แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า สาธารณูปโภคซึ่งผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินตามแผนผังและโครงการที่ได้รับอนุญาต เช่น ถนน สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น ให้ถือว่าตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร และให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์คนต่อไปที่จะบำรุงรักษากิจการดังกล่าวให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นโดยตลอดไปและจะกระทำการใดๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้ แม้ต่อมามี พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 3 ให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ แต่ในมาตรา 43 วรรคหนึ่ง ก็ยังคงบัญญัติไว้มีเนื้อความเช่นเดิม เมื่อประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่จำเลยได้รับอนุญาตจัดสรรที่ดินบัญญัติให้จำเลยผู้จัดสรรที่ดินมีหน้าที่ต้องบำรุงรักษาสาธารณูปโภคที่จัดให้มีขึ้นตามแผนผังและโครงการที่ได้รับอนุญาตให้คงสภาพดังเดิม และจะทำให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกไม่ได้ โดยไม่ได้มีบทบัญญัติให้จำเลยมีสิทธิเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายจากผู้ซื้อที่ดินจัดสรรไปบำรุงรักษาสาธารณูปโภค จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยต้องรับผิดชอบออกค่าใช้จ่ายเองจะเรียกเก็บเอาจากผู้ซื้อที่ดินจัดสรรไม่ได้ แม้จำเลยกับผู้ซื้อที่ดินจัดสรรมีข้อตกลงให้จำเลยมีสิทธินำเงินค่าส่วนกลาง ที่เรียกเก็บจากผู้ซื้อที่ดินจัดสรรในลักษณะเหมาจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาสาธารณูปโภค แต่เป็นข้อตกลงที่ฝ่าฝืนประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้ซื้อที่ดินจัดสรร อันเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่มีผลใช้บังคับ จำเลยเป็นผู้ครอบครองและเก็บรักษาเงินค่าส่วนกลาง กับนำไปชำระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อันเป็นข้อเท็จจริงที่อยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของจำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความถูกต้องของบัญชีสรุปรายรับ-รายจ่าย จึงตกแก่จำเลยตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 29 ในด้านรายรับ จำเลยบันทึกรายรับไม่ถูกต้อง จำเลยต้องนำเงินค่าบริการที่จัดเก็บล่วงหน้าไปรวมกับรายรับ คิดเป็นรายรับทั้งสิ้น 62,539,739 บาท และจำเลยไม่ได้นำเงิน 90,900 บาท ที่เรียกเก็บจาก ส. บันทึกไว้ในรายรับ นอกจากนี้ จำเลยนำเงินค่าส่วนกลางไปฝากไว้ที่ธนาคาร แต่ไม่ได้นำดอกเบี้ยสะสม 1,009,696.88 บาท ไปบันทึกรายรับ แม้โจทก์ไม่ได้มีคำขอส่วนนี้แต่เป็นกรณีที่จำนวนค่าส่วนกลางที่โจทก์เรียกร้องไม่ถูกต้อง ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 39 เมื่อรวมทั้งหมดแล้วคิดเป็นรายรับทั้งสิ้น 63,640,335.88 บาท ส่วนค่าส่วนกลางที่ยังเรียกเก็บไม่ได้อีก 17,970,672 บาท โจทก์ที่ 1 ต้องไปเรียกร้องเอาจากผู้ซื้อที่ดินจัดสรรจะเรียกให้จำเลยรับผิดชำระแทนไม่ได้ สำหรับเงินค่าส่วนกลาง 10,587,904.20 บาท ที่ฝ่ายโจทก์ฎีกาขอให้จำเลยร่วมออกสมทบ เนื่องจากจำเลยได้ใช้บริการสาธารณะร่วมกับผู้ซื้อที่ดินจัดสรรมาตั้งแต่เริ่มโครงการนั้น ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 มิได้มีบทบัญญัติให้ผู้จัดสรรที่ดินมีหน้าที่ต้องออกค่าใช้จ่ายในการบริการสาธารณะร่วมกับผู้ซื้อที่ดินจัดสรรทั้งจำเลยและผู้ซื้อที่ดินจัดสรรก็ไม่มีข้อตกลงกันเช่นว่านั้น ส่วน พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 47 ถึงมาตรา 50, 53 และมาตรา 70 วรรคสอง บัญญัติให้ผู้จัดสรรที่ดินต้องออกค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีและการบำรุงรักษาบริการสาธารณะ สำหรับที่ดินจัดสรรแปลงย่อยที่ยังไม่มีผู้ซื้อต่อเมื่อได้จัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรขึ้นแล้ว