คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 623/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ปัญหาที่ว่าสัญญาซื้อขายเป็นโมฆะเพราะสำคัญผิดในสาระสำคัญหรือไม่เมื่อศาลชั้นต้นมิได้กำหนดเป็นประเด็นพิพาทไว้และโจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านแต่อย่างใดศาลจะยกประเด็นข้อดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยไม่ได้เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องพิจารณาคำฟ้องว่ามีประเด็นดังกล่าวหรือไม่เพราะถ้ามีก็ถือว่าโจทก์สละประเด็นนี้แล้ว คดีอาญาศาลชั้นต้นตัดสินแล้วแต่ยังอยู่ในอายุอุทธรณ์แม้จะเป็นคดีต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯมาตรา22แต่โจทก์ก็อาจอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายได้การตายของจำเลยระหว่างอายุอุทธรณ์ทำให้คดีอาญาระงับไปและทำให้โจทก์หมดสิทธิอุทธรณ์เป็นเหตุให้คดีระงับไปก่อนจะถึงที่สุดจะนำข้อเท็จจริงในคดีอาญาที่ยังไม่ถึงที่สุดมารับฟังในคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญาไม่ได้จะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงใหม่ โจทก์ตกลงจะทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับอ. โจทก์ได้ไปตรวจดูที่ดินพิพาทและตรวจสอบโฉนดที่ดินที่อ. ให้ดู ซึ่งปรากฏรายการจดทะเบียนภารจำยอมไว้ด้านหลังโฉนด เมื่อโจทก์ตรวจดูที่ดินเป็นที่พอใจแล้วจึงเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายกับอ. ดังนี้แม้ต่อมาปรากฏจากการรังวัดที่ดินนี้ว่าจำนวนที่ดินที่จะใช้ประโยชน์ได้ลดน้อยลงไปกว่าจำนวนที่แจ้งไว้ในโฉนด เพราะที่ดินมีภารจำยอมก็เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์เข้าทำสัญญาเองมิใช่เกิดจากการทำกลฉ้อฉลหลอกลวงของอ. แต่อย่างใด.

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า อ. ทำกลฉ้อฉลหลอกลวงขายที่ดินแปลงเนื้อที่ 5 ไร่ 1 งานกับโจทก์ จนเป็นเหตุให้โจทก์เข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายและวางมัดจำกับ อ. ต่อมาโจทก์ทำการรังวัดที่ดินปรากฏว่าที่ดินมีเนื้อที่เพียง 3 ไร่เศษ เพราะถูกตัดเป็นถนน ไม่พอที่จะให้โจทก์ตั้งโรงงาน โจทก์ต้องเสียเวลาในการจัดหาที่ดินใหม่และจัดซื้อวัสดุก่อสร้างในราคาสูงขึ้น ขอให้จำเลยใช้ค่าขาดประโยชน์จากธุรกิจที่ล่าช้า แล้วขอให้คืนมัดจำ
จำเลยทั้งสามให้การว่าฟ้องเคลือบคลุม อ. ไม่ได้ทำกลฉ้อฉลหลอกลวง โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม อ. ไม่ได้ทำกลฉ้อฉลหลอกลวงโจทก์ แต่โจทก์สำคัญผิดในจำนวนที่ดินซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับ อ. เป็นโมฆะ ให้คืนเงินมัดทำให้โจทก์ แต่โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย
โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับนายอุทัย เสมรสุต เป็นโมฆะเพราะโจทก์สำคัญผิดในจำนวนที่ดินซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมนั้น เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นดังศาลอุทธรณ์วินิจฉัยหรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณา ฉบับลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2523 ว่าศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีนี้ไว้ 3 ประการคือ 1. การจะซื้อขายที่ดินเกิดจากการหลอกลวงของนายอุทัย เสมรสุต หรือไม่2. โจทก์จะเรียกมัดจำคืนและค่าเสียหายได้เพียงใด และ 3. ฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่ โจทก์ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านว่าศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นไม่ถูกต้อง ตามประเด็นที่ยกขึ้นกล่าวนี้ จะเห็นว่าศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ว่า สัญญาจะซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับนายอุทัย เสมรสุต เป็นโมฆะเพราะเหตุโจทก์สำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรม หรือไม่ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นยกประเด็นดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาทโดยไม่จำเป็นต้องพิจารณาคำฟ้องอีกว่าในคำฟ้องมีประเด็นดังโจทก์อ้างหรือไม่ เพราะถ้าหากมีก็ถือว่าโจทก์สละประเด็นนี้แล้วศาลอุทธรณ์วินิจฉัยประเด็นข้อนี้ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
โจทก์ฎีกาเป็นข้อที่สองว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาเลขแดงที่ 4696/2523 ของศาลแขวงพระนครเหนือที่วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า พยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่านายอุทัยเสมรสุต จำเลยมีเจตนาหลอกลวงขายที่ดินให้โจทก์ พิพากษายกฟ้องโดยศาลแขวงพระนครเหนืออ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 15 เมษายน2523 ต่อมาวันที่ 27 เมษายน 2523 ซึ่งอยู่ในระหว่างอายุอุทธรณ์นายอุทัย เสมรสุต ตาย มีผลทำให้คดีอาญาระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) คดีดังกล่าวเมื่อศาลแขวงพระนครเหนือพิพากษายกฟ้อง แม้จะต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 22 ที่แก้ไขแล้ว แต่โจทก์ก็อาจอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายได้ หรืออาจได้รับการรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ตามมาตรา 22 ทวิ ถ้าหากมีการอุทธรณ์ดังกล่าวอาจทำให้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นเปลี่ยนแปลงไปได้ เมื่อนายอุทัยเสมรสุต ตายระหว่างคดีอยู่ ระหว่างอายุอุทธรณ์ ย่อมทำให้คดีระงับไปทั้งเรื่องก่อนคดีถึงที่สุด ทำให้โจทก์หมดสิทธิอุทธรณ์ ดังนั้นจะนำข้อเท็จจริงในคดีที่ยังไม่ถึงที่สุดมารับฟังในคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญานั้น ๆ ย่อมไม่ได้ เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงใหม่ จากพยานหลักฐานโจทก์ดังยกขึ้นกล่าวนี้ไม่ปรากฏเลยว่านายอุทัย เสมรสุต ได้บอกนายเรืองชัยหรือโจทก์ที่ 2 ที่ 3 ว่าที่ดินพิพาทมีเนื้อที่สำหรับใช้เป็นที่สร้างโรงงานอุตสาหกรรมได้จำนวนเนื้อที่ 5 ไร่ 1 งาน 81 ตารางวา ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่า นายอุทัยเสมรสุต ให้นายเรืองชัยดูโฉนดที่ดินพิพาทก่อนแล้วเขียนแผนที่ให้นายเรืองชัยไปดูที่ดินเอง เมื่อนายเรืองชัยไปดูที่พิพาทแล้วรวมทั้งโจทก์ที่ 2 ที่ 3 และนายยงยุทธกรรมการของโจทก์ที่ 1 คนหนึ่งดูที่พิพาทต่างพอใจและพอปลูกสร้างโรงงานได้จึงได้ตกลงซื้อและทำสัญญาซื้อขายกับนายอุทัย เสมรสุต ซึ่งที่ดินพิพาทก็มีเนื้อที่ตามโฉนดการจดทะเบียนที่พิพาทตกอยู่ในภารจำยอมก็มีปรากฏอยู่ในแผ่นที่ 7 ของโฉนดที่พิพาทเอกสารหมาย ป.ล.1 ซึ่งนายเรืองชัยได้ตรวจดูก่อนซื้อแล้วไม่ได้ดูให้ละเอียดและสอบถามนายอุทัย เสมรสุตเกี่ยวกับการจดทะเบียนภารจำยอมเอง ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่านายอุทัยเสมรสุต ทำกลฉ้อฉลหลอกลวงฝ่ายโจทก์ดังโจทก์อ้าง นิติกรรมซื้อขายไม่เป็นโมฆียะ”
พิพากษายืน.

Share