คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2452-2453/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานเป็นซ่องโจรเป็นความผิดสำเร็จเมื่อมีการสมคบกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 ของประมวลกฎหมายอาญา และเมื่อผู้กระทำความผิดได้สะสมกำลังพลหรืออาวุธ จัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สิน ให้หรือรับการฝึกการก่อการร้าย หรือกระทำการอื่นใดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 135/2 (2) จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันสะสมกำลังพลหรืออาวุธ จัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สิน ให้หรือรับการฝึกการก่อการร้าย ตระเตรียมการอื่นใด หรือสมคบกันเพื่อก่อการร้าย เมื่อจำเลยกับพวกมีเจตนาเดียวในการกระทำความผิดทั้งสองฐานนี้ จึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งต้องลงโทษบทหนักฐานร่วมกันสะสมกำลังพลหรืออาวุธ จัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สิน ให้หรือรับการฝึกการก่อการร้าย ตระเตรียมการอื่นใด หรือสมคบกันเพื่อก่อการร้าย ตาม ป.อ. มาตรา 90 แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาในปัญหานี้ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ความผิดฐานร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย และฐานร่วมกันมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย เป็นความผิดและระวางโทษตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 78 ประกอบมาตรา 55 อันเป็นบทมาตราเดียวกัน และมาตรา 4 (2) ให้คำนิยามของคำว่า เครื่องกระสุนปืน หมายความรวมตลอดถึงลูกระเบิด กฎหมายถือว่าวัตถุต้องห้ามทั้งสองชนิดเป็นวัตถุประเภทเดียวกัน ส่วนความผิดฐานร่วมกันมียุทธภัณฑ์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งแม้เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง มาตรา 42 อันเป็นกฎหมายคนละฉบับกัน แต่สารเคมีชนิด PENTAERYTHRITOL TETRANITRATE (PETN) ที่สามารถใช้เป็นวัตถุระเบิด และสารเคมีชนิด AMMONIUM NITRATE ที่ใช้เป็นส่วนผสมของวัตถุระเบิด นอกจากเป็นยุทธภัณฑ์ตาม พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 มาตรา 4 ประกอบประกาศกระทรวงกลาโหม เรื่อง กำหนดยุทธภัณฑ์ที่ต้องขออนุญาตตาม พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2550 ข้อ 2 แล้ว ยังเป็นวัตถุระเบิดซึ่งนายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2522) ออกตามความใน พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2522 ด้วย ดังนั้น วัตถุระเบิดและเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ และสารเคมีดังกล่าวจึงเป็นวัตถุต้องห้ามประเภทเดียวกัน เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุทั้งสามชนิดในขณะเดียวกัน การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งต้องลงโทษบทหนักฐานร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 และเรียกจำเลยในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 3
