เรื่อง เช่าซื้อ (รถยนต์)
(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4590/2562)
ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
มาตรา 572 แห่ง ป.พ.พ.บัญญัติถึงลักษณะและความสมบูรณ์ของสัญญาเช่าซื้อไว้ว่า “อันว่าเช่าซื้อนั้น คือสัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว” และวรรคสอง “สัญญาเช่าซื้อนั้นถ้าไม่ได้ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าเป็นโมฆะ” ซึ่งตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.3 มีข้อกำหนดและเงื่อนไขในข้อสำคัญที่เป็นไปตามลักษณะของสัญญาเช่าซื้อและทำเป็นหนังสือสมบูรณ์ตามกฎหมาย ส่วนการที่ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2555 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35 ทวิ แห่งพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 กำหนดให้การทำสัญญาเช่าซื้อประเภทของรถยนต์ที่พิพาทในคดีนี้ไว้ในข้อ 4 ว่า สัญญาเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภค ต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน…และจะต้องใช้ข้อสัญญาที่มีสาระสำคัญและเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (1)รายละเอียดเกี่ยวกับ ก. ยี่ห้อ รุ่น หมายเลขเครื่องยนต์และหมายเลขตัวถัง สภาพของรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ว่าเป็นรถใหม่ หรือรถใช้แล้ว และระยะทางที่ได้ใช้แล้วโดยให้มีหน่วยเป็นกิโลเมตรหรือไมล์ รวมทั้งภาระผูกพันของรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ (ถ้ามี) ข.ราคาเงินสด จำนวนเงินจอง จำนวนเงินดาวน์ ราคาเงินสดส่วนที่เหลือ อัตราดอกเบี้ยที่เช่าซื้อ จำนวนงวดที่ผ่อนชำระ จำนวนเงินค่าเช่าซื้อทั้งสิ้น จำนวนค่าเช่าซื้อที่ผ่อนชำระในแต่ละงวด จำนวนค่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระในแต่ละงวด เริ่มชำระค่างวดแรกในวันที่ ชำระค่างวดต่อๆ ไปภายในวันที่ ค. วิธีคำนวณเงินค่าเช่าซื้อ และจำนวนค่าเช่าซื้อ จำนวนดอกเบี้ยที่ชำระ จำนวนค่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระในแต่ละงวด นั้น แม้จะเห็นได้ว่าประกาศดังกล่าวมีเจตนารมณ์ที่ต้องการคุ้มครองผู้เช่าซื้อซึ่งเป็นผู้บริโภค แต่การที่สัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.1 ไม่ได้ระบุข้อความตามประกาศฯ ที่เป็นราคาเงินสด จำนวนเงินจอง จำนวนเงินดาวน์ ราคาเงินสดส่วนที่เหลือ อัตราดอกเบี้ยที่เช่าซื้อ…ก็เป็นเพียงรายละเอียดเกี่ยวกับราคาของทรัพย์ที่เช่าซื้อ วิธีการชำระค่าเช่าซื้อ หรือผลประโยชน์ที่ควรจะได้รับจากการทำสัญญา ซึ่งไม่มีผลถึงขนาดที่จะทำให้สัญญาเช่าซื้อที่สมบูรณ์ตามกฎหมายแล้วใช้บังคับไม่ได้ ประกอบกับประกาศฯ ไม่ได้กำหนดไว้ชัดแจ้งว่า สัญญาเช่าซื้อที่ไม่ระบุข้อความตามที่ประกาศฯกำหนดจะใช้บังคับไม่ได้ และตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 35 ตรี ยังบัญญัติเป็นลักษณะบังคับไว้อีกว่า “เมื่อคณะกรรมการว่าด้วยสัญญากำหนดให้สัญญาของการประกอบธุรกิจที่ควบคุมสัญญาต้องใช้ข้อสัญญาใด หรือต้องใช้ข้อสัญญาใดโดยมีเงื่อนไขในการใช้ข้อสัญญานั้นด้วยตามมาตรา 35 ทวิ แล้ว ถ้าสัญญานั้นไม่ใช้ข้อสัญญาดังกล่าวหรือใช้ข้อสัญญาดังกล่าวแต่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไข ให้ถือว่าสัญญานั้นใช้ข้อสัญญาดังกล่าวหรือใช้ข้อสัญญาดังกล่าวตามเงื่อนไขนั้น” อันแสดงถึงว่าประกาศของคณะกรรมการว่าด้วยสัญญามิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะให้ข้อสัญญาที่ไม่เป็นไปตามประกาศฯ จะใช้บังคับไม่ได้ทุกกรณี เพียงแต่ต้องการให้ใช้บังคับในลักษณะให้เกิดความเป็นธรรมและไม่ให้ผู้บริโภคเสียเปรียบมากเกินไปเท่านั้น กับทั้งข้อความที่เป็นราคาเงินสด จำนวนเงินจอง จำนวนเงินดาวน์ ราคาเงินสดส่วนที่เหลือ อัตราดอกเบี้ยที่เช่าซื้อ… ไม่ได้ก่อให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ และอำนาจในการตัดสินใจเข้าทำสัญญาเช่าซื้อก็ยังอยู่กับผู้บริโภคจึงถือไม่ได้ว่าเป็นเรื่องที่อาจก่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรืออาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวมด้วย นอกจากนี้เมื่อคู่สัญญามีการประพฤติผิดสัญญาหรือสัญญาเช่าซื้อเลิกกันไม่ว่ากรณีใด ๆ ป.พ.พ. มาตรา 391 มาตรา 573 และ 574 ก็บัญญัติรองรับในการกลับคืนสู่ฐานะเดิมหรือในการกำหนดค่าเสียหาย โดยพิจารณาถึงพฤติการณ์หรือความสุจริตของคู่สัญญาซึ่งศาลสามารถนำมาปรับใช้ได้ตามสมควรอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อสามงวดติดต่อกันอันเป็นการประพฤติผิดสัญญา และโจทก์บอกกล่าวเลิกสัญญาโดยชอบตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 10.1 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง
(ฎีกา 4590/2562) (อัพเดท 01.04.2563)