แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ในคดีก่อนโจทก์กับว. และบิดาจำเลยฟ้องร้องแย่งสิทธิที่ดินกันซึ่งมีที่ดินพิพาท(ในคดีนี้)รวมอยู่ในที่ดินที่ฟ้องร้องกันนั้นด้วยจำเลยเข้าอยู่ในที่พิพาทโดยเชื่อว่าเป็นส่วนที่บิดาจำเลยได้รับมรดกจึงเป็นการเข้าอยู่โดยอาศัยสิทธิของบิดาจำเลยจำเลยย่อมมีสิทธิเพียงเท่าที่บิดาจำเลยมีอยู่ดังนั้นคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีก่อนที่วินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ย่อมผูกพันบิดาจำเลยและตัวจำเลยด้วยแม้จำเลยจะเข้าครอบครองที่พิพาทในระหว่างเวลาที่มีการพิจารณาคดีก่อนก็ตามก็ไม่เป็นการแย่งการครอบครองของโจทก์และที่จำเลยครอบครองที่พิพาทภายหลังจากวันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อนก็เป็นการครอบครองสืบต่อจากการครอบครองในระหว่างพิจารณาคดีเมื่อไม่ได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการครอบครองจำเลยจะอ้างกำหนดเวลาการฟ้องเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองตามป.พ.พ.มาตรา1375มาใช้ยันโจทก์ไม่ได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 621 เนื้อที่ 5 ไร่ 2 งาน80 ตารางวา เมื่อประมาณ 5 ปี มานี้ จำเลยได้อาศัยปลูกบ้านในที่ดินดังกล่าว โดยตกลงว่าหากโจทก์จะให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างจำเลยจะรื้อถอนออกไปทันที ต่อมาโจทก์ได้มอบให้ทนายความบอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดิน และห้ามเข้าเกี่ยวข้องต่อไป กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ 500 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะออกไป
จำเลยให้การว่า จำเลยครอบครองที่พิพาทเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ปลูกเรือนอยู่อาศัยมานานประมาณ 10 ปี จำเลยครอบครองพิพาทโดยเจตนายึดถือเพื่อตนเองมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี เป็นการแย่งสิทธิครอบครองของโจทก์ โจทก์ไม่ฟ้องเอาคืนสิทธิครอบครองภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง คดีโจทก์ขาดอายุความ ค่าเสียหายอย่างสูงไม่เกินเดือนละ 20 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่พิพาทให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเดือนละ 200 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาของจำเลยที่ฎีกาว่าโจทก์หมดสิทธิเรียกร้องเอาที่พิพาทคืนนั้น ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันรับฟังได้ว่า โจทก์กับนายวัน และบิดาจำเลย เคยพิพาทฟ้องร้องแย่งสิทธิที่ดินกันซึ่งมีที่พิพาทรวมอยู่ในที่ดินที่พิพาทกันด้วยโดยนายวันกับบิดาจำเลยอ้างว่าเป็นที่ดินมรดกบิดาจำเลยถึงแก่กรรมในระหว่างพิจารณาคดีจำเลยได้เข้ามาเป็นคู่ความแทนที่บิดาจำเลย ผลที่สุดศาลฎีกาพิพากษาว่าที่ดินทั้งหมดเป็นของโจทก์ ปรากฎตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 588/2525 เห็นว่าในคดีก่อนปรากฏว่านายวันกับบิดาจำเลยเป็นโจทก์ ส่วนโจทก์ในคดีนี้เป็นจำเลย นายวันกับบิดาจำเลยอ้างว่าที่ดินตามฟ้องเป็นมรดกของบิดามารดาตกได้แก่โจทก์จำเลยในคดีก่อนและผู้มีชื่อ และได้ร่วมกันครอบครองตลอดมา บิดาจำเลยกับโจทก์จำเลยในคดีนี้ได้ปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินเมื่อ พ.ศ. 2498 นายวันกับบิดาจำเลยและผู้มีชื่อมอบให้โจทก์ในคดีนี้แจ้งการครอบครองที่ดินโดยใส่ชื่อโจทก์ในคดีนี้ในที่ดินไว้แทนทั้งมอบให้เสียภาษีบำรุงท้องที่แทนด้วย เมื่อเดือนเมษายน 2522จำเลยในคดีนี้ขุดบ่อน้ำในที่ดิน โจทก์ในคดีนี้กลับอ้างว่าที่ดินเป็นของตนคนเดียว และขับไล่จำเลยในคดีนี้ออกจากที่ดิน ข้อเท็จจริงจากคำฟ้องในคดีก่อนนั้นเองแสดงว่า จำเลยและบิดาจำเลยเชื่อว่าบิดาจำเลยมีส่วนได้รับมรดกที่ดินตามฟ้อง ดังนั้น การที่จำเลยเข้าไปอยู่ในที่ดินดังกล่าวจึงเป็นการอาศัยสิทธิของบิดาจำเลยหรือได้รับอนุญาตจากบิดาจำเลย จำเลยย่อมได้สิทธิเพียงเท่าที่บิดาจำเลยมีอยู่ คำพิพากษาในคดีก่อนเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่พิพาทกันย่อมผูกพันจำเลยด้วย ทั้งเห็นว่าแม้จำเลยจะได้ครอบครองที่พิพาทซึ่งเป็นที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินที่พิพาทกันในคดีก่อนในระหว่างพิจารณาคดีก่อนก็ตาม ก็หาใช่เป็นการแย่งการครอบครองไม่ จำเลยจะยกเอาสิทธิแห่งการครอบครองที่พิพาทในระหว่างยังเป็นความกันอยู่มาใช้ยันโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของหาได้ไม่ ตลอดจนการที่จำเลยครอบครองที่พิพาทภายหลังจากวันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อนก็เป็นการครอบครองสืบต่อจากการครอบครองในระหว่างพิจารณาคดีก่อน ในเมื่อจำเลยยังมิได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 จำเลยจะอ้างกำหนดเวลาการฟ้องเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1375 มาใช้ยันโจทก์ไม่ได้ โจทก์มีสิทธิฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองและขับไล่จำเลยให้ออกไปจากที่พิพาทได้”
พิพากษายืน.