คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2394/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การสื่อสารแห่งประเทศไทยจำเลยที่1มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการไปรษณีย์เพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชนจึงมิใช่ผู้ขนส่งตามป.พ.พ.และตามป.พ.พ.มาตรา609การขนไปรษณียภัณฑ์ในหน้าที่ของการสื่อสารแห่งประเทศไทยต้องบังคับตามพ.ร.บ.ไปรษณีย์พุทธศักราช2477พ.ร.บ.การสื่อสารแห่งประเทศไทยพ.ศ.2519และไปรษณียนิเทศพุทธศักราช2520 ตามข้อบังคับของไปรษณียนิเทศพุทธศักราช2520ของที่ฝากส่งทางไปรษณีย์รับประกันมีได้เฉพาะจดหมายรับประกันการขอให้รับประกันจะขอให้รับประกันเกินกว่าราคาที่แท้จริงของสิ่งที่บรรจุอยู่ไม่ได้และสิ่งของที่บรรจุหากมีราคามากกว่า3,950บาทก็ขอให้รับประกันได้ไม่เกินกว่านั้นฉะนั้นเมื่อผู้ฝากส่งได้ฝากส่งของประเภทจดหมายรับประกันและของที่ฝากส่งสูญหายจำเลยที่1คงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายตามที่กำหนดไว้ในไปรษณียนิเทศเท่าที่รับประกันไว้เท่านั้นหาต้องรับผิดจนเต็มราคาสิ่งของที่ฝากส่งไม่ บริษัทสายการบินอลิตาเลีย จำกัดจำเลยที่2ขนส่งของให้จำเลยที่1ตามพ.ร.บ.ไปรษณีย์พุทธศักราช2477มาตรา48ตามที่จำเลยที่1กำหนดให้ส่งและมิได้รับแจ้งถึงสภาพและราคาของไปรษณียภัณฑ์ที่บรรจุอยู่ในถุงไปรษณีย์จำเลยที่2จึงมิใช่ผู้รับขนส่งให้ผู้ฝากส่งและกรณีมิใช่การขนส่งหลายทอดเมื่อจำเลยที่2ขนส่งของไปถึงปลายทางในสภาพเรียบร้อยโดยไม่ปรากฏว่าได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อจนเป็นเหตุให้ของหายจำเลยที่2จึงไม่ต้องรับผิด.

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ดำเนินกิจการไปรษณีย์มีหน้าที่ตามกฎหมายในการรับขนส่งไปรษณียภัณฑ์ จำเลยที่ 2 ประกอบกิจการรับขนส่งของและคนโดยสารระหว่างประเทศโดยทางอากาศเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2523 บริษัท ส. จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัด น. ได้ส่งทับทิมและพลอยสีน้ำเงินเจียระไน 10 เม็ดและ 194 เม็ด ราคา 1,041,664 บาท และ 936,305.26 บาทตามลำดับเพื่อไปจำหน่ายแก่ลูกค้า ณ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ในการส่งสินค้าดังกล่าว บริษัทและห้างดังกล่าวได้ส่งไปทางไปรษณีย์เสียค่าธรรมเนียมส่งเป็นไปรษณีย์ต่างประเทศละทะเบียนรับประกัน โจทก์ได้แจ้งข้อเท็จจริงทั้งสิ่งของ น้ำหนัก และราคาอันแท้จริงของสิ่งของที่บรรจุอยู่ภายในไปรษณีย์ภัณฑ์ตามแบบพิมพ์ของจำเลยที่ 1 ครบถ้วน จำเลยที่ 1ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฝากส่งตามราคาอันแท้จริงของสิ่งของไปรษณียภัณฑ์ หากสิ่งของนั้นเกิดเสียหายหรือสูญหายในระหว่างการขนส่งตามพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พุทธศักราช 2477 บริษัททั้งสองได้เอาประกันภัยสำหรับความเสียหรือสูญหายที่จะเกิดขึ้นแก่สินค้าอัญมณีดังกล่าวไว้กับโจทก์ การขนส่งไปรษณียภัณฑ์ของจำเลยที่ 1ได้จัดให้มีผู้ขนส่งหลายทอดโดยจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2ให้ทำการขนส่ง จำเลยที่ 2 ตกลงรับจ้าง ต่อมาบริษัทและห้างได้รับแจ้งจากลูกค้าว่ายังไม่ได้รับสินค้าที่ส่งไป จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าไปรษณียภัณฑ์ของบริษัทและห้างดังกล่าวได้สูญหายไปในระหว่างการขนส่งของจำเลยที่ 2 บริษัทและห้าง ฯ ทวงถามจำเลยทั้งสองให้ชดใช้ค่าเสียหายหลายครั้ง แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย