คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10450-10452/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 2 ในฐานะพนักงานตรวจแรงงานว่าโจทก์ไม่จ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 64 และขอเรียกร้องให้โจทก์จ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีในช่วงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ทำงานติดต่อกันมาตลอดโดยมิได้หยุดพักผ่อนประจำปีและโจทก์มิได้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 มีวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังไม่ได้ใช้ 8.5 วัน จำเลยที่ 4 มีวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังไม่ได้ใช้ 6 วัน จำเลยที่ 5 มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี 6 วัน จึงเข้ากรณีที่โจทก์มิได้จัดให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ซึ่งเป็นลูกจ้างหยุดงานตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 30 จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 จึงมีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามมาตรา 64 ตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 2 ที่ 78/2550 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2550 และที่ 126/2550 ลงวันที่ 24 กันยายน 2550 มิใช่กรณีว่าจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 จะมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีหรือไม่ตามมาตรา 67 ที่จะต้องพิจารณาประกอบด้วยว่าโจทก์เลิกจ้างโดยจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 มิได้กระทำความผิดตามมาตรา 119 หรือไม่
ตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 2 ที่ 78/2550 และที่ 79/2550 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2550 กับคำสั่งที่ 126/2550 ลงวันที่ 24 กันยายน 2550 ไม่ปรากฏว่ามีคำสั่งให้โจทก์ชำระดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในต้นเงินที่โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระ โดยจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ก็ไม่ได้นำคดีมาสู่ศาลเพื่อฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานในส่วนดอกเบี้ยดังกล่าว คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานนั้นจึงเป็นที่สุดแล้วสำหรับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้โจทก์ชำระดอกเบี้ยของต้นเงินตามคำสั่งดังกล่าว จึงไม่ชอบ และที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่จำเลยที่ 3 ตามคำสั่งที่ 78/2550 ให้โจทก์คืนเงินที่หักจากค่าจ้างเดือนเมษายน 2550 แก่จำเลยที่ 5 เพียง 767.13 บาท แทนตามคำสั่งที่ 79/2550 โจทก์ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 และค่าโทรศัพท์แก่จำเลยที่ 4 ตามคำสั่งที่ 126/2550 เมื่อศาลแรงงานกลางเห็นว่าคำสั่งของจำเลยที่ 2 ตามคำสั่งที่ 78/2550 เฉพาะส่วนที่ให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่จำเลยที่ 3 ไม่ชอบ และคำสั่งที่ 79/2550 เฉพาะส่วนที่ให้โจทก์คืนเงินจำนวน 2,200 บาท ทั้งหมด ที่หักจากค่าจ้างเดือนเมษายน 2550 แก่จำเลยที่ 5 ไม่ชอบ และคำสั่งที่ 126/2550 เฉพาะส่วนที่ให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 และค่าโทรศัพท์แก่จำเลยที่ 4 ไม่ชอบ ศาลแรงงานกลางชอบที่จะเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 2 เฉพาะส่วนที่ไม่ชอบเท่านั้น ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวทั้งฉบับมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ชอบที่ศาลฎีกาจะแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งสามสำนวนว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เรียกจำเลยที่ 3 ในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 3 กับเรียกจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในสำนวนที่สองและสำนวนที่สามว่า จำเลยที่ 4 และที่ 5 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 2 ที่ 78/2550 และที่ 79/2550 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2550 กับคำสั่งที่ 126/2550 ลงวันที่ 24 กันยายน 2550 ให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ชดใช้ค่าเสียหาย 1,045,571 บาท และ 96,670 บาท ตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และพิพากษาว่าจำเลยที่ 4 ทุจริตต่อหน้าที่และกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่โจทก์ จำเลยที่ 4 และที่ 5 จงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายและฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของโจทก์อันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินตามคำสั่งพิพาทดังกล่าวแก่จำเลยที่ 4 และที่ 5
จำเลยทั้งห้าให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานกลาง โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลแรงงานกลางอนุญาต และจำเลยที่ 3 และที่ 4 สละประเด็นเรื่องฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4 เคลือบคลุม
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 2 ที่ 78/2550 กับที่ 79/2550 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2550 และคำสั่งที่ 126/2550 ลงวันที่ 24 กันยายน 2550 ให้โจทก์ชำระเงินแก่จำเลยที่ 3 จำนวน 19,733 บาท และจำนวน 12,126.91 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีและอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนตามลำดับ นับแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น ให้โจทก์ชำระเงินแก่จำเลยที่ 4 จำนวน 9,740 บาท และจำนวน 10,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันที่ 30 เมษายน 2550 และวันที่ 2 มิถุนายน 2550 ตามลำดับ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น กับเงินจำนวน 1,519.84 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น และให้โจทก์ชำระเงินแก่จำเลยที่ 5 จำนวน 767.13 บาท และจำนวน 11,629 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2550 และวันที่ 2 มิถุนายน 2550 ตามลำดับ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น กับเงินจำนวน 3,120 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น ส่วนคำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปรากฏข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันและที่ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2548 โจทก์จ้างจำเลยที่ 3 ทำงานตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขาย ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้าย เป็นเงินเดือนเดือนละ 70,000 บาท ค่าน้ำมันรถเดือนละไม่เกิน 10,000 บาท ค่ารับรองลูกค้าเดือนละไม่เกิน 10,000 บาท ค่าโทรศัพท์ไม่เกินเดือนละ 2,000 บาท โจทก์จัดหารถยนต์ให้จำเลยที่ 3 ใช้ทำงาน วันที่ 28 พฤศจิกายน 2548 โจทก์จ้างจำเลยที่ 4 ทำงานตำแหน่งพนักงานขายต่างจังหวัดประจำภาคกลางและภาคตะวันออก ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 14,000 บาท จำเลยที่ 4 ใช้รถยนต์ส่วนตัวในการทำงาน โจทก์ให้เบิกค่าน้ำมันรถเดือนละไม่เกิน 6,000 บาท ค่าโทรศัพท์เดือนละไม่เกิน 1,200 บาท และวันที่ 25 เมษายน 2549 โจทก์จ้างจำเลยที่ 5 ทำงานตำแหน่งพนักงานขายกรุงเทพมหานคร ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 15,000 บาท โจทก์ให้เบิกค่าน้ำมันรถเดือนละไม่เกิน 6,000 บาท ค่าโทรศัพท์เดือนละไม่เกิน 1,200 บาท ในกรณีที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ไปทำงานต่างจังหวัดมีสิทธิเบิกค่าที่พักและค่าอาหารโดยเขียนรายงานกำหนดการเดินทางเพื่อยืมเงินทดรองไปปฏิบัติงาน โดยต้องนำใบเสร็จรับเงินหักกลบลบกับเงินทดรองและสรุปค่าใช้จ่าย เดือนเมษายน 2550 โจทก์ลดเงินเดือนพนักงานขายลงกึ่งหนึ่งทำให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 ได้รับเงินเดือนเพียงเดือนละ 6,500 บาท เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2550 โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 3 และวันที่ 29 พฤษภาคม 2550 โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 4 และที่ 5 จำเลยที่ 2 มีคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 2 ที่ 78/2550 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2550 ให้โจทก์จ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 64 จำนวน 19,733 บาท ค่ารับรองลูกค้า 9,000 บาท ค่าซ่อมบำรุงรักษารถยนต์ 3,826.91 บาท ค่าชดเชย 209,999 บาท และค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 121,333 บาท แก่จำเลยที่ 3 กับมีคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 