คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3588/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยชั่วคราวมีผลเพียงทำให้จำเลยไม่สามารถดำเนินกิจการได้ด้วยตนเองต้องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้ดำเนินกิจการแทนหามีผลทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับลูกจ้างต้องสิ้นสุดหรือระงับไปด้วยไม่โจทก์ยังมีฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลยนั่นเอง การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปฏิเสธไม่ยอมจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์โดยเกี่ยงให้ไปขอรับชำระหนี้ตามพ.ร.บ.ล้มละลายฯก็เป็นเพียงแจ้งให้โจทก์ไปขอรับชำระหนี้ตามกฎหมายเท่านั้นถือไม่ได้ว่าจำเลยโดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้เลิกจ้างโจทก์แล้ว ค่าจ้างของโจทก์ซึ่งถึงกำหนดหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยชั่วคราวไม่ใช่หนี้ที่จะต้องยื่นขอรับชำระหนี้ตามมาตรา94แห่งพ.ร.บ.ล้มละลายฯและไม่ต้องยื่นคำร้องต่อศาลก่อนตามมาตรา146เมื่อจำเลยปฏิเสธไม่จ่ายค่าจ้างโจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกร้องเอาจากจำเลยได้ทันที.

ย่อยาว

ข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า โจทก์ทั้งสิบหกเป็นลูกจ้างของจำเลยครั้นวันที่ 21 ธันวาคม 2527 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจเงินทุนและทุนกิจหลักทรัพย์ที่ออกให้แก่จำเลยและให้ยกเลิกบริษัทจำเลยแล้วแต่งตั้งผู้ชำระบัญชีขึ้น ต่มาวันที่ 15 มกราคม 2529 ศาลแพ่งได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยชั่วคราว ตามคดีล้มละลายของศาลแพ่งหมายเลขดำที่ล.22/2529 ระหว่าง นางวนิดา เตชะรัตนไชย โดยนายกรีธาเตชะรัตนไชย ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เฟิสท์ทรัสต์ จำกัด จำเลย ครั้นต่อมาวันที่ 30 มกราคม 2529 ผู้ชำระบัญชีของจำเลยได้มีหนังสือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อขออนุมัติค่าใช้จ่ายประจำเดือนมกราคม 2529 ของจำเลยตลอดทั้งเงินเดือนของพนักงานทุกคนรวมทั้งโจทก์ทั้งสิบหกด้วย ต่อมาวันที่ 4 กุมภาพันธ์2529 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีคำสั่งว่า ผู้มีสิทธิเรียกร้องเงินค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามที่ผู้ชำระบัญชีขอมาถือว่าเป็นหนี้ของจำเลย เมื่อประสงค์จะได้รับชำระหนี้ก็จะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 เช่นเดียวกับเจ้าหนี้รายอื่นเพื่อจะได้มีการเฉลี่ยหนี้สินมิให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกับระหว่างเจ้าหนี้ การที่ผู้ชำระบัญชีขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อนุมัติการจ่ายเงินดังกล่าว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่มีอำนาจที่จะจ่ายให้ได้ เมื่อผู้ชำระบัญชีได้ทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้วได้แจ้งคำสั่งให้โจทก์ทั้งสิบหกทราบในวันเดียวกัน โจทก์ทั้งสิบหกถือว่าคำปฏิเสธของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นการเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบหกตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2529แล้ว จึงได้ฟ้องเรียกค่าจ้างค้างจ่าย ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลย
ศาลแรงงานพิพากษา ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างที่ค้าง (ค่าจ้างค้างจ่ายเดือนมกราคม 2529) ค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งสิบหก ตามบัญชีรายละเอียดท้ายฟ้องเอกสารหมายเลข 2พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงินต้นดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้ ให้การชำระหนี้ตามคำพิพากษาอยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483
โจทก์ทั้งสิบหกและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “…การที่ศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยชั่วคราวนั้น มีผลเพียงทำให้จำเลยไม่สามารถดำเนินกิจการได้ด้วยตนเองต้องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้ดำเนินกิจการแทน หามีผลทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยผู้เป็นนายจ้างกับโจทก์ทั้งสิบหกเป็นลูกจ้างต้องสิ้นสุดหรือระงับไปด้วยไม่ ฉะนั้นแม้ศาลแพ่งจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยชั่วคราวโจทก์ทั้งสิบหกก็ยังมีฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลยอยู่นั่นเอง การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิดำเนินกิจการแทนจำเลยปฏิเสธไม่ยอมจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งสิบหกโดยเกี่ยงให้ไปขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 นั้นก็เป็นเพียงแจ้งให้โจทก์ทั้งสิบหกไปขอรับชำระหนี้ตามกฎหมายเท่านั้น หาใช่เป็นการปฏิเสธว่าจะเลิกจ้างหรือไม่ ประสงค์จะให้โจทก์ทั้งสิบหกทำงานต่อไปไม่ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยโดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบหกแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้โจทก์ทั้งสิบหกจึงยังไม่มีสิทธิฟ้องเรียกร้องค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลยได้ ส่วนค่าจ้างค้างจ่ายประจำเดือนมกราคม 2529ของโจทก์ทั้งสิบหกซึ่งถึงกำหนดจ่ายในวันสิ้นเดือนมกราคม 2529ถือว่าเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นหลังจากศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยชั่วคราว จึงไม่ใช่หนี้ที่จะต้องยื่นขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 94 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 และไม่ต้องยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งก่อนตามมาตรา 146 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกันเมื่อจำเลยปฏิเสธไม่จ่ายจ่าจ้างค้างจ่ายดังกล่าว โจทก์ทั้งสิบหกย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกร้องเอามาจากจำเลยได้ทันที คดีไม่จำต้องวินิจฉัยข้ออุทธรณ์ของโจทก์และอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยอีกต่อไป
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทั้งสิบหก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง”.

Share