โจทก์ในฐานผู้รับประกันภัยจึงชดใช้ค่าเสียหายแก่บริษัทและห้างตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยเป็นเงิน 1,162,161.82 บาท และ 954,721.33 บาทตามลำดับ แล้วโจทก์ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิจากบริษัทและห้างทวงถามไปยังจำเลยทั้งสองให้ชดใช้ค่าเสียหายแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ย ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า บริษัทและห้างได้ฝากส่งไปรษณียภัณฑ์ลงทะเบียนรับประกันแก่จำเลยที่ 1 จริง แต่จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เพราะบริษัทและห้างจะได้บรรจุพลอยสีน้ำเงินและทับทิมเจียระไน ราคาตามฟ้องในไปรษณียภัณฑ์ลงทะเบียนรับประกันหรือไม่จำเลยที่ 1 ไม่ทราบ ไม่รับรอง และตามระเบียบของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่จำต้องรับรู้ว่าผู้ฝากส่งจะบรรจุสิ่งของอะไร ราคาเท่าใดไปรษณียภัณฑ์ลงทะเบียนรับประกันดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบให้จำเลยที่ 2 ตามระเบียบของจำเลยที่ 1 แล้ว และของเกิดสูญหายไปในระหว่างความรับผิดชอบของจำเลยที่ 2 โดยไม่ทราบสาเหตุ ถือเป็นเหตุสุดวิสัย จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดชอบด้วยในฐานะผู้รับขนส่ง เพราะระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 มิใช่เป็นการขนส่งหลายทอด นอกจากนี้ยังเป็นความผิดของบริษัทและห้างเองที่บรรจุทับทิมและพลอยสีน้ำเงินเจียระไน ซึ่งเป็นสิ่งมีค่าต้องห้ามมิให้บรรจุในจดหมายรับประกัน หากจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อบริษัทและห้าง ก็ไม่เกินจำนวนเงินที่ขอรับประกันรายละ 3,950 บาท และคืนค่าธรรมเนียมอีก 287 บาท303 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4,237 และ 4,253 บาท ตามลำดับ ตามไปรษณียนิเทศ ข้อ 146, 152, 155 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า กรมธรรม์ประกันภัยคดีนี้เป็นกรมธรรม์ประกันภัยการขนส่งสินค้าทางทะเล มิได้คุ้มครองการส่งของทางอากาศจำเลยที่ 2 ไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระค่าเสียหาย จำเลยที่ 2ไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์ จำเลยที่ 1 เพียงมอบถุงไปรษณีย์ซึ่งปิดและมีตราประทับเรียบร้อยให้จำเลยที่ 2 พร้อมทั้งแจ้งชื่อที่ทำการไปรษณีย์ปลายทางที่จะรับถุงไปรษณีย์ดังกล่าวไปเท่านั้นจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจทำลายตราที่ปิดถุงและเปิดถุงออกดูข้างในจำเลยที่ 2 ได้ส่งมอบถุงไปรษณีย์ให้แก่ที่ทำการไปรษณีย์ปลายทางโดยเรียบร้อย ไม่ชำรุดเสียหาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า คำฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุมจำเลยทั้งสองรับขนอัญมณีของบริษัทและห้าง โดยฝากส่งไปรษณียภัณฑ์แบบจดหมายลงทะเบียนรับประกันไว้กับจำเลยที่ 1 เพื่อส่งให้แก่ผู้รับที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ แล้วจำเลยที่ 1 มอบให้จำเลยที่ 2 ขนส่งไปยังเมืองปลายทาง และไปรษณียภัณฑ์ดังกล่าวสูญหายไปเมื่อไปรษณียภัณฑ์ที่รับขนไม่ถึงมือผู้รับเพราะเกิดสูญหายขึ้น จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อบริษัทและห้างผู้ฝากส่งตามที่จำกัดความรับผิดไว้ โจทก์เป็นผู้รับช่วงสิทธิตามกรมธรรม์ประกันภัยจากบริษัทและห้าง จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายรวม 8,530 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์สำหรับค่าขึ้นศาลให้ใช้เท่าที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้ 500 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ทั้งสองสำนวน