2 ที่ 79/2550 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2550 และที่ 126/2550 ลงวันที่ 24 กันยายน 2550 ให้โจทก์จ่ายค่าจ้างเดือนเมษายน 2550 จำนวน 7,500 บาท ค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 64 จำนวน 2,800 บาท เบี้ยเลี้ยง 2,240 บาท ค่าจ้างเดือนพฤษภาคม 2550 จำนวน 7,500 บาท ค่าโทรศัพท์ 1,200 บาท ค่าน้ำมันรถ 6,000 บาท ค่าชดเชย 42,000 บาท และค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 14,000 บาท แก่จำเลยที่ 4 และให้โจทก์จ่ายค่าจ้างเดือนเมษายน 2550 ที่หักไว้ 2,200 บาท ค่าน้ำมันรถ 3,120 บาท ค่าจ้างเดือนพฤษภาคม 2550 จำนวน 8,629 บาท ค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 64 จำนวน 3,000 บาท ค่าชดเชย 45,000 บาท และค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 16,000 บาท แก่จำเลยที่ 5 แล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ตกลงจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงแบบเหมาจ่ายให้แก่ผู้จัดการฝ่ายขายวันละ 1,000 บาท และพนักงานขายวันละ 800 บาท โดยต้องนำใบเสร็จรับเงินมาแสดงโดยระบุชื่อโจทก์เป็นผู้ใช้บริการเพื่อตรวจสอบการทำงานของพนักงานและประโยชน์ทางภาษี จำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้ปลอมใบเสร็จรับเงินค่าที่พักและใช้เอกสารปลอมอันเป็นการกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างและไม่ได้ทุจริตต่อหน้าที่เกี่ยวกับใบเสร็จรับเงินที่นำมาเบิกต่อโจทก์ จำเลยที่ 4 ไม่ได้ทุจริตต่อหน้าที่ในการยืมเงินทดรองเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ถึงเดือนเมษายน 2550 แต่จำเลยที่ 3 ทุจริตต่อหน้าที่เกี่ยวกับการเบิกค่าที่พักซ้ำของวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2550 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย 700 บาท และจำเลยที่ 4 ทุจริตต่อหน้าที่เกี่ยวกับการเบิกค่าเบี้ยเลี้ยงเป็นค่าที่พักและค่าอาหารของวันที่ 8 และวันที่ 12 พฤษภาคม 2549 เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย 2,800 บาท เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (1) ในหนังสือเลิกจ้างมิได้อ้างเหตุว่าจำเลยที่ 3 ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน จำเลยที่ 4 และที่ 5 เข้าทำงานสายไม่ตรงต่อเวลา ระหว่างเวลาทำงานออกไปนอกที่ทำงานเป็นเวลานานเป็นประจำ โจทก์มีคำสั่งให้ปฏิบัติงานใดจะทำต่อเมื่อออกหนังสือตักเตือน เป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นอาจิณ ไม่เชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมซึ่งได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้วตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยที่ 3 ได้ทดรองจ่ายค่ารับรองลูกค้าและค่าซ่อมบำรุงรักษารถยนต์ 3,826.91 บาท ที่นำมาเบิกต่อโจทก์และโจทก์ได้ตรวจสอบความถูกต้องแล้ว แต่ยังไม่ได้จ่ายเงินดังกล่าวคืนจำเลยที่ 3 โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินค่ารับรองลูกค้า 9,000 บาท และค่าซ่อมบำรุงรักษารถยนต์ 3,826.91 บาท พร้อมดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง นับแต่วันเลิกจ้างแก่จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ทำงานติดต่อกันมาตลอดโดยมิได้หยุดพักผ่อนประจำปีและโจทก์มิได้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 มีวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่ให้สิทธิพนักงานมีวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังไม่ได้ใช้ 8.5 วัน คิดเป็นเงิน 19,733 บาท โจทก์จึงต้องจ่ายภายใน 3 วัน นับแต่วันเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 70 พร้อมดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง คือนับแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2550 โจทก์ทราบคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 2 ที่ 78/2550 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2550 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2550 และฟ้องเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2550 เมื่อข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงจึงเป็นเหตุให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าวข้างต้น