คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2617/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เช็คปลอมจำนวน23ฉบับเป็นส่วนหนึ่งของเช็คที่จำเลยลักมาจากธนาคารโจทก์ร่วมซึ่งจำเลยเป็นพนักงานอยู่ไม่ปรากฏว่าเช็คดังกล่าวได้สูญหายไปจากจำเลยการที่บุคคลอื่นจะนำเช็คนั้นไปกรอกวันเดือนปีจำนวนเงินและปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายทำเป็นเช็คปลอมแล้วนำไปขึ้นเงินได้นั้นบุคคลนั้นต้องได้รับเช็คไปจากจำเลยการที่จำเลยมอบเช็คที่ลักมาให้ผู้อื่นไปทำการดังกล่าวเป็นขั้นตอนที่จะให้สำเร็จผลดังเจตนาของจำเลยกับพวกในการที่จะหลอกลวงเอาเงินจากโจทก์ร่วมโดยนำเช็คปลอมนั้นๆไปขึ้นเงินจำเลยจึงเป็นตัวการร่วมกับผู้อื่นใช้ตั๋วเงินปลอมและฉ้อโกงโจทก์ร่วม.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264,266, 268, 335, 341, 83, 91 และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่โจทก์ร่วม
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ธนาคารนครหลวงไทย จำกัดร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(11) รวมสองกรรม ให้ลงโทษจำเลยในข้อหานี้มีกำหนดกรรมละ1 ปี กับผิดตาม มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264, 266(4)และมาตรา 341, 83 อันเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264, 266(4), 38 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 รวมยี่สิบห้ากรรม ลงโทษจำเลยในข้อหานี้มีกำหนดกรรมละ 1 ปี เรียงกระทงลงโทษจำเลยรวมทั้งสิ้นยี่สิบเจ็ดกระทงตามมาตรา 3, 91(2) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2526 มาตรา 4 เป็นให้จำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 20 ปี และให้จำเลยใช้ราคาสมุดเช็ค 2 เล่ม เป็นเงิน40 บาท กับชดใช้เงินตามเช็ค 220,000 บาท แก่โจทก์ร่วมด้วยคำขอของโจทก์อย่างอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 264, 266(4),341, 83 จำนวน 22 กระทง เมื่อเรียงกระทงลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์2 กรรม ฐานใช้เอกสารปลอมและฉ้อโกง 3 กระทงรวม 5 กรรม จำคุกกรรมละ1 ปี รวมจำคุก 5 ปี ให้จำเลยคืนเงินตามเช็คจำนวน 20,000 บาทแก่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด สาขาถลาง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ร่วมมีหน้าที่ควบคุมดูแลบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน นายบำรุง วงศ์ชุมพิศเป็นลูกค้าของโจทก์ร่วม โดยเปิดบัญชีกระแสรายวัน จำเลยได้ใช้อุบายลักสมุดเช็คของโจทก์ร่วมไป รวม 2 เล่ม เล่มที่ลักในครั้งแรกมี20 ฉบับ และเล่มที่ลักไปครั้งที่สองมี 25 ฉบับ โดยจำเลยกรอกข้อความลงในบัญชีจ่ายเช็คว่า สมุดเช็คดังกล่าวจ่ายให้นายบำรุง วงศ์ชุมพิศต่อมาระหว่างวันที่ 16 มกราคม 2521 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2522ต่อเนื่องกันได้มีบุคคลนำเช็คที่จำเลยลักไปทั้งสองเล่มดังกล่าวไปกรอกข้อความวันเดือนปี จำนวนเงินตามเช็คนั้น ๆ ร่วม 25 ฉบับรวมเป็นเงิน 220,000 บาท และมีบุคคลนำเช็คปลอมดังกล่าวไปขอรับเงินจากโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมหลงเชื่อว่าเป็นเช็คที่นายบำรุง วงศ์ชุมพิศเป็นผู้สั่งจ่ายจริง จึงจ่ายเงินตามเช็คปลอมนั้น ๆ ให้แก่ผู้ขอรับเงินตามเช็คปลอมนั้นไปรวม 25 ฉบับรวมเป็นเงิน 220,000 บาทโดยจำเลยเป็นผู้นำเช็คดังกล่าวไปขอรับเงิน 3 ฉบับ และวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายต่อไปว่า “…คดีมีปัญหาว่าเช็คปลอมเอกสารหมายจ.4 ถึง จ.25 ที่บุคคลอื่นนำไปรับเงินนั้นจำเลยได้ร่วมกระทำความผิดใช้เช็คปลอมและฉ้อโกงด้วยหรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวนี้เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเช็คปลอมเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.25 เป็นเช็คที่จำเลยลักมาและตามสำนวนข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าเช็คที่จำเลยลักมาดังกล่าวได้สูญหายไป การที่บุคคลอื่นจะนำเช็คที่จำเลยลักมานั้นไปกรอกวันเดือนปี จำนวนเงิน และปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายทำเป็นเช็คปลอมแล้วนำไปขึ้นเงินได้นั้นบุคคลนั้นต้องได้รับเช็คนั้น ๆไปจากจำเลยการที่จำเลยมอบเช็คที่ลักมาให้ผู้อื่นไปกระทำการดังกล่าวเห็นว่าเป็นขั้นตอนที่จะให้สำเร็จผลดังเจตนาของจำเลยกับพวกในการที่จะหลอกลวงเอาเงินโจทก์ร่วม โดยนำเช็คปลอมนั้น ๆ ไปขึ้นเงินตามเช็คปลอมเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.25 จำเลยจึงเป็นตัวการร่วมกับผู้อื่นใช้ตั๋วเงินปลอมและฉ้อโกงโจทก์ร่วมสำหรับเช็คแต่ละฉบับที่นำไปขึ้นเงินซึ่งเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90คดีนี้จำเลยและพวกนำเช็คปลอมไปขึ้นเงินรวม 25 ฉบับ ตามเอกสารหมายจ.4 ถึง จ.28 รวมเป็นเงิน 220,000 บาท จำเลยต้องมีความผิดทุกกรรมรวม 25 กรรม ซึ่งศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยไปแล้ว 3 กรรม
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดให้ลงโทษจำเลยและบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น”.

Share