แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 แจ้งรหัสผ่านของตนให้โจทก์ที่ 1 แล้วโจทก์ที่ 1 ใช้รหัสผ่านนั้นบันทึกเวลาเข้าทำงานแทนโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ในโปรแกรม Hris ของจำเลยซึ่งเป็นระบบออนไลน์ ข้อมูลที่บันทึกถูกเก็บรวมกันไว้ทั้งประเทศ
การใช้รหัสผ่านเป็นการยืนยันว่าผู้ใช้รหัสผ่านเป็นใคร ผู้ใช้รหัสผ่านนั้นอยู่ ณ จุดที่ป้อนข้อมูลลงเวลาทำงานเมื่อเวลา วัน เดือน ปีใด ผู้ป้อนข้อมูลเข้าโปรแกรมจึงต้องซื่อตรงต่อตนเองในการป้อนรหัสผ่านและข้อมูลด้วยตนเอง
การที่โจทก์ที่ 1 ใช้รหัสผ่านของโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ที่แจ้งไว้ป้อนข้อมูลลงเวลาเข้าทำงานแทนโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 แสดงว่าในขณะฟ้องข้อมูลโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ไม่ได้อยู่ ณ จุดที่ป้อนข้อมูล การยืนยันตัวด้วยการป้อนรหัสผ่านจึงเป็นเท็จ ข้อมูลเวลาเข้าทำงานของโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ก็เป็นข้อมูลเท็จเพราะโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ไม่ได้เข้าทำงานตามเวลา วัน เดือน ปี ที่ป้อนเข้าสู่โปรแกรมจริง โจทก์ทั้งสามร่วมกันกระทำการโดยไม่ซื่อตรงต่อตนเอง เมื่อข้อมูลเท็จถูกบันทึกไว้ในฐานข้อมูลของจำเลย การประมวลผลข้อมูลจากโปรแกรมจึงคลาดเคลื่อนบิดเบือนไปจากความจริงอันเกิดจากฐานข้อมูลเท็จ
จำเลยออกมาตรฐานความปลอดภัยระบบสารสนเทศแจ้งให้ลูกจ้างถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยกำหนดระดับชั้นความลับของรหัสผ่านเป็นระดับ “ลับ” และระบุว่ารหัสผ่านคือปัจจัยสำคัญของความปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์ เป็นด่านแรกในการป้องกันการเข้าถึงระบบสารสนเทศของจำเลย ต้องไม่เปิดเผยรหัสผ่านแก่ผู้อื่น สมาชิกครอบครัว หรือเพื่อนร่วมงาน อันเป็นการกำหนดเพื่อความปลอดภัยของข้อมูลที่บันทึกในฐานข้อมูลของจำเลยทั้งในด้านตัวผู้ใช้งานต้องเป็นเจ้าของรหัสผ่านเอง และป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าถึงฐานข้อมูลด้วยการที่ผู้ใช้งานต้องใช้รหัสผ่าน ทั้งนี้เพื่อรักษาความปลอดภัยของฐานข้อมูล ด้วยความสำคัญของรหัสผ่านและความถูกต้องของฐานข้อมูล การกระทำของโจทก์ทั้งสามจึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของจำเลยอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมในกรณีร้ายแรง
ย่อยาว
คดีทั้งสามสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และให้เรียกจำเลยทั้งสามสำนวนว่าจำเลย
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ละคน
จำเลยทั้งสามสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ฟังข้อเท็จจริงยุติว่า จำเลยประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ เดิมโจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างหรือพนักงานของธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) ต่อมาธนาคารดังกล่าวควบรวมกิจการกับธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) หลังจากนั้นธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ขายกิจการให้จำเลย จำเลยจึงรับโอนการจ้างโจทก์ทั้งสามมาเป็นลูกจ้างของจำเลยตามสัญญาโอนการจ้างจึงถือว่าโจทก์ที่ 1 เริ่มทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2539 โจทก์ที่ 2 เริ่มทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2538 โจทก์ที่ 3 เริ่มทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2540 โจทก์ที่ 1 ทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่การตลาดลูกค้ารายย่อย สาขาราชวงศ์ โจทก์ที่ 2 ทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่การตลาดลูกค้ารายย่อยอาวุโส สาขาราชวงศ์ โจทก์ที่ 3 ทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการสินเชื่อรายย่อย สำนักงานใหญ่หรืออาคารสวนมะลิ วันและเวลาทำงานปกติของจำเลยคือวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 8.30 ถึง 17 นาฬิกา โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยต้องบันทึกเวลาเข้าทำงานและเลิกงานในระบบคอมพิวเตอร์โปรแกรม Hris ลูกจ้างของจำเลยทุกคนรวมทั้งโจทก์ทั้งสามได้รับรหัสผ่าน (Password) ประจำตัวของแต่ละคนเพื่อใช้เปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ และยังได้รับรหัสผ่านอีกชุดหนึ่งสำหรับบันทึกเวลาเข้าทำงานและเลิกงาน รหัสผ่านดังกล่าวสามารถดูข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ได้เฉพาะในเรื่องการบันทึกเวลาเข้าทำงาน เวลาเลิกงาน ประวัติส่วนตัวของลูกจ้าง เช่น ประวัติการศึกษา ประวัติการทำงาน หรือวันลาทุกประเภท แต่ไม่สามารถดูข้อมูลในส่วนอื่น ๆ ของจำเลย ลูกจ้างต้องใช้รหัสผ่านของแต่ละคนเพื่อบันทึกเวลาเข้าทำงานในโปรแกรม Hris แล้วบันทึกข้อมูลคือเวลาเข้าทำงานเป็นสัญลักษณ์ถูก เพื่อระบุว่าได้เข้าทำงานแล้ว เครื่องคอมพิวเตอร์จะระบุเวลาที่ดำเนินการดังกล่าวไว้ แสดงให้เห็นว่าลูกจ้างผู้นั้นเข้าทำงานเมื่อเวลาใด ลูกจ้างที่ทำงานอยู่ที่สาขาหนึ่ง หากรู้รหัสผ่านของลูกจ้างที่ทำงานสาขาอื่นก็อาจบันทึกเวลาเข้าทำงานแทนให้แก่ลูกจ้างสาขาอื่นได้ ทั้งนี้เพราะข้อมูลถูกเก็บไว้ในระบบคอมพิวเตอร์รวมกันทั้งประเทศ เมื่อวันที่ 2, 4, 24 ตุลาคม 2555 วันที่ 15 พฤศจิกายน 2555 วันที่ 4 ธันวาคม 2555 วันที่ 22 มกราคม 2556 วันที่ 4, 12 กุมภาพันธ์ 2556 วันที่ 5, 18 มีนาคม 2556 และวันที่ 18 เมษายน 2556 โจทก์ที่ 3 โทรศัพท์ถึงโจทก์ที่ 1 บอกรหัสผ่านประจำตัวของตนให้โจทก์ที่ 1 ทราบ ให้โจทก์ที่ 1 บันทึกเวลาเข้าทำงานแทนโจทก์ที่ 3 และโจทก์ที่ 1 บันทึกเวลาเข้าทำงานแทนโจทก์ที่ 3 ในวันดังกล่าวรวม 11 ครั้ง โดยในวันดังกล่าวโจทก์ที่ 3 เข้าทำงานไม่ทันกำหนดเวลา ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556 โจทก์ที่ 2 โทรศัพท์แจ้งรหัสผ่านของตนให้โจทก์ที่ 1 ทราบ ให้โจทก์ที่ 1 บันทึกเวลาเข้าทำงานแทนโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 1 บันทึกเวลาเข้าทำงานแทนโจทก์ที่ 2 ในวันดังกล่าว 1 ครั้ง โดยโจทก์ที่ 2 เข้ามาที่สาขาราชวงศ์เวลา 11.49 นาฬิกา ต่อมาวันที่ 16 กันยายน 2556 จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามให้มีผลตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 2556 ตามหนังสือเลิกจ้าง แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสามรู้ระเบียบทรัพยากรบุคคลที่กำหนดให้ลูกจ้างต้องบันทึกเวลาทำงานด้วยตัวเอง ลูกจ้างผู้ไม่บันทึกเวลาทำงานด้วยตัวเองหรือผู้บันทึกเวลาทำงานแทนผู้อื่นถือเป็นการทุจริตอย่างร้ายแรง รหัสผ่านสำหรับบันทึกเวลาทำงานเป็นความลับ จำเลยเห็นว่าการบันทึกเวลาทำงานด้วยตัวเองเป็นเรื่องสำคัญที่ลูกจ้างต้องถือปฏิบัติ การบันทึกเวลาทำงานเป็นหลักฐานในการจ่ายค่าจ้าง พิจารณาขึ้นค่าจ้าง ความดีความชอบประจำปี และเลื่อนตำแหน่งให้ลูกจ้าง หากจำเลยไม่เคร่งครัดในเรื่องการบันทึกเวลาเข้าทำงานของลูกจ้างย่อมเกิดความยุ่งยากในการปกครอง โจทก์ทั้งสามปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเงินการธนาคารต้องยึดถือความซื่อสัตย์เป็นพื้นฐานในการปฏิบัติหน้าที่เป็นสำคัญ การที่โจทก์ทั้งสามร่วมกันดำเนินการบันทึกเวลาเข้าทำงานแทนกันและไม่ได้บันทึกเวลาเข้าทำงานด้วยตนเองส่อไปในทางไม่สุจริต เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างอย่างร้ายแรง เป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุผลและเป็นธรรม จำเลยไม่ต้องบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้า พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันได้ความว่า จำเลยไม่ได้มองความเสียหายที่เกิดจากการบันทึกเวลาเข้าทำงานแทนกันเป็นตัวเงิน การที่โจทก์ทั้งสามบันทึกเวลาเข้าทำงานแทนกันไม่ปรากฏว่าก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย และโจทก์ทั้งสามไม่มีเจตนาทำให้จำเลยเสียหาย การบันทึกเวลาเข้าทำงานเป็นหน้าที่ของลูกจ้างทุกคนที่ต้องปฏิบัติ ถึงเวลาเลิกงานแล้วหากลูกจ้างคนใดยังมีหน้าที่ต้องปฏิบัติงานให้เสร็จก็อยู่ปฏิบัติงานให้เสร็จสิ้นได้ การทำงานนอกเวลาเช่นนี้ไม่มีการขออนุมัติเบิกค่าล่วงเวลา ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของลูกจ้างคนนั้นเพื่อให้งานของตนเองเสร็จสิ้นสมบูรณ์ วันที่โจทก์ที่ 1 บันทึกเวลาเข้าทำงานแทนโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ก็เข้าทำงานในวันนั้น ๆ ด้วย โปรแกรม Hris ที่ใช้บันทึกเวลาเข้าทำงานและเวลาเลิกงานของลูกจ้างเป็นระบบออนไลน์ลูกจ้างใช้คอมพิวเตอร์จากสาขาใดก็ได้ป้อนรหัสผ่านของตนเองก็ลงเวลาในระบบได้ จำเลยได้รับบัตรสนเท่ห์ว่ามีการบันทึกเวลาเข้าทำงานแทนโจทก์ที่ 3 จึงตรวจสอบแล้วพบว่าโจทก์ที่ 3 ทำงานที่สำนักงานใหญ่ แต่ข้อมูลในระบบสารสนเทศระบุว่ามีการบันทึกเวลาเข้าทำงานโจทก์ที่ 3 ที่สาขาราชวงศ์ เมื่อตั้งกรรมการสอบสวนการกระทำของโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 3 จึงพบการกระทำของโจทก์ที่ 2 ด้วย กรณีนี้หากไม่มีบัตรสนเท่ห์ร้องเรียนจำเลยก็ไม่สามารถตรวจสอบการกระทำการเข้าถึงข้อมูลของผู้เป็นเจ้าของรหัสผ่านที่ไม่ถูกต้องของโจทก์ทั้งสามได้ มีการเปลี่ยนรหัสผ่านทุก 90 วัน เพื่อป้องกันความลับ
มีปัญหาวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสามกระทำการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานระเบียบ หรือคำสั่งของจำเลยกรณีร้ายแรงหรือไม่ จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสามหรือไม่ เห็นว่า การบันทึกเวลาเข้าทำงานในโปรแกรม Hris ซึ่งเป็นระบบออนไลน์ ข้อมูลที่บันทึกถูกเก็บรวมกันไว้ทั้งประเทศ ความสำคัญจึงอยู่ที่รหัสผ่านประจำตัวของผู้เข้าสู่โปรแกรมเพื่อบันทึกข้อมูลเวลาเข้าทำงาน อันเป็นการยืนยันว่าผู้ใช้รหัสผ่านเป็นใคร ผู้ใช้รหัสผ่านนั้นอยู่ ณ จุดที่ป้อนข้อมูลลงเวลาทำงานเมื่อเวลา วัน เดือน ปีใด ผู้ป้อนข้อมูลเข้าโปรแกรมจึงต้องซื่อตรงต่อตนเองในการป้อนรหัสผ่านและข้อมูลด้วยตนเอง ข้อมูลที่ป้อนเข้าโปรแกรมจะไปบันทึกรวมไว้กับข้อมูลของลูกจ้างของจำเลยทั้งประเทศในฐานข้อมูล การที่โจทก์ที่ 1 ใช้รหัสผ่านของโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ป้อนข้อมูลเข้าทำงานแทนโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 แสดงว่าโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ไม่ได้อยู่ ณ จุดที่ป้อนข้อมูลลงเวลาทำงานในขณะที่มีการป้อนข้อมูล การยืนยันตัวด้วยการป้อนรหัสผ่านจึงเป็นเท็จเพราะโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 เจ้าของรหัสผ่านไม่ได้เป็นผู้ป้อนรหัสผ่าน ทั้งไม่ได้อยู่ ณ จุดที่ป้อนข้อมูลลงเวลาทำงาน