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 135/2, 209, 210 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 38, 55, 72, 74, 78 พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 มาตรา 4, 6, 22, 23 พระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 มาตรา 4, 7, 15, 42 ริบของกลางที่เจ้าพนักงานเก็บรักษาไว้ โดยริบเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์เพื่อไว้ใช้ในราชการของสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/2 (2), 209 วรรคแรก, 210 วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 38 วรรคหนึ่ง, 55, 72 วรรคสาม, 74, 78 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง, 23 พระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 42 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานสมคบกันเพื่อก่อการร้าย กับฐานเป็นอั้งยี่และฐานซ่องโจร เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานสมคบกันเพื่อก่อการร้าย ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 10 ปี ฐานร่วมกันมีวัตถุระเบิดและเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ กับฐานร่วมกันมีซึ่งยุทธภัณฑ์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 20 ปี ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ได้ จำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันมีวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 1 ปี รวมจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 32 ปี ริบของกลางทั้งหมด โดยริบเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์เพื่อไว้ใช้ในราชการของสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/2 (2), 209 วรรคแรก (เดิม), 210 วรรคสอง (เดิม) ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานสมคบกันเพื่อก่อการร้ายลงโทษจำคุกตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด ฐานเป็นอั้งยี่ จำคุกคนละ 2 ปี และฐานเป็นซ่องโจรจำคุกคนละ 3 ปี เมื่อรวมกับโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำคุกคนละ 37 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยทั้งสามกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 หรือไม่ เห็นว่า ที่เกิดเหตุเป็นเพิงพัก 4 หลัง โดยสามหลังแรกอยู่ห่างกันประมาณ 10 เมตร ลักษณะเป็นกลุ่มเดียวกัน หลังที่ 4 ซึ่งแม้จะอยู่ห่างจากสามหลังแรกประมาณ 200 เมตร แต่ลักษณะของเพิงพักหลังที่ 4 ก็คล้ายกับเพิงพักสามหลังแรก ส่อแสดงว่าเพิงพักทั้งสี่หลัง มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน อีกทั้งเพิงพักทั้งสี่หลัง ปลูกอยู่ในป่าโกงกางซึ่งอยู่กลางลำน้ำ มีต้นไม้ในป่าอำพราง และต้องใช้เรือเป็นพาหนะในการสัญจรไปมา ประกอบกับไม่ปรากฏว่าในเพิงพักทั้งสี่หลัง มีอุปกรณ์จับปลาหรือสัตว์น้ำแต่อย่างใด บ่งชี้ว่าเพิงพักทั้งสี่หลัง ถูกสร้างขึ้นในลักษณะปิดบังซ่อนเร้นอำพรางมิให้ผู้อื่นพบเห็น มิใช่เพื่อพักรอในการจับปลาหรือสัตว์น้ำ เพิงพักหลังที่ 2 ยังพบกระดานไวท์บอร์ดที่เขียนข้อความภาษารูมี ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า ซื่อสัตย์ ภักดีต่อองค์กร และเคารพต่อกฎระเบียบวินัยตามจุดประสงค์เป้าหมายขององค์กร เคารพต่อกฎระเบียบของทหารอย่างเคร่งครัด ปฏิบัติหน้าที่ทุกอย่างด้วยความตั้งใจรับผิดชอบต่อทหารและองค์กร BRN เคร่งครัดต่อกฎระเบียบทหารและเคารพเชื่อฟังผู้บังคับบัญชาโดยไม่ฝ่าฝืนต่อกฎระเบียบและคำสั่งแต่อย่างใด และไม่เปิดเผยความลับของกองทัพทหารแก่ศัตรู แม้ชีวิตจะสูญสิ้น อันเป็นข้อความที่มีลักษณะปลุกระดมให้สมาชิกจงรักภักดีต่อองค์กร BRN นอกจากนี้เพิงพักที่เกิดเหตุยังพบเสื้อผ้า แปรงสีฟัน ยาสีฟัน เครื่องใช้ส่วนตัว ถังแก๊สที่ประกอบเป็นวัตถุระเบิดแสวงเครื่อง วัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบเป็นวัตถุระเบิด อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และสิ่งของต่าง ๆ อีกหลายรายการ บ่งบอกว่ามีบุคคลหลายคนพักอาศัยที่เพิงพักที่เกิดเหตุโดยมีจุดมุ่งหมายในการก่อการร้ายโดยใช้ความรุนแรงด้วยวัตถุระเบิดและอาวุธปืน เมื่อพิจารณาสถานที่ตั้งของเพิงพักที่เกิดเหตุรวมทั้งวัตถุพยานของกลางที่พบแล้วสอดรับกับการดำเนินการของขบวนการกู้ชาติรัฐปัตตานี เชื่อว่าเพิงพักที่เกิดเหตุทั้งสี่หลัง เป็นแหล่งหลบซ่อน พักพิง สะสมกำลังพลและอาวุธของขบวนการกู้ชาติรัฐปัตตานี โจทก์มีร้อยโทต่อตระกูล ร้อยตำรวจเอกวิเชษ และพันตำรวจโทมานิตย์เป็นพยานเบิกความในทำนองเดียวกันว่าพบวัตถุพยานรวม 580 รายการ ในเพิงพักที่เกิดเหตุทั้งสี่หลัง และในเรือซึ่งลอยลำอยู่ก่อนถึงเพิงพักที่เกิดเหตุ เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติตามหน้าที่ ไม่มีเหตุจะกลั่นแกล้งนำวัตถุพยานจากที่อื่นไปไว้ในที่เกิดเหตุหรือกลั่นแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลยทั้งสาม อีกทั้งเบิกความได้สอดคล้องต้องกัน เชื่อว่าเบิกความตามความจริง เมื่อพนักงานสอบสวนส่งวัตถุพยานไปตรวจพิสูจน์ ผลการตรวจพิสูจน์ปรากฏว่าพบสารพันธุกรรมของจำเลยที่ 1 ตรงกับสารพันธุกรรมของบุคคลที่เก็บได้จากไฟฉายแบบคาดศีรษะ กางเกง เสื้อ แปรงสีฟัน ม้วนเทปกาว และถุงมือ ซึ่งเป็นวัตถุพยานที่เก็บได้จากเพิงพักหลังที่ 1 และที่ 2 ลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลยที่ 1 ตรงกับรอยลายนิ้วมือแฝงที่เก็บได้จากหลอดพลาสติกบรรจุยาสีฟัน ซึ่งเป็นวัตถุพยานที่ได้จากเพิงพักหลังที่ 1 และสารพันธุกรรมของจำเลยที่ 3 ตรงกับสารพันธุกรรมของบุคคลที่เก็บได้จากเปล 2 เปล ซึ่งเป็นวัตถุพยานที่ได้จากเพิงพักหลังที่ 4 เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถูกส่งตัวไปที่ศูนย์พิทักษ์สันติ จำเลยที่ 1 ให้การยอมรับว่าในปี 2553 จำเลยที่ 1 ได้รับการชักชวน รับฟังบรรยายเรื่องราวประวัติศาสตร์รัฐปัตตานี และทำพิธีซูมเปาะห์จากนายลุกมาน วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 พักอยู่ที่เพิงพักที่เกิดเหตุ ตื่นนอนเวลา 5.30 นาฬิกา ประกอบศาสนกิจ พายเรือออกไปทำธุระส่วนตัว ระหว่างทางถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว และรับว่าจำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันประกอบวัตถุระเบิดที่เป็นถังแก๊สซึ่งพบในเพิงพักที่เกิดเหตุ และจำเลยที่ 3 ให้การยอมรับว่าในปี 2553 หรือปี 2554 นายลุกมานได้บรรยายเรื่องรัฐปัตตานีให้จำเลยที่ 3 ฟัง ต้องร่วมมือเอารัฐปัตตานีคืนมา หลังจากนั้นจำเลยที่ 3 เข้าทำพิธีซูมเปาะห์ เข้าเป็นสมาชิกแนวร่วมกอบกู้รัฐปัตตานีและยอมรับว่าจำเลยที่ 3 เคยเข้าไปที่เพิงพักที่เกิดเหตุ 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2558 เข้าไปหาปูและปลา พบนายลุกมาน ได้นำจำเลยที่ 3 มานั่งที่เพิงพัก พูดคุยกันแล้วกลับ ครั้งที่ 2 และที่ 3 เมื่อต้นและปลายเดือนธันวาคม 2558 นายลุกมานให้จำเลยที่ 3 นำกาแฟและมาม่าไปส่งที่เพิงพักที่เกิดเหตุ โดยจำเลยที่ 3 นั่งอยู่ที่เปล ซึ่งคำให้การดังกล่าวโจทก์มีร้อยตำรวจโทรัฐศักดิ์ ผู้ซักถามจำเลยที่ 1 และสิบตำรวจโทอับดุลรอหมาน ผู้ซักถามจำเลยที่ 3 เป็นพยานเบิกความยืนยันว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การด้วยความสมัครใจ ไม่ได้ถูกบังคับขู่เข็ญ ทำร้าย หรือจูงใจ ตามผลการซักถามเบื้องต้น เห็นว่า ผู้ซักถามทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติตามหน้าที่ ไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะเบิกความไม่ตรงกับความจริง ประกอบกับภาพถ่ายของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในขณะให้การไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีร่องรอยของการถูกบังคับขู่เข็ญหรือทำร้าย เชื่อว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การด้วยความสมัครใจ มิได้เกิดจากการจูงใจ ให้คำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือโดยมิชอบประการอื่น ในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 พักอยู่ที่เพิงพักที่เกิดเหตุมาก่อนเกิดเหตุ เข้าออกโดยใช้เรือพาย 3 ลำ ซึ่งนายเมาลานา จัดหามาประมาณ 2 ถึง 3 ปี ไม่มีบุคคลแปลกหน้าเข้ามา และไม่เคยนำบุคคลใดเข้ามา เพราะกฎของนายเมาลานาห้ามไว้ นายอิสยาซะห์ เป็นคนสั่งให้จำเลยที่ 1 เอาปุ๋ยยูเรียสีขาวผสมกับน้ำมันเบนซินและเหล็กเส้นตัดท่อนแล้วนำไปตากแดด จำเลยที่ 3 ให้การว่านายลุกมานเป็นผู้ทำพิธีซูมเปาะห์ให้จำเลยที่ 3 โดยถูกนายลุกมานบังคับ และรับว่าเคยไปที่เพิงพักที่เกิดเหตุ 3 ครั้ง ตามที่เคยให้การที่ศูนย์พิทักษ์สันติ เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ได้ลงลายมือชื่อไว้ในคำให้การดังกล่าว แต่นายราเชษฐ์ ผู้นำศาสนา ร่วมฟังการสอบสวนจำเลยที่ 1 และนายนิอำรัน ทนายความร่วมฟังการสอบสวนจำเลยที่ 3 ด้วย อันเป็นพยานหลักฐานที่แสดงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การจริงด้วยความสมัครใจ มิได้ถูกจูงใจ ให้คำมั่นสัญญา ขู่เข็ญหลอกลวง หรือโดยมิชอบประการอื่น แม้คำให้การทั้งหมดดังกล่าวเป็นพยานบอกเล่า แต่เป็นคำรับที่เป็นปฏิปักษ์ต่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 เอง และเมื่อพิเคราะห์สภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานผู้ซักถามแล้ว น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ จึงรับฟังเป็นประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 คำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ที่ศูนย์พิทักษ์สันติและในชั้นสอบสวนต่างสอดรับกัน ขณะเจ้าหน้าที่ตรวจสอบป่าโกงกางที่เกิดเหตุ ได้พบจำเลยที่ 1 พายเรืออยู่ ผลการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ก็ตรงกับสารพันธุกรรมที่เก็บได้จากวัตถุพยานที่พบในเพิงพักที่เกิดเหตุ และลายพิมพ์นิ้วมือแฝงของจำเลยที่ 1 ตรงกับรอยลายนิ้วมือแฝงที่เก็บได้จากวัตถุพยานที่พบในเพิงพักที่เกิดเหตุ ซึ่งสอดรับกับคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ดังกล่าว ประกอบกับนางสาวยารอนะ ภริยาจำเลยที่ 1 ซึ่งแต่งงานตามประเพณีให้การในชั้นสอบสวนว่าช่วงหลังจำเลยที่ 1 ไม่ค่อยอยู่บ้าน นาน ๆ จะกลับบ้าน ประมาณ 2 สัปดาห์ต่อครั้ง ซึ่งบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1 พักที่เพิงพักที่เกิดเหตุ พยานหลักฐานโจทก์สอดรับกัน เชื่อว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 เคยเข้าพิธีซูมเปาะห์ ในการกู้ชาติรัฐปัตตานี รวมทั้งจำเลยที่ 1 พักอยู่ที่เพิงพักที่เกิดเหตุ และจำเลยที่ 3 เคยไปที่เพิงพักที่เกิดเหตุ 3 ครั้ง เมื่อเพิงพักที่เกิดเหตุเป็นแหล่งหลบซ่อน พักพิง สะสมกำลังพลและอาวุธของขบวนการกู้ชาติรัฐปัตตานีดังวินิจฉัยข้างต้น ซึ่งปกติย่อมจะปกปิดมิให้บุคคลอื่นซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกหรือมีส่วนร่วมในขบวนการได้ล่วงรู้ถึงที่ตั้งของเพิงพักที่เกิดเหตุ เพราะอาจถูกเจ้าหน้าที่ติดตามจับกุมหรือแผนการอาจถูกเปิดเผยจนทำให้แผนการไม่สำเร็จตามเป้าหมาย ซึ่งเป็นอันตรายต่อขบวนการอย่างยิ่ง พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ดังกล่าว บ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นสมาชิกของขบวนการกู้ชาติรัฐปัตตานี ซึ่งมาพักพิง หลบซ่อน สะสมกำลังพลและอาวุธที่เพิงพักที่เกิดเหตุ รวมทั้งร่วมกับพวกครอบครองวัตถุพยานของกลางทั้งหมด พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคง ที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 