้จ่ายเงินให้แก่โจทก์เดือนละ ๑,๕๐๐ บาท เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับเลี้ยงดูโจทก์และครอบครัว ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๖ จำเลยได้นำบุตรสาวของจำเลยอายุประมาณ ๕ ปี มาเลี้ยงดูที่บ้านเลขที่ ๑๕๘๓/๑๖ ด้วย ทั้ง ๆ ที่เคยสัญญาแก่โจทก์ว่าจำเลยไม่เคยมีภริยาและบุตรมาก่อน หลังจากนั้นก็เกิดระหองระแหงระหว่างโจทก์กับจำเลยเรื่อยมา และจำเลยไม่ตจ่ายเงินที่เคยจ่ายเดือนละ ๑,๕๐๐ บาทแก่โจทก์อีกเลย เป็นเหตุให้โจทก์ต้องนำเงินเดือนของโจทก์เดือนละ ๔,๔๐๐ บาท มาใช้จ่ายเลี้ยงดูครอบครัวของจำเลยเกือบหมด จำเลยยังติดต่อกับภริยาเก่าของจำเลยและได้แสดงกิริยาและวาจาเหยียดหยามมารดาของโจทก์ มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่าเหตุดังกล่าวเพียงพอที่จะถือเป็นเหตุหย่าได้หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า หลังจากโจทก์และจำเลยจดทะเบียนสมรสและอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาแล้ว จำเลยเป็นฝ่ายก่อเหตุให้เกิดความระหองระแหงในครอบครัวด้วยการไปรับบุตรสาวซึ่งเกิดจากภริยาเดิมมาเลี้ยวดูอยู่ในบ้านเดียวกันอันเป็นการผิดถ้อยคำพูดที่จำเลยเคยให้ไว้แก่โจทก์ว่าจำเลยไม่เคยมีภริยาและบุตรมาก่อน แล้วหลังจากนั้นจำเลยก็ไม่จ่ายเงินเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์และครอบครัวเช่นที่เคยปฏิบัติมา เป็นเหตุให้โจทก์ต้องนำเงินเดือนแต่ละเดือนของโจทก์มาใช้จ่ายเลี้ยงดูครอบครัวจำเลยเกือบหมด ทั้งปรากฏว่าจำเลยยังติดต่อกับภริยาเก่าและแสดงกิริยาวาจาเหยียดหยามมารดาของโจทก์จนกระทั่งโจทก์ไม่สามารถอยู่ร่วมกับจำเลยต่อไปได้เช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูโจทก์ตามสมควรอันประกอบด้วยเหตุอื่น ๆ อีกถึงขนาดที่โจทก์เดือดร้อนเกินสมควรที่โจทก์จะอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยากับจำเลยต่อไปได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๑๖(๖) ศาลชอบที่จะพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่ที่โจทก์ขอให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่าถ้าไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยนั้น เห็นว่าการหย่าโดยคำพิพากษา คู่สมรสไม่จำต้องไปแสดงเจตนาขอจดทะเบียนการหย่าต่อนายทะเบียนอีกทั้งตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.๒๔๗๘ มาตรา ๑๖ ก็บัญญัติให้ผู้มีส่วนได้เสียเพียงแต่ยื่นสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดที่รับรองถูกต้องแล้วต่อนายทะเบียนและขอให้นายทะเบียนบันทึกการหย่านั้นไว้ในทะเบียนเท่านั้น จึงไม่จำต้องสั่งคำขอนี้ขอโจทก์
พิพากษากลับ ให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน คำขออื่นให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share