คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 706/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เลิกจ้างเพราะการปฏิบัติงานไม่เป็นที่พอใจไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามกฎหมายที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ข้อความในสัญญาประนีประนอมยอมความที่จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานใหม่มิได้กล่าวถึงอายุการทำงานว่าจะนับต่อกับอายุการทำงานเดิมหรือไม่ต้องเริ่มนับอายุการทำงานใหม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าเป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์ โจทก์จึงฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางว่าเลิกจ้างไม่เป็นธรรมในที่สุดตกลงกันได้โดยจำเลยรับโจทก์เข้าทำงานใหม่ แต่แล้วจำเลยเลิกจ้างโจทก์อีกด้วยเหตุผลส่วนตัว เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม แต่ไม่ขอกลับเข้าทำงานต่อไปขอเรียกค่าเสียหายและค่าชดเชยกับเงินอื่น ๆ
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์จงใจทำให้จำเลยเสียหาย มิได้กลั่นแกล้ง ตามอายุการทำงานใหม่ของโจทก์ โจทก์ทำงานไม่ครบ 1 ปี จำเลยจึงไม่ต้องชำระค่าเสียหายและค่าชดเชย
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ต้องนับอายุการทำงานของโจทก์ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความรวมเข้ากับเวลาทำงานเดิม แต่น่าเชื่อว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม พิพากษาให้จำเลยชำระค่าชดเชย 75,000บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 12,500 บาท ค่าทำงาน (ที่ถูกคือค่าจ้าง) วันหยุดพักผ่อนประจำปี 208,30 บาท รวมเป็นเงิน87,708.30 บาทแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าตามเอกสารที่โจทก์ส่งศาลปรากฏว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะการปฏิบัติงานไม่เป็นที่พอใจ เหตุที่จำเลยยกขึ้นอ้างเพื่อเลิกจ้างโจทก์ดังกล่าวไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามกฎหมายที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ สำหรับปัญหาเรื่องอายุการทำงานนั้นปรากฏว่าเดิมโจทก์ทำงานกับจำเลยเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2524 ต่อมาโจทก์หาว่าจำเลยผิดสัญญาจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลแรงงานกลางเรียกค่าเสียหายและเงินต่าง ๆ รวมเป็นเงินกว่าห้าแสนบาท แต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์2527 โจทก์จำเลยก็ตกลงกันได้โดยจำเลยยอมจ่ายเงิน 30,000 บาท ให้โจทก์และรับโจทก์กลับเข้าทำงานตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2527 เป็นต้นไป สภาพการจ้างระหว่างโจทก์จำเลยที่มีอยู่เดิมยุติลงแล้วด้วยการที่โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลาง เมื่อโจทก์จำเลยตกลงประนีประนอมยอมความกัน ก็มิได้กล่าวถึงอายุการทำงานแต่เดิมว่าจะนับต่อกับอายุการทำงานใหม่อย่างไรหรือไม่ เพราะมีช่วงเวลาที่เป็นความกันอยู่ถึง 6 เดือน ทั้งโจทก์ก็มิได้ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานใหม่ ดังนี้จะนับอายุการทำงานที่ตกลงกันใหม่ต่อจากอายุการทำงานเดิมโดยมิได้ตกลงกันให้ชัดแจ้งมิได้ การเข้าทำงานในช่วงหลังของโจทก์ต้องเริ่มต้นนับอายุการทำงานใหม่ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชย12,500 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์เป็นเงิน12,500 บาท ไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี นอกจากที่แก้นี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share