นำสืบต่อสู้และฎีกาว่า วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ออกดักปูหากุ้ง วัตถุพยานที่ตรวจพบสารพันธุกรรมของจำเลยที่ 1 เป็นเครื่องใช้ส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 นำติดตัวไปด้วยและเจ้าหน้าที่พบอยู่ในเรือของจำเลยที่ 1 ไม่ได้พบที่เพิงพักที่เกิดเหตุ ส่วนจำเลยที่ 3 ออกดักปูเมื่อเดือนธันวาคม 2558 ได้นำเปลขึ้นไปผูกนอนรอที่เพิงพักหลังที่ 4 ซึ่งใช้เป็นที่พักรอดักปู จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การที่ศูนย์พิทักษ์สันติโดยถูกบังคับขู่เข็ญทำร้ายนั้นไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นสมาชิกของขบวนการกู้ชาติรัฐปัตตานีซึ่งมีพฤติการณ์กระทำความผิดเกี่ยวกับการแบ่งแยกดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยทำการก่อการร้ายใช้กำลังประทุษร้ายและฆ่าเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนในพื้นที่ เผาโรงเรียน วางระเบิดสถานที่ราชการ ร้านค้าและที่ชุมนุมชนต่าง ๆ อันเป็นคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งมาพักพิง หลบซ่อน สะสมกำลังพลและอาวุธที่เพิงพักที่เกิดเหตุ และร่วมกันครอบครองวัตถุพยานของกลางทั้งหมด การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงเป็นความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ฐานเป็นซ่องโจร ฐานสมคบกันเพื่อก่อการร้าย ฐานร่วมกันมีวัตถุระเบิดและเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตได้ไว้ในครอบครอง ฐานร่วมกันมียุทธภัณฑ์โดยไม่ได้รับอนุญาต ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนอาจออกใบอนุญาตได้ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานร่วมกันมีวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต สำหรับความผิดฐานเป็นซ่องโจร เป็นความผิดสำเร็จเมื่อมีการสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 ของประมวลกฎหมายอาญา และเมื่อผู้กระทำความผิดได้สะสมกำลังพลหรืออาวุธ จัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สิน ให้หรือรับการฝึกการก่อการร้าย หรือกระทำอื่นใดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 135/2 (2) จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันสะสมกำลังพลหรืออาวุธ จัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สินให้หรือรับการฝึกการก่อการร้าย ตระเตรียมการอื่นใด หรือสมคบกันเพื่อก่อการร้าย เมื่อจำเลยกับพวกมีเจตนาเดียวในการกระทำความผิดทั้งสองฐานนี้ จึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ซึ่งต้องลงโทษบทหนักฐานร่วมกันสะสมกำลังพลหรืออาวุธ จัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สิน ให้หรือรับการฝึกการก่อการร้าย ตระเตรียมการอื่นใด หรือสมคบกันเพื่อก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาในปัญหานี้ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
สำหรับจำเลยที่ 2 นั้น โจทก์มีผลการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมของจำเลยที่ 2 ที่ตรงกับสารพันธุกรรมของบุคคลที่เก็บได้จากผ้าผืนยาวสีชมพู – ขาว เป็นพยานหลักฐาน เห็นว่า พยานหลักฐานดังกล่าวคงรับฟังได้เพียงว่าจำเลยที่ 2 เคยสัมผัสกับผ้าดังกล่าว แต่ผ้าดังกล่าวมีสภาพเป็นผ้าผืนยาวคล้ายผ้าคลุมศีรษะของผู้หญิง โดยพันตำรวจโทมานิตย์พบผ้าดังกล่าวในเพิงพักหลังที่ 4 อยู่ในกล่องสีน้ำเงินหรือถุงพลาสติกสีแดงจำไม่ได้ ปะปนอยู่กับเสื้อซับในชุดชั้นในของผู้หญิงและกางเกงชั้นในผู้หญิง กำหนดจุดที่พบเป็นป้ายที่ 6 ดังนี้ ผ้าดังกล่าวจึงอาจไม่ใช่ของใช้ส่วนตัวของจำเลยที่ 2 