คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3347/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ปัญหาว่าโจทก์ผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้จำเลยที่1ทำให้ผู้ค้ำประกันจำเลยที่3หลุดพ้นจากความรับผิดชอบตามป.พ.พ.มาตรา700แม้สัญญาค้ำประกันจะมีข้อความให้ถือว่าจำเลยที่3รู้เห็นยินยอมด้วยในการผ่อนเวลาก็เป็นข้อสำคัญที่พิมพ์ไว้ล่วงหน้าไม่ได้เป็นเจตนาอันแท้จริงของคู่กรณีจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา113และมาตรา368นั้นจำเลยที่3มิได้ให้การต่อสู้ไว้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นมาว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย หนังสือสัญญาค้ำประกันมีข้อความว่าผู้ค้ำประกันตกลงยินยอมชำระหนี้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยรวมทั้งอุปกรณ์แห่งหนี้ทั้งสิ้นตามสินเชื่อดังกล่าวข้างต้นให้แก่ธนาคารเป็นจำนวนเงินไม่เกิน100,000บาทโดยรับผิดเป็นลูกหนี้ร่วมเป็นการค้ำประกันอย่างจำกัดจำนวนโดยเมื่อรวมต้นเงินดอกเบี้ยและอุปกรณ์แห่งหนี้เข้าด้วยกันแล้วผู้ค้ำประกันจะรับผิดไม่เกิน100,000บาทข้อความที่ว่ายอมรับผิดเป็นลูกหนี้ร่วมหมายถึงในจำนวนเงิน100,000บาทจะรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหาใช่ขยายจำนวนเงินที่จะรับผิดออกไปจากข้อความตอนต้นไม่อย่างไรก็ดีหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้เงินจำเลยที่3ต้องชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีระหว่างผิดนัดตามป.พ.พ.มาตรา224วรรคหนึ่งเมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ทวงถามจำเลยที่3เมื่อใดจำเลยที่3จึงต้องเสียดอกเบี้ยในกรณีผิดนัดแก่โจทก์นับแต่วันฟ้อง.

