คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2390/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้เลี่ยมกรอบพระเครื่องให้4องค์แต่ไม่ไปรับพระเครื่องที่โจทก์เลี่ยมกรอบเสร็จแล้วคืนโจทก์จึงขายพระเครื่องไปเช่นนี้การที่จำเลยแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ฐานยักยอกทรัพย์โดยไม่ได้ความว่าจำเลยจงใจกลั่นแกล้งกล่าวหาย่อมถือว่าเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายโดยสุจริตและการที่พนักงานสอบสวนตั้งข้อหาควบคุมตัวและดำเนินการสอบสวนโจทก์จนกระทั่งพนักงานอัยการฟ้องโจทก์ต่อศาลจึงเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการการกระทำของจำเลยไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ การฟ้องเรียกทรัพย์คืนหรือให้ใช้ราคาทรัพย์ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้จึงต้องถืออายุความ10ปีตามป.พ.พ.มาตรา164.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมอบพระเครื่อง 4 องค์ให้โจทก์เลี่ยมกรอบทองเมื่อเลี่ยมเสร็จแล้วจำเลยไม่ยอมรับคืน โจทก์จึงขายพระเครื่องไปโดยคิดเฉพาะราคาทองคำ ต่อมาจำเลยกลับดำเนินคดีอาญาต่อโจทก์ในข้อหายักยอกซึ่งศาลพิพากษายกฟ้อง การกระทำของจำเลยเป็นการกลั่นแกล้งใส่ความโจทก์เป็นการละเมิด ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 100,000 บาท
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าจำเลยมอบพระเครื่องมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 22,000 บาทให้โจทก์ไปเลี่ยมกรอบทอง จำเลยไม่เคยทราบว่าโจทก์เลี่ยมพระเสร็จแต่ทราบว่ามีคนนำพระเครื่องที่มอบให้โจทก์ไว้ไปขายจึงร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ มิได้จงใจใส่ความโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายขอให้ศาลยกฟ้องและบังคับให้โจทก์คืนพระเครื่อง 4 องค์แก่จำเลย ถ้าคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาเป็นเงิน 22,000บาท
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า พระเครื่องของจำเลยมีเพียงองค์เดียวที่สามารถให้เช่าได้ไม่เกิน 3,000 บาท อีก 3 องค์ได้รับแจกมาฟ้องแย้งของจำเลยขาดอายุความแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์และให้โจทก์คืนพระเครื่องทั้ง4 องค์แก่จำเลย ถ้าไม่สามารถคืนได้ก็ให้ชำระราคาแทนเป็นเงิน 10,000บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องแย้งไปจนกว่าจะชำระเงินให้แก่จำเลยเสร็จและให้โจทก์ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยโดยกำหนดค่าทนายความ 1,200 บาท
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับทั้งสองฝ่าย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยว่าจ้างโจทก์เลี่ยมกรอบพระเครื่อง 4 องค์ โดยเมื่อเลี่ยมเสร็จแล้วจึงคิดราคาค่าทองคำที่ใช้เลี่ยมและค่าแรงกัน โจทก์เลี่ยมเสร็จแล้วก็ได้นำไปส่งให้จำเลย แต่ไม่พบจำเลย เมื่อพบกับภริยาจำเลย ภริยาจำเลยไม่ยอมรับเอาพระเครื่องนั้นไว้แทนจำเลย ต่อมาโจทก์ได้ขายพระเครื่องของจำเลยไป เมื่อจำเลยทราบและติดตามเอาพระเครื่องคืนไม่ได้ จำเลยจึงแจ้งความดำเนินคดีแก่โจทก์ในความผิดฐานยักยอก แต่ศาลพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่าโจทก์ (จำเลยในคดีนั้น) ไม่มีเจตนาทุจริตปรากฏตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3259/2524 