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกาทั้งสองสำนวน
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2523 บริษัทได้ส่งทับทิมและพลอยสีน้ำเงินเจียระไน 10 เม็ด ราคา 1,041,664 บาท80 สตางค์ และห้างได้ส่งพลอยสีน้ำเงินและทับทิมเจียระไน 194 เม็ดราคา 936,305 บาท 26 สตางค์ ไปให้แก่ผู้รับที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์โดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนรับประกันรายละ 3,950 บาท จำเลยที่ 1ได้รับของไว้จากผู้ฝากส่งเรียบร้อย และให้จำเลยที่ 1 รับส่งต่อไปยังเมืองปลายทาง จำเลยที่ 2 ได้ส่งโดยเครื่องบินของจำเลยที่ 2 ไปถึงที่ทำการไปรษณีย์เจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ โดยถุงไปรษณีย์ลงทะเบียนและถุงภายนอกถูกผูกปิดอย่างเรียบร้อย แต่ถุงไปรษณีย์ภัณฑ์รับประกันซึ่งบรรจุอยู่ภายในถุงไปรษณียภัณฑ์ลงทะเบียนมีสภาพถูกปิดสิ่งของที่บริษัทและห้างส่งหายไป ของที่ผู้ฝากส่งไปไม่ถึงมือผู้รับปลายทาง แล้ววินิจฉัยว่าโจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้สิ่งของของผู้ฝากส่งที่สูญหายตามราคาที่แจ้งไว้ที่ไปรษณียภัณฑ์ทั้งสองรายเป็นเงิน 50,640 เหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 1,041,664บาท 80 สตางค์ และเป็นเงิน 45,518 เหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทย936,305 บาท 26 สตางค์ “…พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการไปรษณีย์ เพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชน จำเลยที่ 1 จึงมิใช่ผู้ขนต่างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 609 การขนไปรษณียภัณฑ์ในหน้าที่ของจำเลยที่ 1ให้บังคับตามกฎหมายและกฎข้อบังคับสำหรับทบวงการนั้น ๆ ซึ่งมีพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พุทธศักราช 2477 และพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 เป็นกฎหมายที่บัญญัติกำหนดอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ไว้ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พุทธศักราช2477 และมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2519 ให้อำนาจจำเลยที่ 1 ออกข้อบังคับเกี่ยวกับการฝากส่งไปรษณียภัณฑ์ จำเลยที่ 1 ได้ออกข้อบังคับในการฝากส่งไปรษณียภัณฑ์ไว้ เรียกว่าไปรษณียนิเทศ พุทธศักราช 2520 ดังนั้น เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่และความรับผิดของจำเลยที่ 1 ในการขนไปรษณียภัณฑ์จึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พุทธศักราช 2477 พระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 และไปรษณียนิเทศ พุทธศักราช 2520 ซึ่งตามไปรษณียนิเทศ พุทธศักราช 2520 ช้อ 131 ระบุว่า ไปรษณียภัณฑ์แบ่งออกเป็น 5 ชนิด คือ จดหมาย ไปรษณียบัตร ของตีพิมพ์ พัสดุย่อย เครื่องอ่านสำหรับคนเสียจักษุ ข้อ 141 ระบุว่า จดหมายรับประกัน คือ จดหมายต่างประเทศที่ทางการให้ความคุ้มครองรักษาเป็นพิเศษหากของที่รับประกันสูญหายหรือเสียหายไปทั้งหมดหรือบางส่วนในระหว่างส่งทางไปรษณีย์เพราะความผิดของทางราชการ ทางการยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้ตามราคาที่เป็นจริงของจดหมายรับประกันที่สูญหายหรือเสียหาย แต่ไม่เกินจำนวนเงินที่ขอรับประกันไว้ ข้อ 143 ระบุว่า ไปรษณียภัณฑ์ชนิดอื่น ๆ ไม่อนุญาตให้รับประกัน ข้อ 146 ระบุว่า จำนวนเงินที่จะขอให้รับประกันอย่างสูงไม่เกิน 3,950 บาท หรือ 500 แฟรงก์ทองต่อจดหมาย 1 ฉบับ และข้อ 147 ระบุว่า ห้ามขอรับประกันเกินกว่าราคาแท้จริงของสิ่งที่บรรจุอยู่ แต่จะขอรับประกันภัยน้อยกว่าราคาแท้จริงก็ได้ ตามข้อบังคับของไปรษณียนิเทศ พุทธศักราช 2520 จะเห็นว่าสิ่งของที่ฝากส่งทางไปรษณียภัณฑ์รับประกันมีเฉพาะจดหมายรับประกันเท่านั้น จดหมายที่ขอให้รับประกันจะจดแจ้งราคาหรือไม่ก็ได้ การขอให้รับประกันจะขอให้รับประกันเกินกว่าราคาที่แท้จริงของสิ่งที่บรรจุอยู่ไม่ได้ สิ่งของที่บรรจุอยู่หากมีราคามากกว่า 3,950 บาทขอรับประกันได้ไม่เกิน 3,950 บาท ข้อบังคับของจำเลยที่ 1 นี้ บริษัทสว่างเอ็กปอร์ต จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัด นิวสยามลั้คกี้เยมส์ย่อมทราบดี เพราะได้ขอรับประกันเป็นเงิน 3,950 บาท ทั้งสองรายตามเอกสารหมาย จ.6 จ.3 และเมื่อฝากส่งแล้วผู้ฝากส่งได้เอาประกันภัยไว้กับโจทก์อีกทอดหนึ่งทันที เต็มตามราคาของสิ่งของที่ฝากส่ง อันเป็นการยอมรับแล้วว่าจำเลยที่ 1 จำกัดความรับผิดเท่าที่รับประกันภัยเท่านั้น และขอให้รับประกันได้ไม่เกิน 3,950 บาท และตามมาตรา 29แห่งพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พุทธศักราช 2477 บัญญัติให้จำเลยที่ 1รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในการที่ไปรษณียภัณฑ์รับประกันแตกหักสูญหายในระหว่างส่งทางไปรษณีย์ ตามข้อบังคับที่ใช้อยู่ในเวลานั้นความรับผิดของจำเลยที่ 1 ในการใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีที่ไปรษณียภัณฑ์รับประกัน (จดหมายรับประกัน) แตกหักสูญหายจึงต้องบังคับตามไปรษณียนิเทศ พุทธศักราช 2520 ข้อ 141 ส่วนมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พุทธศักราช 2477 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับไปรษณียภัณฑ์อื่นอันมิใช่ไปรษณียภัณฑ์รับประกัน (จดหมายรับประกัน) กรณีของโจทก์ผู้ฝากได้ฝากส่งประเภทไปรษณียภัณฑ์รับประกัน (จดหมายรับประกัน)โดยแจ้งขอรับประกันไปรษณียภัณฑ์ที่ฝากส่งแต่ละรายเป็นจำนวนเงิน3,950 บาท กับเสียค่าธรรมเนียมการฝากส่งรายละ 277 บาท และ 293 บาทค่าธรรมเนียมลงทะเบียนต่างประเทศรายละ 5 บาท ค่าบริการไปรษณีย์ตอบรับรายละ 5 บาท ค่าธรรมเนียมรับประกันรายละ 20 บาท ตามใบรับเอกสารหมาย จ.6 จ.7 การที่ผู้ฝากส่งทั้งสองร้องขอให้จำเลยที่ 1รับประกันไปรษณียภัณฑ์ของผู้ฝากส่งเป็นเงินรายละ 3,950 บาท เมื่อไปรษณียภัณฑ์สูญหายไป จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายตามที่กำหนดไว้ในไปรษณียนิเทศเท่าที่รับประกันไว้กับผู้ฝากส่งทั้งสองรายรวมกับค่าธรรมเนียมดังกล่าวแล้วเท่านั้น
ปัญหาวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยที่ 2 มิได้รับขนส่งให้ผู้ฝากส่ง และกรณีมิใช่การขนส่งหลายทอด หากแต่จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ต้องขนส่งให้จำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พุทธศักราช 2473 มาตรา 48 ตามที่จำเลยที่ 1 กำหนดให้ส่ง ทั้งมิได้รับแจ้งถึงสภาพและราคาของไปรษณียภัณฑ์ที่บรรจุอยู่ในถุงไปรษณีย์ที่จำเลยที่ 1 มอบให้ และไม่ปรากฏว่าสินค้าของผู้ฝากส่งสูญหายไปจากที่แห่งใด ถุงไปรษณียภัณฑ์ที่จำเลยที่ 2 รับไป จำเลยที่ 2 ได้ขนส่งไปถึงปลายทางในสภาพเรียบร้อย ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 จงใจหรือประมาทเลินเล่อในการขนจนเป็นเหตุให้ของหาย จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองสำนวนฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าทนายความของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ชั้นฎีกาทั้งสองสำนวนให้เป็นพับ”.

Share