ที่ใช้เป็นปกติประจำวันและอาจถูกบุคคลหนึ่งบุคคลใดนำไปไว้ที่เพิงพักที่เกิดเหตุหรือมีสาเหตุหนึ่งสาเหตุใดที่ทำให้ผ้าดังกล่าวไปอยู่ที่เพิงพักที่เกิดเหตุโดยจำเลยที่ 2 ไม่ทราบก็ได้ โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมานำสืบสนับสนุน ประกอบกับจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธตลอดมา พยานหลักฐานโจทก์ตกอยู่ในความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 2 เป็นสมาชิกขบวนการกู้ชาติรัฐปัตตานี โดยมาพักพิง หลบซ่อน สะสมกำลังพลและอาวุธที่เพิงพักที่เกิดเหตุหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ความผิดฐานร่วมกันทำและมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย ฐานร่วมกันมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย และฐานร่วมกันมียุทธภัณฑ์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันหรือไม่ ในข้อนี้ศาลชั้นต้นไม่ได้พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดฐานร่วมกันทำวัตถุระเบิดแสวงเครื่อง โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ ความผิดฐานดังกล่าวจึงเป็นอันยุติ คงมีปัญหาเพียงว่าความผิดฐานที่เหลือเป็นความผิดหลายกรรมหรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย และฐานมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย เป็นความผิดและระวางโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 78 ประกอบมาตรา 55 อันเป็นบทมาตราเดียวกัน และมาตรา 4 (2) ให้คำนิยามของคำว่า เครื่องกระสุนปืน หมายความรวมตลอดถึงลูกระเบิด กฎหมายถือว่าวัตถุต้องห้ามทั้งสองชนิดเป็นวัตถุประเภทเดียวกัน ส่วนความผิดฐานร่วมกันมียุทธภัณฑ์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งแม้เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง มาตรา 42 อันเป็นกฎหมายคนละฉบับกัน แต่สารเคมีชนิด PENTAERYTHRITOL TETRANITRATE (PETN) ที่สามารถใช้เป็นวัตถุระเบิด และสารเคมีชนิด AMMONIUM NITRATE ที่ใช้เป็นส่วนผสมของวัตถุระเบิด นอกจากเป็นยุทธภัณฑ์ตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 มาตรา 4 ประกอบประกาศกระทรวงกลาโหม เรื่อง กำหนดยุทธภัณฑ์ที่ต้องขออนุญาตตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2550 ข้อ 2 แล้ว ยังเป็นวัตถุระเบิดซึ่งนายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2522 ด้วย ดังนั้น วัตถุระเบิดและเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ และสารเคมีดังกล่าวจึงเป็นวัตถุต้องห้ามประเภทเดียวกัน เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุทั้งสามชนิดในขณะเดียวกัน การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาว่าความผิดฐานดังกล่าวเป็นกรรมเดียวมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานร่วมกันสะสมกำลังพลหรืออาวุธ จัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สิน ให้หรือรับการฝึกการก่อการร้าย ตระเตรียมการอื่นใด หรือสมคบกันเพื่อก่อการร้ายกับความผิดฐานเป็นซ่องโจร เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันสะสมกำลังพลหรืออาวุธ จัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สิน ให้หรือรับการฝึกการก่อการร้าย ตระเตรียมการอื่นใด หรือสมคบกันเพื่อก่อการร้ายซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 10 ปี เมื่อรวมกับโทษฐานอื่น ๆ ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 แล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีกำหนด 34 ปี ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share