ของศาลชั้นต้น โจทก์กล่าวอ้างว่าการที่จำเลยแจ้งความดำเนินคดีแก่โจทก์ในคดีดังกล่าวนั้น เป็นการจงใจกลั่นแกล้งใส่ความโจทก์โดยไม่มีมูลความจริง เพราะเมื่อโจทก์นำพระเครื่องไปส่ง ภริยาจำเลยได้บอกโจทก์ว่าราคาทองคำสูงและไม่ขอเอาพระเครื่องทั้ง 4 องค์ นั้น ทั้งโจทก์ยังได้บอกว่าจะเก็บพระเครื่องนั้นไว้ให้อีกระยะหนึ่ง แต่จำเลยก็ไม่ไปรับพระเครื่องคืนภายในกำหนดโจทก์จึงขายพระเครื่องของจำเลยไป เพราะถือว่าจำเลยสละกรรมสิทธิ์พระเครื่องดังกล่าวนั้นแล้ว ข้อนี้ นางนิภา เหล่าดุสิต ภริยาจำเลยเบิกความยืนยันว่าได้บอกโจทก์แต่เพียงว่าตนมิได้เป็นผู้ว่าจ้างให้โจทก์มอบพระเครื่องดังกล่าวแก่จำเลยเอง และไม่ได้บอกสละกรรมสิทธิ์พระเครื่องนั้นเพราะไม่ใช่เจ้าของ โจทก์เองก็เบิกความรับว่าจำเลยไม่เคยบอกกับโจทก์ว่าจำเลยไม่เอาพระเครื่องดังกล่าวนั้นและยังรับว่าพระเครื่องของจำเลยบางองค์มีราคาถึง 3,000 บาท กรณีจึงไม่น่าเชื่อว่าจำเลยสละกรรมสิทธิ์พระเครื่องดังกล่าวตามที่โจทก์อ้าง เมื่อจำเลยไม่ไปรับพระเครื่องและชำระราคาค่าจ้างเลี่ยมกรอบให้แก่โจทก์ โจทก์ก็ชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องค่าจ้างจากจำเลยได้แต่โจทก์กลับเอาพระเครื่องของจำเลยไปขายให้บุคคลอื่นเป็นเหตุให้จำเลยติดตามเอาคืนไม่ได้เช่นนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่าจำเลยจงใจกลั่นแกล้งแจ้งความกล่าวหาโจทก์ การที่จำเลยแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่โจทก์นั้น กรณีก็มีเค้ามูลและเหตุผลที่ทำให้จำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่าโจทก์กระทำผิดตามที่จำเลยแจ้งความ เพราะจำเลยมิได้สละกรรมสิทธิ์พระเครื่องดังกล่าวนั้น การที่พนักงานสอบสวนตั้งข้อหา ควบคุมตัวและดำเนินการสอบสวนโจทก์จนกระทั่งพนักงานอัยการฟ้องโจทก์ต่อศาล เป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยใช้สิทธิตามกฎหมายโดยสุจริต ดังนั้นการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ และไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามฟ้อง ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อต่อไปมีว่า ฟ้องแย้งของจำเลยขาดอายุความหรือไม่พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยฟ้องแย้งว่าโจทก์รับมอบพระเครื่องของจำเลยไปเลี่ยมกรอบทอง ต่อมาเดือนพฤษภาคม 2523 จำเลยทราบว่าโจทก์เอาพระเครื่องของจำเลยไปขายให้ผู้อื่น โดยจำเลยมิได้อนุญาตและโจทก์ไม่มีสิทธิหรืออำนาจที่จะเอาพระเครื่องของจำเลยไปขาย เป็นการละเมิดต่อจำเลยโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อเป็นการผิดต่อกฎหมาย ทำให้จำเลยเสียหายต่อทรัพย์คือพระเครื่องดังกล่าว ขอให้โจทก์คืนพระเครื่องหรือใช้ราคาพระเครื่องแก่จำเลยนั้น กรณีเป็นการฟ้องเรียกทรัพย์คืนหรือให้ใช้ราคาทรัพย์นั้น อายุความในกรณีดังกล่าวไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้จึงมีกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 กรณีนี้หาใช่เป็นการฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดในอันที่จะนำอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 มาใช้บังคับไม่ ฟ้องแย้งของจำเลยจึงยังไม่ขาดอายุความ ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน ฯ”.

Share