แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์เคยฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมคดีนั้นศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้ไม่เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมโจทก์จึงมาฟ้องเรียกเงินบำเหน็จจากจำเลยในคดีนี้เมื่อสิทธิฟ้องเรียกเงินบำเหน็จมีมูลมาจากการเลิกจ้างของจำเลยคราวเดียวกันแต่โจทก์มิได้ฟ้องรวมไปในคดีก่อนกลับมาฟ้องใหม่คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำตามป.วิ.พ.มาตรา148ประกอบด้วยพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522มาตรา31.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า (เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2512) จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำ ต่อมา (วันที่ 1 กันยายน 2525) จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ขาดคุณสมบัติเป็นพนักงานของรัฐวิสาหกิจและไม่จ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์ ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จเป็นเงิน 51,220 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 3,940 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การปฏิเสธว่าจำเลยไม่ต้องจ่ายเงินบำเหน็จ และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และตัดฟ้องว่าฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำขอให้พิพากษายกฟ้อง
ในวันนัดพิจารณา โจทก์แถลงว่าโจทก์เคยฟ้องจำเลยโดยอาศัยเหตุการเลิกจ้างรายเดียวกันนี้ต่อศาลแรรงานกลาง และเคยเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าด้วย คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาว่าการเลิกจ้างเป็นธรรม ศาลแรงงานกลางจึงให้งดสืบพยานและวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับฟ้องในคดีก่อน พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงาน วินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความว่าคดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 31 เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ขอให้ศาลบังคับจำเลยจ่ายเงินเดือนและประโยชน์อื่นให้แก่โจทก์นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะรับโจทก์กลับเข้าทำงาน ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างเดิม ถ้าไม่สามารถรับโจทก์เข้าทำงานได้ ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้ ไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม พิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาพิพากษายืน คดีถึงที่สุดแล้วโจทก์มาฟ้องคดีนี้เรียกเงินบำเหน็จและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าโดยอาศัยเหตุการเลิกจ้างคราวเดียวกันกับคดีก่อน คดีมีปัญหาที่จะได้วินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินบำเหน็จจากจำเลยคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับฟ้องโจทก์ในคดีก่อนหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า สิทธิฟ้องเรียกเงินบำเหน็จตามที่โจทก์ฟ้องคดีนี้มูลมาจากการเลิกจ้างของจำเลยซึ่งโจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกเงินจำนวนนี้จากจำเลยได้เมื่อโจทก์ฟ้องคดีก่อนอยู่แล้ว เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องรวมไปในคดีก่อนกลับมาฟ้องใหม่ในคดีนี้อีก โดยอาศัยเหตุการเลิกจ้างคราวเดียวกัน จึงเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 148 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน”.