คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3329/2529

แหล่งที่มา : ADMIN

ย่อสั้น

การฟ้องขอให้ผู้รับโอนโอนนาหรือที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมประเภทอื่นซึ่งมีพระราชกฤษฎีกาควบคุมให้แก่ผู้เช่าโดยอ้างว่าผู้ให้เช่าขายไปโดยมิได้แจ้งให้ผู้เช่าทราบนั้นผู้เช่าจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายเสียก่อนกล่าวคือต้องมีการร้องขอต่อคชก.ตำบลเพื่อวินิจฉัยให้จำเลยขายที่ดินให้แก่โจทก์เสียก่อนเมื่อคชก.ตำบลวินิจฉัยเป็นประการใดผู้ไม่พอใจมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคชก.จังหวัดภายใน30วันนับแต่วันที่ทราบคำวินิจฉัยแต่ต้องไม่เกิน60วันนับแต่วันที่คชก.ตำบลมีคำวินิจฉัยมิฉะนั้นให้ถือว่าคำวินิจฉัยนั้นถึงที่สุดหากคชก.จังหวัดวินิจฉัยแล้วยังไม่เป็นที่พอใจจึงจะมีสิทธิฟ้องคดีได้เมื่อโจทก์มาฟ้องคดีทันทีโดยมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายบังคับไว้เช่นนี้โจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องและอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ จำเลยฟ้องแย้งขอให้ขับไล่โจทก์และบริวารรื้อถอนบ้านเรือนออกจากที่พิพาทโจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งไว้ว่าโจทก์เช่าที่ดินพิพาทเพื่อการเกษตรกรรมปลูกพืชล้มลุกเช่นกล้วยเป็นพืชหลักและเป็นรายได้หลักตลอดมาปัญหาจึงอยู่ที่ว่าต้นกล้วยเป็นพืชไร่หรือไม่การปลูกต้นกล้วยของโจทก์ถึงขนาดเป็นการทำนาหรือไม่ถ้าเป็นที่ดินที่ทำก็ถือได้ว่าเป็นนาตามบทบัญญัติในมาตรา21แห่งพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ.2524โจทก์จึงอาจได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายดังกล่าวให้ยังไม่ต้องถูกขับไล่ออกจากที่เช่าก็ได้จึงเป็นเรื่องที่ศาลจะพึงพิจารณาสืบพยานทั้งสองฝ่ายก่อนไม่ควรที่จะงดสืบพยานโดยไม่ฟังข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เช่าที่ดินสวนมีโฉนดของผู้มีชื่อเพื่อการเกษตรกรรมเพาะปลูกพืชล้มลุก ต่อมาผู้มีชื่อได้จดทะเบียนขายแก่จำเลยโดยมิได้แจ้งการจะขายที่ดินพร้อมราคาที่จะขายและวิธีการชำระเงินเป็นหนังสือให้โจทก์ทราบก่อน ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 และตามที่สัญญาไว้ จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยโอนขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์เช่าที่ดินเพื่อเก็บมะหร้าวในสวนขาย มิได้เช่าเพื่อเพาะปลูกตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม เจ้าของที่ดินจึงไม่จำต้องขายที่ดินนั้นแก่โจทก์ขณะนี้ครบตามสัญญาแล้ว จำเลยไม่ประสงค์จะให้โจทก์เช่าอีก จึงขอให้ยกฟ้องโจทก์ และบังคับให้โจทก์และบริวารรื้อถอนบ้านเรือนออกจากที่ดินพิพาท โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์เช่าที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมและปลูกพืชล้มลุกโจทก์ปลูกมะพร้าว มะม่วง แซมในพืชล้มลุกบ้าง แต่ก็ยังคงปลูกพืชล้มลุกเช่นกล้วยเป็นพืชหลักตลอดมา ขอให้ยกฟ้องแย้งและบังคับคดีไปตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้ให้งดการชี้สองสถานและงดสืบพยานทั้งสองฝ่ายแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์ให้โจทก์และบริวารรื้อถอนโรงเรือนออกจากที่ดินพิพาท โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปและพิพากษาไปตามรูปคดี จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นว่า การฟ้องขอให้ผู้รับโอนโอนนาหรือที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมประเภทอื่น ซึ่งมีพระราชกฤษฎีกาควบคุมให้แก่ผู้เช่า โดยอ้างว่าผู้ให้เช่าขายไปโดยมิได้แจ้งให้ผู้เช่าทราบนั้นผู้เช่าจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายเสียก่อนกล่าวคือ ต้องมีการร้องขอต่อ คชก.ตำบลเพื่อวินิจฉัยให้จำเลยขายที่ดินให้แก่โจทก์เสียก่อนตาม มาตรา 54 วรรคสองของพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. 2524 เมื่อ คชก.ตำบลวินิจฉัยประการใด ผู้ไม่พอใจมีสิทธิอุทธรณ์ต่อ คชก.จังหวัดภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ทราบคำวินิจฉัย แต่ต้องไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันที่ คชก.ตำบลมีคำวินิจฉัย มิฉะนั้นให้ถือว่าคำวินิจฉัยนั้นถึงที่สุดตาม มาตรา 56 ของพระราชบัญญัติดังกล่า หาก คชก.จังหวัดวินิจฉัยแล้วยังไม่เป็นที่พอใจ จึงจะมีสิทธิฟ้องคดีได้ตามมาตรา 57 ของพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 พิเคราะห์คำฟ้องของโจทก์แล้ว โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่าเมื่อโจทก์ติดต่อขอซื้อจากจำเลยแล้วจำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงมาฟ้องคดีทันทีโดยไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายบังคับไว้เช่นนี้ โจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องและอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ส่วนที่เกี่ยวกับฟ้องแย้งของจำเลยที่สละประเด็นอื่นเหลือไว้ประเด็นเดียวว่าขอให้ขับไล่โจทก์และบริวารรื้อถอนบ้านเรือนออกจากที่พิพาทนั้น เห็นว่าโจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งไว้ว่า โจทก์เช่าที่ดินพพาทเพื่อการเกษตรกรรมปลูกพืชล้มลุกเช่นกล้วยเป็นพืชหลักและเป็นรายได้หลักตลอดมา ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าต้นกล้วยเป็นพืชไร่หรือไม่ การปลูกต้นกล้วยของโจทก์ถึงขนาดเป็นการทำนาหรือไม่ถ้าเป็น ที่ดินที่ทำก็ถือได้ว่าเป็นนาตามบทบัญญัติในมาตรา 21 ของพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 การเช่าที่ดินนั้นแม้ทำกันไว้มีกำหนดเวลาต่ำกว่า 6 ปี ก็จะต้องถือว่าเช่ากันมีกำหนด 6 ปีไปในตัว ตามมาตรา 26 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว โจทก์จึงอาจได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายมาตรานี้ให้ยังไม่ต้องถูกขับไล่ออกจากที่เช่าก็ได้ ดังนั้นข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่ศาลจะฟังพิจารณาสืบพยานทั้งสองฝ่ายให้สิ้นกระแสความเสียก่อนแล้วจึงพิพากษาไปตามประเด็นข้อโต้เถียง ไม่ควรด่วนงดชี้สองสถานและสืบพยานแล้วพิพากษาคดีไปโดยไม่ฟังข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร พิพากษาแก้ เป็นว่าให้ยกฟ้องของโจทก์ และให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาเฉพาะที่เกี่ยวกับฟ้องแย้งของจำเลยต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share