จึงไม่อาจกำหนดให้จำเลยชำระเงินในส่วนนี้ ในด้านรายจ่าย ค่าดูแลสวนสาธารณะและค่าซ่อมแซมสาธารณูปโภค เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการบำรุงรักษาสาธารณูปโภคให้มีสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้น เป็นหน้าที่ของจำเลยต้องรับผิดชอบออกค่าใช้จ่ายดังที่ได้วินิจฉัยมา จึงนำค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มาบันทึกเป็นรายจ่ายไม่ได้ สำหรับค่าบำรุงรักษาสโมสร จำเลยนำอาคารสโมสรและสระว่ายน้ำออกให้บุคคลภายนอกเช่าแต่ไม่ได้นำรายได้จากค่าเช่าสโมสรไปบันทึกเป็นรายรับ จึงไม่มีสิทธินำค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาสโมสรไปบันทึกเป็นรายจ่าย คงมีสิทธิเพียงนำค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการให้บริการสาธารณะ ได้แก่ ค่าจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัย พนักงานจัดเก็บขยะ กวาดถนน ค่ากระแสไฟฟ้าส่วนกลาง ค่าใช้จ่ายป้อมยามรักษาความปลอดภัยและสำนักงานโครงการรวมเป็นเงิน 22,341,467.67 บาท ไปหักออกจากเงินค่าส่วนกลางเท่านั้น จำเลยส่งคืนให้โจทก์ที่ 1 แล้ว 10,637,319 บาท คงเหลือเงินค่าส่วนกลางที่จำเลยต้องส่งคืนให้โจทก์ที่ 1 อีกจำนวน 30,661,549.21 บาท จำเลยจะปฏิเสธการส่งคืนโดยอ้างว่ามีข้อตกลงให้เรียกเก็บในลักษณะเหมาจ่ายหาได้ไม่ แต่จำเลยไม่ต้องส่งมอบเงินสมทบค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภคเพราะตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ไม่ได้มีบทบัญญัติให้ผู้จัดสรรที่ดินต้องจัดหาสถาบันการเงินมาทำสัญญาค้ำประกันการบำรุงรักษาสาธารณูปโภค หรือต้องรับผิดชอบชำระเงินค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภคในอัตราร้อยละ 7 ของราคาก่อสร้างสาธารณูปโภคกลางของทางราชการให้แก่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร จึงไม่อาจนำ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 43 วรรคสองและมาตรา 44 วรรคสองตอนท้ายซึ่งประกาศใช้ภายหลังมาบังคับแก่จำเลยได้ สำหรับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมสะพานข้ามคลอง ปรากฏว่า คอสะพานข้ามคลองรางใหญ่ทรุดตัวค่อนข้างมาก ทำให้พื้นถนนบริเวณคอสะพานกับพื้นสะพานมีระดับต่างกัน จำเป็นต้องซ่อมแซมบำรุงรักษาให้คงสภาพการใช้งานได้โดยสะดวก จำเลยจึงต้องออกค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมบำรุงในส่วนนี้ เห็นสมควรกำหนดให้ 400,000 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมท่อระบายน้ำ จำเลยก่อสร้างไม่ถูกต้อง ทำให้ระบบระบายน้ำฝนออกจากถนนด้วยท่อระบายน้ำลงสู่คลองรางใหญ่ทำไม่ได้ตามโครงการจัดสรรที่จำเลยขออนุญาตไว้ จำเป็นต้องซ่อมแซมบำรุงรักษาให้ใช้งานได้ดังเดิมด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยเห็นสมควรกำหนดให้ 300,000 บาท สำหรับค่าซ่อมแซมถนน แม้ถนนจะทรุดตัวและมีระดับต่ำกว่าถนนประชาอุทิศ ส่วนหนึ่งเพราะถนนประชาอุทิศได้ปรับปรุงยกระดับให้สูงขึ้น ประกอบกับสภาพโดยทั่วไปของถนนยังอยู่ในสภาพดีและใช้สัญจรได้โดยสะดวก จึงไม่จำเป็นต้องปรับปรุงซ่อมแซม ส่วนค่าก่อสร้างผนังคอนกรีตทั้งสองด้านของถนน มิใช่ค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคที่จำเลยจัดให้มีขึ้นและมีหน้าที่ต้องบำรุงรักษาตามโครงการจัดสรรที่ดิน โจทก์จะเรียกร้องหาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสิบหกฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยส่งมอบเงิน 102,347,398 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสิบหก
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ที่ 9 ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 104,284,294 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2551 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งโจทก์ทั้งหมดได้รับการยกเว้นต่อศาลในนามของโจทก์ทั้งหมด โดยกำหนดค่าทนายความ 100,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 8 และที่ 10 ถึงที่ 16 และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 5,441,287.61 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2551 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นให้จำเลยรับผิดตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ที่ 1 ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 8 และที่ 10 ถึงที่ 16 และจำเลยฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร โดยมีโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 16 เป็นสมาชิก จำเลยประกอบธุรกิจจัดสรรที่ดิน เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2539 จำเลยได้รับอนุญาตจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 ในโครงการหมู่บ้านจัดสรรมัณฑนา และบุศรินทร์ ธนบุรีรมย์ เนื้อที่ประมาณ 327 ไร่ โดยรังวัดแบ่งที่ดินเป็นแปลงย่อยจำหน่าย 1,296 แปลง และจัดให้มีสาธารณูปโภค เช่น ถนนภาระจำยอมเข้าออกโครงการสู่ถนนประชาอุทิศยาว 611 เมตร ถนนซอย ท่อระบายน้ำ เสาไฟฟ้าและท่อประปา หลังจากนั้นจำเลยได้รับอนุญาตให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการจัดสรรที่ดิน 7 ครั้ง ภายใต้บังคับประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ต่อมาปี 2543 ได้มีพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 ใช้บังคับโดยมาตรา 3 ให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิบัติ ฉบับที่ 286 และจำเลยได้รับอนุญาตให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการจัดสรรที่ดินอีก 3 ครั้ง โดยนำที่ดินแปลงย่อยซึ่งมีขนาดใหญ่มารวมและจัดรูปแปลงใหม่ให้มีขนาดเล็กลง ทำให้ได้ที่ดินแปลงจำหน่ายเพิ่มขึ้น กับนำที่ดินแปลงจำหน่ายเฉพาะที่ดินมาเปลี่ยนแปลงประเภทเป็นสโมสรและสวนสาธารณะ แต่ที่ดินทั้งโครงการยังคงมีเนื้อที่เท่าเดิมตามที่ได้รับอนุญาตจัดสรรครั้งแรก แผนผังการจัดสรรที่ดินจึงเปลี่ยนแปลงไป โดยแบ่งที่ดินออกเป็น 7 ส่วน รังวัดแบ่งที่ดินเป็นแปลงย่อยจำหน่าย 1,376 แปลง จำหน่ายเฉพาะที่ดิน 527 แปลง บ้านเดี่ยวมัณฑนา ธนบุรีรมย์ พร้อมที่ดิน 276 แปลง ทาวน์เฮาส์บุศรินทร์ ธนบุรีรมย์ พร้อมที่ดิน 573 แปลง ที่ดินสาธารณูปโภค 15 แปลง แบ่งเป็นถนน 3 แปลง สวนสาธารณะ 4 แปลง โรงเรียนอนุบาล 3 แปลง สวนหย่อม 1 แปลง ถังบำบัดน้ำเสีย 4 แปลง ที่ดินบริการสาธารณะประเภทสโมสร 2 แปลง และจัดให้มีสาธารณูปโภค เช่น ถนนภาระจำยอมยาว 611 เมตร ซึ่งเป็นของบริษัทแอตแลนติก เรียลเอสเตท จำกัด มีระบบระบายน้ำโดยใช้ท่อระบายน้ำคอนกรีตเรียงขนานไปกับถนนทุกสายลงสู่คลองสาธารณประโยชน์ สำหรับโฉนดที่ดินเลขที่ 48077 และ 48979 จำเลยสร้างถนน ท่อระบายน้ำ และสะพานข้ามคลองรางใหญ่เป็นทางเข้าออกโครงการสู่ถนนประชาอุทิศความยาว 611 เมตร เดิมเป็นของนางแคทรีน เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2537 ได้ขายให้บริษัทแอตแลนติก เรียลเอสเตท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของจำเลย แล้วบริษัทดังกล่าวจดทะเบียนให้ที่ดินทั้งสองแปลงตกเป็นภาระจำยอมเรื่องทางเดิน ทางรถยนต์ ระบบไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ท่อระบายน้ำ ตลอดจนสาธารณูปโภคต่าง ๆ แก่ที่ดินข้างเคียงซึ่งเป็นของนางแคทรีนโดยไม่มีค่าตอบแทน วันที่ 7 กรกฎาคม 2537 บริษัทดังกล่าวจดทะเบียนให้ที่ดินทั้งสองแปลงตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินจัดสรรในโครงการ และวันที่ 29 ธันวาคม 2540 บริษัทดังกล่าวให้จำเลยเข้าถือกรรมสิทธิ์รวมโดยมีค่าตอบแทนในที่ดินโฉนดเลขที่ 48077 จำนวน 2,176.8 ส่วนใน 2,196.8 ส่วน และที่ดินโฉนดเลขที่ 48079 จำนวน 197.7 ส่วนใน 217.7 ส่วน เมื่อโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 16 และประชาชนทั่วไปซื้อบ้านพร้อมที่ดินจัดสรรแล้วจำเลยเรียกเก็บเงินค่าส่วนกลางจากผู้ซื้อที่ดินจัดสรรตลอดมาจนกระทั่งจัดตั้งโจทก์ที่ 1 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2548 ต่อมาเมื่อจดทะเบียนจัดตั้งโจทก์ที่ 1 แล้ว วันที่ 11 มีนาคม 2548 และวันที่ 21 ตุลาคม 2548 จำเลยคืนเงินค่าส่วนกลางโครงการหมู่บ้านจัดสรรมัณฑนา ธนบุรีรมย์ ที่จำเลยเก็บจากลูกบ้านไปล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2548 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2549 จำนวน 10,637,319 บาท และเงินคงเหลือจากการบริหารโครงการหมู่บ้านจัดสรรบุศรินทร์ ธนบุรีรมย์ 2,034,462.55 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 1 วันที่ 21 มีนาคม 2548 โจทก์ที่ 1 และจำเลยตกลงกันว่าจำเลยจะเสนอรายรับ-รายจ่ายให้โจทก์ที่ 1 ทราบในวันที่ 24 มีนาคม 2548 และจะส่งสำเนาเอกสารยืนยันการจ่ายค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ใบเสร็จรับเงิน ให้โจทก์ที่ 1 ตรวจสอบภายในวันที่ 5 เมษายน 2549 ครบกำหนดแล้วจำเลยเพิกเฉย หลังจากนั้นวันที่ 16 พฤศจิกายน 2548 จำเลยจดทะเบียนโอนสาธารณูปโภคให้โจทก์ที่ 1 ยกเว้นที่ดินสองแปลงซึ่งใช้ก่อสร้างถนน ท่อระบายน้ำ และสะพานเข้าออกโครงการสู่ถนนประชาอุทิศ ก่อนฟ้อง ฝ่ายโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระเงินค่าส่วนกลางและค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาสาธารณูปโภค กับเงินค้ำประกันการบำรุงรักษาสาธารณูปโภคแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่ฝ่ายโจทก์และจำเลยได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า จำเลยต้องชำระเงินค่าส่วนกลางแก่โจทก์ที่ 1 หรือไม่ เพียงใด ในปัญหาว่าจะนำค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภคมารวมเป็นค่าใช้จ่ายได้หรือไม่นั้น เห็นว่า ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “สาธารณูปโภคซึ่งผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินตามแผนผังและโครงการที่ได้รับอนุญาต เช่น ถนน สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น ให้ถือว่าตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร และให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์คนต่อไปที่จะบำรุงรักษากิจการดังกล่าวให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นโดยตลอดไปและจะกระทำการใดๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้” แม้ต่อมามีพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 3 ให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ แต่ในมาตรา 43 วรรคหนึ่ง ก็ยังคงบัญญัติไว้มีเนื้อความเช่นเดิม เมื่อประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่จำเลยได้รับอนุญาตจัดสรรที่ดินบัญญัติให้จำเลยผู้จัดสรรที่ดินมีหน้าที่ต้องบำรุงรักษาสาธารณูปโภคที่จัดให้มีขึ้นตามแผนผังและโครงการที่ได้รับอนุญาตให้คงสภาพดังเดิม และจะทำให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกไม่ได้ โดยมิได้มีบทบัญญัติให้จำเลยมีสิทธิเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายจากผู้ซื้อที่ดินจัดสรรไปบำรุงรักษาสาธารณูปโภคเช่นนี้ จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยต้องรับผิดชอบออกค่าใช้จ่ายเองจะเรียกเก็บเอาจากผู้ซื้อที่ดินจัดสรรไม่ได้ แม้จะได้ความว่าจำเลยกับผู้ซื้อที่ดินจัดสรรมีข้อตกลงให้จำเลยมีสิทธินำเงินค่าส่วนกลาง ที่เรียกเก็บจากผู้ซื้อที่ดินจัดสรรในลักษณะเหมาจ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาสาธารณูปโภค อันเป็นข้อตกลงที่คู่กรณีมีอิสระในการแสดงเจตนาต่อกัน แต่การแสดงเจตนาทำข้อตกลงดังกล่าวต้องไม่ฝ่าฝืนหรือแตกต่างกับบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ข้อตกลงที่กำหนดให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรออกค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาสาธารณูปโภคเท่ากับเป็นการผลักภาระหน้าที่และความรับผิดชอบของจำเลยในการบำรุงรักษาสาธารณูปโภคไปให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรโดยปริยาย ย่อมเป็นการฝ่าฝืนประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้ซื้อที่ดินจัดสรร อันเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่มีผลใช้บังคับ จำเลยจึงไม่มีสิทธินำค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการบำรุงรักษาสาธารณูปโภคไปหักออกจากเงินค่าส่วนกลางที่เรียกเก็บจากผู้ซื้อที่ดินจัดสรร คงมีสิทธิเพียงนำค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการให้บริการสาธารณะ เช่น ค่ากระแสไฟฟ้าส่วนกลาง ค่าจ้างรักษาความปลอดภัย กวาดถนน จัดเก็บขยะ เงินเดือนค่าจ้างพนักงานเก็บเงิน จัดทำบัญชี และควบคุมดูแลการให้บริการสาธารณะต่างๆ ประจำสำนักงานโครงการไปหักออกจากเงินค่าส่วนกลางเท่านั้น และเมื่อมีเงินค่าส่วนกลางเหลือจ่ายก็ต้องส่งคืนให้โจทก์ที่ 1 จะปฏิเสธการส่งคืนโดยอ้างว่ามีข้อตกลงให้เรียกเก็บในลักษณะเหมาจ่ายหาได้ไม่ สำหรับบัญชีสรุปรายรับ-รายจ่ายเฉพาะโครงการมัณฑนา ธนบุรีรมย์ ฝ่ายโจทก์โต้แย้งความถูกต้องของบัญชี จำเลยเป็นผู้ครอบครองและเก็บรักษาเงินค่าส่วนกลาง กับนำไปชำระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อันเป็นข้อเท็จจริงที่อยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของจำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความถูกต้องของบัญชีรายรับ-รายจ่าย จึงตกแก่จำเลยตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 29
กรณีเงินค่าส่วนกลางที่จำเลยคืนให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 10,637,319 บาท เมื่อพิเคราะห์บัญชีสรุปรายรับ-รายจ่าย แล้ว จำเลยนำเงินค่าบริการที่จัดเก็บล่วงหน้าไปคิดรวมกับรายจ่าย แล้วนำไปหักออกจากรายรับ คงเหลือเงิน 5,441,287.61 บาท ซึ่งไม่ถูกต้อง ที่ถูก ต้องนำเงินค่าบริการที่จัดเก็บล่วงหน้าไปรวมกับรายรับ คิดเป็นรายรับทั้งสิ้น 62,539,739 บาท แล้วหักด้วยรายจ่าย 35,823,813.39 บาท คงเหลือเงิน 26,715,925.61 บาท นอกจากนี้รายจ่ายทั้งแปดรายการที่จำเลยบันทึกไว้มีรายจ่ายบางรายการที่เกิดจากการบำรุงรักษาสาธารณูปโภครวมอยู่ด้วย ซึ่งจะนำไปคิดหักออกจากเงินค่าส่วนกลางไม่ได้ดังที่ได้วินิจฉัยมา บัญชีสรุปรายรับ-รายจ่าย คลาดเคลื่อนไม่ถูกต้องเชื่อถือไม่ได้ จึงต้องพิจารณาจากรายละเอียดการรับชำระเงินและใบเสร็จรับเงินค่าใช้จ่ายต่างๆ ประกอบพยานหลักฐานอื่นในสำนวน
ในด้านรายรับ เมื่อตรวจดูเอกสารไม่ปรากฏว่าจำเลยนำเงินที่เรียกเก็บจากนายสมนึกไปรวมเป็นรายรับ ซึ่งนายจำลองก็เบิกความตอบคำถามค้านยอมรับความในข้อนี้ แต่ได้นำเงินที่นายชัชวัสส์ชำระไปรวมเป็นรายรับ แล้ว แสดงว่าจำเลยไม่ได้นำเงินที่เรียกเก็บจากนายสมนึกไปบันทึกไว้ในรายรับเท่านั้น นอกจากนี้รายรับในส่วนที่เป็นดอกเบี้ยของต้นเงินค่าส่วนกลาง จำเลยนำเงินค่าส่วนกลางไปฝากไว้ที่ธนาคาร แต่จำเลยไม่ได้นำดอกเบี้ยสะสม 1,009,696.88 บาท ไปบันทึกเป็นรายรับในบัญชี ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจึงเป็นดอกผลนิตินัยของเงินค่าส่วนกลางซึ่งต้องนำไปบันทึกไว้เป็นรายรับเช่นกัน แม้โจทก์ไม่ได้มีคำขอส่วนนี้แต่เป็นกรณีที่จำนวนค่าส่วนกลางที่โจทก์เรียกร้องไม่ถูกต้อง ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 39 เมื่อรวมเงินที่เรียกเก็บจากนายสมนึก 90,900 บาท ดอกเบี้ยจากเงินค่าส่วนกลาง 1,009,696.88 บาท และยอดเงินที่เรียกเก็บจากผู้ซื้อที่ดินจัดสรร 51,902,420 บาท แล้วเป็นเงิน 53,003,016.88 บาท รวมกับเงินที่จำเลยคืนให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 10,637,319 บาท คิดเป็นรายรับทั้งสิ้น 63,640,335.88 บาท ส่วนที่ฝ่ายโจทก์ฎีกาขอให้จำเลยชำระเงินค่าส่วนกลางที่ยังเรียกเก็บไม่ได้อีก 17,970,672 บาท เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความตามที่ฝ่ายโจทก์อ้าง แต่การชำระเงินค่าส่วนกลางหรือค่าบริการสาธารณะในอัตราที่เหมาะสมและเป็นธรรมตามที่คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางให้ความเห็นชอบ เป็นหน้าที่ของผู้ซื้อที่ดินจัดสรรทุกคนจะอ้างว่าจำเลยไม่ยอมให้ตรวจสอบบัญชีรายรับ-รายจ่ายมาเป็นเหตุผลปฏิเสธการชำระเงินค่าส่วนกลางไม่ได้ เป็นเรื่องที่ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรจะต้องไปร้องเรียนหรือดำเนินการทางอื่น ดังนั้นเงินค่าส่วนกลางที่ยังเรียกเก็บไม่ได้นี้ โจทก์ที่ 1 ต้องไปเรียกร้องเอาจากผู้ซื้อที่ดินจัดสรรจะเรียกให้จำเลยรับผิดชำระแทนไม่ได้ สำหรับเงินค่าส่วนกลาง 10,587,904.20 บาท ที่ฝ่ายโจทก์ฎีกาขอให้จำเลยร่วมออกสมทบ เนื่องจากจำเลยได้ใช้บริการสาธารณะร่วมกับผู้ซื้อที่ดินจัดสรรมาตั้งแต่เริ่มโครงการ เช่น พนักงานรักษาความปลอดภัยต้องคอยดูแลทรัพย์สินสิ่งก่อสร้างของจำเลย และพนักงานทำความสะอาดถนนต้องเก็บกวาดเศษวัสดุก่อสร้างที่จำเลยก่อสร้างบ้านจัดสรรขายนั้น ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 มิได้มีบทบัญญัติให้ผู้จัดสรรที่ดินมีหน้าที่ต้องออกค่าใช้จ่ายในการบริการสาธารณะร่วมกับผู้ซื้อที่ดินจัดสรรทั้งจำเลยและผู้ซื้อที่ดินจัดสรรก็ไม่มีข้อตกลงกันเช่นว่านั้น ส่วนพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 47 ถึงมาตรา 50, 53 และมาตรา 70 วรรคสอง บัญญัติให้ผู้จัดสรรที่ดินต้องออกค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีและการบำรุงรักษาบริการสาธารณะ สำหรับที่ดินจัดสรรแปลงย่อยที่ยังไม่มีผู้ซื้อต่อเมื่อได้จัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรขึ้นแล้ว จึงไม่อาจกำหนดให้จำเลยชำระเงินในส่วนนี้ตามฎีกาของฝ่ายโจทก์ได้
ในด้านรายจ่าย เห็นว่า ค่าดูแลสวนสาธารณะและค่าซ่อมแซมสาธารณูปโภค เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการบำรุงรักษาสาธารณูปโภคให้มีสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้น ย่อมเป็นหน้าที่ของจำเลยต้องรับผิดชอบออกค่าใช้จ่ายดังที่ได้วินิจฉัยมา จึงนำค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มาบันทึกเป็นรายจ่ายไม่ได้ สำหรับค่าบำรุงรักษาสโมสร ก่อนจำเลยจะโอนที่ดินซึ่งใช้ก่อสร้างสโมสรให้โจทก์ที่ 1 จำเลยนำอาคารสโมสรและสระว่ายน้ำไปทำสัญญาให้บุคคลภายนอกเช่าในอัตราเดือนละ 5,000 บาท มีกำหนด 3 ปี นับแต่วันที่ 1 กันยายน 2546 แล้วเปิดให้บริการแก่ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรโดยเรียกเก็บค่าใช้บริการ ซึ่งตามสัญญาเช่า ข้อ 5.1 กำหนดว่าผู้เช่ามีหน้าที่ต้องบำรุงรักษาทรัพย์สินที่เช่าด้วยค่าใช้จ่ายของผู้เช่าเองเพื่อให้ทรัพย์สินที่เช่ามีสภาพดีอยู่เสมอ หากเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เช่าผู้เช่าต้องออกค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมและบำรุงรักษาเอง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยนำรายได้จากค่าเช่าสโมสรไปบันทึกเป็นรายรับ แสดงว่าจำเลยนำสโมสรไปจัดหาผลประโยชน์เป็นส่วนตัว จึงไม่มีสิทธินำค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาสโมสรไปบันทึกเป็นรายจ่ายได้ จำเลยต้องไปเรียกร้องเอาจากผู้เช่าสโมสรเอง ส่วนใบเสร็จรับเงินค่าใช้จ่ายส่วนกลาง นั้น เมื่อตรวจดูใบเสร็จรับเงินและบัญชีสรุปรายรับ-รายจ่าย แล้ว จำเลยนำเงินค่าส่วนกลางไปชำระ ค่าจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัย พนักงานจัดเก็บขยะ กวาดถนน ค่ากระแสไฟฟ้าส่วนกลาง ค่าใช้จ่ายป้อมยามรักษาความปลอดภัยและสำนักงานโครงการรวมเป็นเงิน 22,341,467.67 บาท ส่วนสำเนาใบเสร็จรับเงิน 118 ฉบับ น่าเชื่อว่าจำเลยถ่ายสำเนาเอกสารผิดพลาด ทำให้มีสำเนาใบเสร็จรับเงินบางส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับโครงการปะปนรวมเข้ามาในใบเสร็จรับเงิน 5 แฟ้ม ตามที่พยานจำเลยเบิกความ ดังนั้น ค่าใช้จ่ายที่ถูกต้องตั้งแต่ปี 2540 ถึง 2548 ซึ่งจำเลยต้องนำมาบันทึกเป็นรายจ่ายจึงคิดเป็นเงิน 22,341,467.67 บาท มิใช่ 35,823,813.38 บาท ดังที่จำเลยนำสืบ พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมาขัดแย้งแตกต่างกัน การคิดบัญชีรายรับ-รายจ่ายไม่ถูกต้อง บันทึกรายรับต่ำกว่าความจริงและบันทึกรายจ่ายสูงเกินจริง โดยไม่เปิดเผยรายละเอียดบัญชีรายรับ-รายจ่ายให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรและโจทก์ที่ 1 ทั้งบัญชีที่จัดทำขึ้นไม่ถูกต้องตามมาตรฐานระบบบัญชีจึงขาดความน่าเชื่อถือ พยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ตามภาระพิสูจน์ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยใช้จ่ายเงินค่าส่วนกลางที่เรียกเก็บจากผู้ซื้อที่ดินจัดสรรแล้วมีเงินเหลือจ่าย 5,441,287,61 บาท ดังที่อ้างมาในฎีกา แต่ฟังได้ว่าจำเลยเรียกเก็บเงินค่าส่วนกลางจากผู้ซื้อที่ดินจัดสรรตั้งแต่เริ่มโครงการจนกระทั่งจัดตั้งโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 63,640,335.88 บาท และได้นำเงินค่าส่วนกลางไปใช้จ่ายถูกต้องชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่ปี 2540 ถึง 2548 เป็นเงิน 22,341,467.67 บาท คงเหลือเงิน 41,298,868.21 บาท จำเลยส่งคืนให้โจทก์ที่ 1 แล้ว 10,637,319 บาท คงเหลือเงินค่าส่วนกลางที่จำเลยต้องส่งคืนให้โจทก์ที่ 1 อีก 30,661,549.21 บาท ฎีกาข้อนี้ของฝ่ายโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่ฝ่ายโจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาต่อไปว่าจำเลยต้องชำระเงินค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภคแก่โจทก์ที่ 1 หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า แม้ที่ดินทั้งสองแปลงตามโฉนดเลขที่ 48077 และ 48079 ที่จำเลยใช้ก่อสร้างถนน ท่อระบายน้ำและสะพานจะไม่ได้ระบุว่าเป็นที่ดินตามแผนผังโครงการจัดสรรที่ดินที่จำเลยได้รับอนุญาตแต่ในโครงการและวิธีการจัดสรรที่ดินตั้งแต่จำเลยได้รับอนุญาตจัดสรรที่ดินครั้งแรกและที่ได้รับอนุญาตให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการจัดสรรที่ดินครั้งต่อมาอีก 10 ครั้ง ระบุไว้ชัดเจนว่าจำเลยจัดสรรให้ถนนคอนกรีตยาว 611 เมตร เป็นสาธารณูปโภคในโครงการจัดสรรที่ดินและจดทะเบียนให้ตกอยู่ในภาระจำยอมแก่ที่ดินในโครงการตลอดมา ดังนั้นที่ดินทั้งสองแปลงที่จำเลยใช้ก่อสร้างถนน ท่อระบายน้ำ และสะพานย่อมตกเป็นสาธารณูปโภคที่จำเลยจัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดิน และตกอยู่ในภาระจำยอมโดยผลของกฎหมายเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรทุกแปลงในโครงการ กับเป็นหน้าที่ของจำเลยต้องบำรุงรักษาสาธารณูปโภคนี้ให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นโดยตลอดไปและจะกระทำการใดๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคหนึ่ง ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ส่วนการที่จำเลยจะพ้นจากหน้าที่บำรุงรักษาสาธารณูปโภค พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 ซึ่งใช้บังคับแทนประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 มีบทเฉพาะกาลบัญญัติไว้ในมาตรา 70 วรรคสามว่า “การพ้นจากความรับผิดในการบำรุงรักษาสาธารณูปโภคของผู้ได้รับใบอนุญาตหรือผู้รับโอนใบอนุญาตตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 หรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภค ให้นำมาตรา 44 มาใช้บังคับโดยอนุโลม” มาตรา 44 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “ผู้จัดสรรที่ดินจะพ้นจากหน้าที่บำรุงรักษาสาธารณูปโภคตามมาตรา 43 เมื่อได้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด ภายหลังจากครบกำหนดระยะเวลาที่ผู้จัดสรรที่ดินรับผิดชอบการบำรุงรักษาสาธารณูปโภคตามมาตรา 23 (5) แล้วตามลำดับ ดังต่อไปนี้ (1) ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรตามพระราชบัญญัตินี้หรือนิติบุคคลตามกฎหมายอื่น เพื่อรับโอนทรัพย์สินดังกล่าวไปจัดการและดูแลบำรุงรักษา…” และวรรคสองบัญญัติว่า “การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางกำหนดทั้งนี้ ต้องกำหนดให้ผู้จัดสรรที่ดินรับผิดชอบจำนวนค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภคส่วนหนึ่งด้วย” เห็นว่า การนำมาตรา 44 มาใช้บังคับย้อนหลังแก่จำเลยซึ่งได้รับอนุญาตให้จัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ต้องนำมาใช้บังคับโดยอนุโลมเท่านั้น เมื่อประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ข้อ 13 บัญญัติไว้เพียงว่า ให้ผู้จัดสรรที่ดินจัดหาสถาบันการเงินมาทำสัญญาค้ำประกันการจัดให้มีสาธารณูปโภคหรือบริการสาธารณะตามแผนผัง โครงการ และกำหนดเวลาที่ได้รับอนุญาต โดยมิได้มีบทบัญญัติให้ผู้จัดสรรที่ดินต้องจัดหาสถาบันการเงินมาทำสัญญาค้ำประกันการบำรุงรักษาสาธารณูปโภคที่ได้จัดให้มีขึ้นและยังอยู่ในความรับผิดชอบการบำรุงรักษา หรือต้องรับผิดชอบชำระเงินค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภคในอัตราร้อยละ 7 ของราคาก่อสร้างสาธารณูปโภคกลางของทางราชการให้แก่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรตามประกาศและระเบียบที่คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางกำหนด จึงนำพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 43 วรรคสอง และมาตรา 44 วรรคสองตอนท้าย ซึ่งประกาศใช้ในภายหลังมาบังคับแก่จำเลยโดยอนุโลมไม่ได้ สำหรับสะพานข้ามคลอง ปรากฏว่าคอสะพานบางด้านทรุดตัวค่อนข้างมาก ทำให้พื้นถนนบริเวณคอสะพานกับพื้นสะพานมีระดับต่างกัน จำเป็นต้องซ่อมแซมบำรุงรักษาให้คงสภาพการใช้งานได้โดยสะดวกดังเดิมซึ่งจำเลยต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น จึงเห็นสมควรกำหนดค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมบำรุงให้ 400,000 บาท ส่วนท่อระบายน้ำทั้งสองด้านของถนน ปรากฏว่าจำเลยก่อสร้างระบบระบายน้ำไม่ถูกต้อง ระบบระบายน้ำฝนออกจากถนนด้วยท่อระบายน้ำลงสู่คลองรางใหญ่จึงทำไม่ได้ตามโครงการจัดสรรที่ดินจำเลยขออนุญาตไว้ จำเป็นต้องซ่อมแซมบำรุงรักษาให้ใช้งานได้ดังเดิมด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลย เห็นสมควรกำหนดให้ 300,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 700,000 บาท สำหรับค่าซ่อมแซมถนน แม้ถนนจะทรุดตัวและมีระดับต่ำกว่าถนนประชาอุทิศ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะถนนประชาอุทิศได้ปรับปรุงยกระดับให้สูงขึ้น ประกอบกับตามสภาพโดยทั่วไปของถนนยังอยู่ในสภาพดีและใช้สัญจรได้โดยสะดวก จึงไม่จำเป็นต้องปรับปรุงซ่อมแซม ส่วนค่าก่อสร้างผนังคอนกรีตทั้งสองด้านของถนนมิใช่สาธารณูปโภคที่จำเลยจัดให้มีขึ้นและมีหน้าที่ต้องบำรุงรักษาตามโครงการจัดสรรที่ดิน จะเรียกร้องให้จำเลยออกค่าใช้จ่ายในการสร้างผนังคอนกรีตเพื่อป้องกันมิให้บุคคลภายนอกมาใช้ถนนและสะพานหาได้ไม่ ดังนั้นจำเลยต้องชำระเงินค่าส่วนกลาง 30,661,549.21 บาท และค่าซ่อมแซมสาธารณูปโภค 700,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 31,361,549.21 บาท แก่โจทก์ที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาข้อนี้ของฝ่ายโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 31,361,549.21 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่โจทก์ที่ 1 ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และฎีกาแทนฝ่ายโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 40,000 บาท สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมที่ฝ่ายโจทก์ได้รับยกเว้น ให้จำเลยนำมาชำระต่อศาลในนามของฝ่ายโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ชำระเท่าทุนทรัพย์ที่ฝ่ายโจทก์ชนะคดีในชั้นฎีกานอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์