ข้อมูลเวลาเข้าทำงานของโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 จึงเป็นข้อมูลเท็จ เพราะโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ไม่ได้เข้าทำงานตามเวลา วัน เดือน ปีที่ป้อนเข้าสู่โปรแกรมจริง ทั้งนี้โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 เป็นผู้แจ้งรหัสผ่านให้โจทก์ที่ 1 ดำเนินการป้อนข้อมูลให้ โจทก์ทั้งสามร่วมกันกระทำดังกล่าวโดยไม่ซื่อตรงต่อตนเอง เมื่อข้อมูลเท็จถูกบันทึกไว้ในฐานข้อมูลของจำเลย การประมวลผลข้อมูลจากโปรแกรมจึงคลาดเคลื่อนบิดเบือนไปจากความเป็นจริงอันเกิดจากฐานข้อมูลที่เป็นจริง ตามมาตรฐานความปลอดภัยระบบสารสนเทศที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุคดีนี้ ในส่วนประกาศของจำเลยระบุว่า ข้อมูลสารสนเทศของจำเลยเป็นทรัพย์สิน ให้ลูกจ้าง (พนักงาน) ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด แสดงว่าจำเลยให้ความสำคัญต่อข้อมูลสารสนเทศที่ลูกจ้างต้องถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ในมาตรฐานความปลอดภัยระบบสารสนเทศจำเลยกำหนดระดับชั้นความลับของข้อมูลสารสนเทศระดับ “ลับ” เป็นลำดับที่รองจากระดับสูงสุดคือระดับ “ลับมาก” เท่านั้น ซึ่งข้อมูลสารสนเทศระดับ “ลับ” มีหลักการและระดับการเข้าถึงที่ระบุว่าเป็นข้อมูลที่ต้องถูกนำมาประมวลผล เฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้นที่สามารถดำเนินการกับข้อมูลระดับนี้ได้ ซึ่งหมายถึงการจัดเก็บทางอิเล็กทรอนิกส์อันรวมถึงฐานข้อมูลด้วย ต้องมีการป้องกันเพื่อไม่ให้ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์หรือเป็นภัยต่อจำเลย ให้มีกระบวนการป้องกันเช่นรหัสประจำตัวผู้ใช้งาน/รหัสผ่าน รหัสผ่านคือปัจจัยสำคัญของความปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์ เป็นด่านแรกในการป้องกันการเข้าถึงระบบสารสนเทศของจำเลย รหัสผ่านจัดเป็นข้อมูลระดับ “ลับ” ต้องไม่เปิดเผยให้ผู้ใด รหัสผ่านต้องเปลี่ยนทุก ๆ 90 วัน ผู้ใช้งานต้องเปลี่ยนรหัสผ่านเมื่อสงสัยว่ารหัสผ่านอาจถูกเปิดเผยแก่ผู้อื่นรหัสผ่านต้องไม่ถูกเปิดเผยแก่ผู้อื่น สมาชิกครอบครัว หรือเพื่อนร่วมงาน อันเป็นการกำหนดมาตรฐานเพื่อความปลอดภัยของข้อมูลที่บันทึกในฐานข้อมูลของจำเลยทั้งในด้านตัวผู้ใช้งานต้องเป็นเจ้าของรหัสผ่านเอง และป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าถึงฐานข้อมูลด้วยการที่ผู้ใช้งานต้องใช้รหัสผ่าน รหัสผ่านจึงเป็นข้อมูลสำคัญที่จำเลยกำหนดเป็นข้อมูลระดับ “ลับ” ห้ามเปิดเผยแก่ผู้อื่น อีกทั้งต้องเปลี่ยนรหัสผ่านทุก 90 วัน และต้องเปลี่ยนรหัสผ่านแค่เพียงสงสัยว่ารหัสผ่านนั้นอาจเปิดเผยแก่ผู้อื่น ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาความปลอดภัยของฐานข้อมูล ด้วยความสำคัญของรหัสผ่านและความถูกต้องของฐานข้อมูลดังที่กล่าวมา การที่โจทก์ทั้งสามร่วมกันดำเนินการป้อนข้อมูลเท็จบันทึกเวลาเข้าทำงานของโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 โดยโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 เปิดเผยรหัสผ่านของตนแก่โจทก์ที่ 1 จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของจำเลยอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมในกรณีร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามโดยไม่ต้องตักเตือนก่อนและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคหนึ่ง (4) ไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรา 17 วรรคสี่ อีกทั้งจำเลยมีเหตุสมควรในการเลิกจ้างโจทก์ทั้งสาม ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน