คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2842/2529

แหล่งที่มา : ADMIN

ย่อสั้น

การที่ผู้ร้องร้องขอต่อศาลแรงงานกลางเพื่อขออนุญาตเลิกจ้างผู้คัดค้านซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างนั้นศาลแรงงานกลางต้องพิจารณาว่ากรณีมีเหตุอันสมควรและเพียงพอที่ผู้ร้องจะเลิกจ้างได้หรือไม่ถ้าศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างได้ก็เป็นเพียงให้สิทธิแก่ผู้ร้องที่จะเลิกจ้างผู้คัดค้านเท่านั้นมิใช่เป็นคำสั่งแทนนายจ้างให้เลิกจ้างกันทันทีโดยผู้ร้องจะต้องมีคำสั่งเลิกจ้างอีกชั้นหนึ่งการที่ผู้คัดค้านฟ้องแย้งและเรียกค่าเสียหายโดยอ้างว่าหากจะมีการเลิกจ้างเกิดขึ้นไม่ว่าด้วยกรณีใดๆย่อมเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมเป็นเรื่องที่ผู้ร้องยังมิได้โต้แย้งสิทธิของผู้คัดค้านโดยการเลิกจ้างจึงไม่ชอบที่จะรับฟ้องแย้งของผู้คัดค้านไว้พิจารณา.

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องประสบภาวะขาดทุน จึงต้องทยอยเลิกจ้างลูกจ้างเป็นคราว ๆ และจำต้องเลิกจ้างอีกครั้งหนึ่งจำนวน 244 คน แต่นายอาจ ขุนพลนายแดง อ๋องสกุล นายสมศักดิ์ ศาลติกุลลักษณ์ นายซึม คุ้มเพชร ได้เป็นกรรมการลูกจ้างอยู่ด้วย จึงขออนุญาตเลิกจ้างลูกจ้างทั้งสี่ นายอาจ ขุนพล นายแดง อ๋องสกุล นายสมศักดิ์ ศานติกุลลักษณ์ และนายซึมคุ้มเพชร ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้ร้องมีเจตนากลั่นแกล้งเพราะผู้คัดค้านทั้งสี่เป็นกรรมการลูกจ้างและกรรมการสหภาพแรงงาน และขอฟ้องแย้งว่าผู้คัดค้านทั้งสี่มีบทบาทในการดำเนินงาน และในการเรียกร้องของสหภาพแรงงานเหมืองแร่ระนองจึงทำให้ผู้ร้องไม่พอใจและหาทางเลิกจ้าง สหภาพแรงงานเหมืองแร่ระนองได้เคยยื่นข้อเรียกร้องและมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งยังมีผลบังคับใช้อยู่ผู้ร้องเกรงว่าผู้คัดค้านทั้งสี่จะยื่นข้อเรียกร้องอีกจึงหาทางเลิกจ้างเสียก่อนเมื่อผู้คัดค้านทั้งสี่ไม่ได้กระทำความผิดผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิเลิกจ้าง และหากจะมีการเลิกจ้างเกิดขึ้นไม่ว่าด้วยกรณีใดก็ย่อมเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมจึงขอเรียกค่าเสียหายให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสี่ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งรับคำร้องของผู้คัดค้านทั้งสี่ ส่วนฟ้องแย้งของผู้คัดค้านเป็นกรณียังไม่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น จึงไม่รับฟ้องแย้ง ผู้คัดค้านทั้งสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การที่ผู้ร้องร้องขอต่อศาลแรงงานกลางก็เพื่อขออนุญาตเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสี่ซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้าง และศาลแรงงานกลางต้องพิจารณาว่า กรณีมีเหตุอันสมควรและเพียงพอที่ผู้ร้องจะเลิกจ้างได้หรือไม่หากศาลแรงงานกลางไม่อนุญาต ผู้ร้องก็ไม่มีสิทธิที่จะเลิกจ้างได้ แต่ถ้าหากศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้เลิกจ้างได้แล้ว คำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างได้นี้ก็เป็นเพียงให้สิทธิแก่ผู้ร้องที่จะเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสี่เท่านั้น มิใช่เป็นคำสั่งแทนนายจ้างให้เลิกจ้างกันทันทีแต่อย่างใด โดยผู้ร้องจะต้องมีคำสั่งเลิกจ้างอีกชั้นหนึ่งดังนั้น การที่ผู้คัดค้านทั้งสี่ฟ้องแย้งและเรียกค่าเสียหายโดยอ้างว่าหากจะมีการเลิกจ้างเกิดขึ้นไม่ว่าด้วยกรณีใด ๆ ย่อมเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมนั้นจึงเป็นเรื่องที่ผู้ร้องยังมิได้โต้แย้งสิทธิของผู้คัดค้านทั้งสี่โดยการเลิกจ้างแต่อย่างใด ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของผู้คัดค้านทั้งสี่นั้นจึงชอบแล้ว พิพากษายืน

Share