ย่อยาว

เดิมโจทก์ฟ้องเรียกหนี้เบิกเงินเกินบัญชีที่จำเลยที่ 1เป็นลูกหนี้และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำนวนหนึ่งด้วย แต่ระหว่างพิจารณาโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 และแก้ไขคำฟ้องลดจำนวนทุนทรัพย์ลง ศาลชั้นต้นอนุญาต จึงคงเหลือคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 3
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 และ 18 พฤศจิกายน2524 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เคยค้ากับโจทก์ได้นำเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำ่กัด สาขานครปฐม รวม 2 ฉบับ จำนวนเงิน 100,000 บาทไปขายเพื่อแลกเงินสดจากโจทก์ มีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ครั้นถึงกำหนด ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จึงขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน100,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปีตามสัญญาเป็นเงิน2,805.74 บาท รวมเป็นเงิน 102,805.74 บาทแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 3 ไม่ได้ค้ำประกันหนี้จำเลยที่ 1 ตามสัญญาขายลดเช็ค ถ้าค้ำประกันจะต้องระบุไว้ในสัญญาโดยชัดแจ้งและโจทก์จะต้องให้จำเลยที่ 3 ยินยอมด้วย หนี้ที่จำเลยที่ 3 เข้าค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ได้ชำระเสร็จสิ้นไปแล้วหากจำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดก็จำกัดไม่เกินวงเงิน 100,000 บาท ตามสัญญาและโจทก์จะคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 3 ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีไม่ได้เพราะไม่ได้ระบุไว้ในสัญญาโดยชัดแจ้ง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 100,000 บาทแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยจากต้นเงิน70,000 บาท (ตามเช็คฉบับแรก) อัตราร้อยละ 19 ต่อปีนับแต่วันที่ 29ธันวาคม 2524 (วันที่เช็คฉบับแรกถูกปฏิเสธการจ่ายเงิน) จนถึงวันที่ 3 มรกาคม 2525 และดอกเบี้ยอัตราเดียวกันจากเงินต้น 100,000บาท นับจากวันที่ 4 มกราคม 2525 (วันที่เช็คฉบับที่ 2 ถูกปฏิเสธการจ่ายเงิน) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2522จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันไว้ต่อธนาคารโจทก์สาขานครปฐมว่าในการที่ธนาคารโจทก์ได้ปล่อยสินเชื่อให้แก่จำเลยที่ 1 ไปหากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาหรือเงื่อนไขแห่งสินเชื่อ จำเลยที่ 3ตกลงชำระหนี้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยรวมทั้งอุปกรณ์แห่งหนี้ทั้งสิ้นให้แก่โจทก์เป็นจำนวนเงินไม่เกิน 100,000 บาท โดยรับผิดเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ต่อมาวันที่ 10 และ 18 พฤศจิกายน 2524จำเลยที่ 1 ได้นำเช็คจำนวนเงิน 70,000 บาท และ 30,000 บาทตามลำดับ ไปขายแลกเงินสดจากธนาคารโจทก์สาขานครปฐม โดยตกลงว่าหากผิดนัดจำเลยที่ 1 ยอมชดใช้เงินตามเช็คพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ครั้นเช็คถึงกำหนดโจทก์เรียกเก็บเงินไม่ได้เพราะธนาคารผู้จ่ายปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2524 และ4 มกราคม 2525 ตามลำดับ จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ชำระหนี้ขายลดเช็คนี้แล้วศาลฎีกาวินิจฉัยในข้อกฎหมายดังนี้
“จำเลยที่ 3 ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันไว้เมื่อ พ.ศ. 2522แต่สัญญาดังกล่าว ไม่ได้มีระยะเวลาจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 3ไว้ ทั้งไม่ปรากฎว่าจำเลยที่ 3 แสดงความประสงค์ต่อโจทก์ขอเลิกการค้ำประกันเพื่อหนี้อันจำเลยที่ 1 จะก่อขึ้นในอนาคตแต่อย่างใดสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 3 ทำไว้ยังมีผล เมื่อจำเลยที่ 1นำเช็คมาขายลดให้แก่โจทก์เมื่อ พ.ศ. 2524 แล้วผิดสัญญาและไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ 3 ก็ต้องรับผิดชำระแทนตามสัญญาค้ำประกัน…
จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า โจทก์ผ่อนเวลาให้แก่จำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 3 หลุดพ้นจากความรับผิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 700 แม้สัญญาค้ำประกันจะมีข้อความให้ถือว่าจำเลยที่ 3รู้เห็นยินยอมด้วยในการผ่อนเวลา ก็เป็นข้อสำคัญที่พิมพ์ไว้ล่วงหน้าไม่ได้เป็นเจตนาอันแท้จริงของคู่กรณีจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 113และมาตรา 368 นั้น ปรากฎว่าปัญหาข้อนี้ จำเลยที่ 3 ไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยที่ 3 ฎีกาต่อไปว่า จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 1 โดยจำกัดวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท ศาลจะพิพากษาให้จำเลยที่ 3 รับผิดรวมทั้งดอกเบี้ยด้วยเกินกว่าวงเงินดังกล่าวไม่ได้ นั้นหนังสือสัญญาค้ำประกันข้อ 1 มีข้อความว่า ในการที่ธนาคารโจทก์ได้ปล่อยสินเชื่อให้แก่นางเจษรา แซ่จู จำเลยที่ 1 ไปนั้น หากปรากฎว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติผิดสัญญาหรือผิดเงื่อนไขแห่งสินเชื่อหรือก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น ไม่ว่าในกรณีใด ๆ อันเกี่ยวกับการที่ได้รับสินเชื่อนั้นไปจากธนาคาร ไม่ว่าจะโดยรวมทุกรายการหรือเพียงรายการหนึ่งรายการใด “ผู้ค้ำประกันตกลงยินยอมชำระหนี้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยรวมทั้งอุปกรณ์แห่งหนี้ทั้งสิ้นตามสินเชื่อดังกล่าวข้างต้นให้แก่ธนาคารเป็นจำนวนเงินไม่เกิน 100,000 บาท(หนึ่งแสนบาทถ้วน) โดยยอมรับผิดเป็นลูกหนี้ร่วมกับนางเจษรา แซ่จูฯลฯ” ดังนี้เห็นว่าจำเลยที่ 3 ค้ำประกันอย่างจำกัดจำนวน โดยเมื่อรวมต้นเงินดอกเบี้ยและอุปกรณ์อื่น ๆ แห่งหนี้เข้าด้วยกันแล้วจำเลยที่ 3 จะรับผิดไม่เกิน 100,000 บาท ข้อความที่ว่ายอมรับผิดเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 หมายถึงในจำนวนเงิน 100,000 บาทจะรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหาใช่ขยายจำนวนเงินที่จะรับผิดออกไปจากข้อความตอนต้นไม่ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 3 ทำสัญญายอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต้องร่วมรับผิดชำระเงินจำนวน 100,000บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่เช็คแต่ละฉบับขึ้นเงินไม่ได้จนกว่าจะชำระเสร็จ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยอย่างไรก็ดี หนี้ดังกล่าวเป็นหนี้เงิน จำเลยที่ 3 ต้องชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในระหว่างผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เมื่อไม่ปรากฎว่าโจทก์ได้ทวงถามจำเลยที่ 3 เมื่อใด จำเลยที่ 3 จึงต้องเสียดอกเบี้ยในกรณีผิดนัดนับแต่วันฟ้อง และเมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้วจึงไม่ต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 3 ที่ว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีจากจำเลยที่ 3 อีกต่อไป…
พิพากษาแก้เป็นว่า ในส่วนที่เกี่ยวกับดอกเบี้ยให้ดจำเลยที่ 3ร่วมรับผิดชำระแก่โจทก์ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน100,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ”.

Share