เมื่อเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคม 2550 จำเลยที่ 4 ได้รับค่าจ้างเดือนละ 14,000 บาท และจำเลยที่ 5 ได้รับค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาท เดือนเมษายน 2550 โจทก์ลดเงินเดือนจำเลยที่ 4 และที่ 5 เหลือคนละเดือนละ 6,500 บาท โดยจำเลยที่ 4 และที่ 5 ไม่ยินยอม โจทก์จึงต้องรับผิดจ่ายค่าจ้างที่ขาดแก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 โจทก์หักค่าจ้างเดือนเมษายน 2550 ของจำเลยที่ 5 เพื่อชำระค่าโทรศัพท์ที่นอกเหนือจากงานในหน้าที่ 2,200 บาท แต่จำเลยที่ 5 ใช้โทรศัพท์นอกเหนือจากงานในหน้าที่ 1,432.69 บาท โจทก์จึงต้องคืนเงินค่าจ้าง 767.13 บาท พร้อมดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง นับแต่วันถัดจากวันที่ 19 พฤษภาคม 2550 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดต้องชำระค่าโทรศัพท์ โจทก์จ่ายค่าน้ำมันรถให้จำเลยที่ 5 เดือนละ 4,000 บาท แม้ภายหลังเปลี่ยนเป็นบัตรเติมน้ำมันในมูลค่าดังกล่าวแทน แต่เป็นการจ่ายตามข้อตกลง โจทก์จึงมีหน้าที่จ่ายค่าน้ำมันรถตามข้อตกลงที่ขาด 3,120 บาท แก่จำเลยที่ 5 เมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้าง และตกเป็นผู้ผิดนัดเมื่อครบกำหนด 3 วัน นับแต่วันเลิกจ้างคือวันที่ 29 พฤษภาคม 2550 จึงต้องเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2550 จำเลยที่ 4 ทำงานติดต่อกันมาตลอดแล้วครบหนึ่งปีโดยมิได้หยุดพักผ่อนประจำปีและโจทก์มิได้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่จำเลยที่ 4 จำเลยที่ 4 มีวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังไม่ได้ใช้ 6 วัน โจทก์จึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2,800 บาท แก่จำเลยที่ 4 ภายในกำหนด 3 วัน นับแต่วันเลิกจ้าง และจำเลยที่ 4 ทำงานในวันหยุดตามประเพณี 4 วัน มีสิทธิได้รับเบี้ยเลี้ยงแบบเหมาจ่ายเป็นค่าที่พักและค่าอาหารวันละ 560 บาท เป็นเงิน 2,240 บาท เมื่อโจทก์ต้องจ่ายค่าจ้างเดือนเมษายน 2550 จำนวน 7,500 บาท และค่าเบี้ยเลี้ยง 2,240 บาท แก่จำเลยที่ 4 นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2550 ซึ่งเป็นวันถึงกำหนดชำระ และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2,800 บาท แก่จำเลยที่ 4 แต่ไม่ชำระจึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง โจทก์ทราบคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 2 ที่ 79/2550 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2550 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2550 และฟ้องเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2550 เมื่อข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงจึงเป็นเหตุให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าวข้างต้น จำเลยที่ 4 และที่ 5 ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมและนายจ้างได้ตักเตือนแล้ว กับจำเลยที่ 4 ทุจริตต่อหน้าที่ โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 โจทก์มีคำสั่งย้ายจำเลยที่ 4 ไปประจำสำนักงานชั่วคราวและให้ทำหน้าที่พนักงานขายประจำบริษัทโดยมิได้เปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างส่วนที่เหลือของเดือนพฤษภาคม 2550 จำนวน 7,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และค่าน้ำมันรถในเดือนพฤษภาคม 2550 จำนวน 6,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2550 แก่จำเลยที่ 4 ค่าโทรศัพท์ที่จำเลยที่ 4 เรียกร้องตามฟ้อง 1,200 บาท เป็นค่าใช้โทรศัพท์ที่โจทก์ต้องชำระแทน และจำเลยที่ 4 ยังต้องรับผิดค่าโทรศัพท์ส่วนที่เกินจากที่โจทก์ต้องรับผิดชอบอีก 1,680.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันที่ 19 พฤษภาคม 2550 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดต้องชำระค่าโทรศัพท์ เมื่อโจทก์ชำระค่าจ้างเดือนพฤษภาคม 2550 ให้จำเลยที่ 5 เพียง 5,871 บาท จึงต้องชำระค่าจ้างที่เหลือ 8,629 บาท แก่จำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 5 ทำงานมาแล้วครบหนึ่งปีโดยมิได้หยุดพักผ่อนประจำปีและโจทก์มิได้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่จำเลยที่ 5 จำเลยที่ 5 มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี 6 วันคิดเป็นเงิน 3,000 บาท รวมเป็นเงิน 11,629 บาท ซึ่งต้องชำระภายในวันที่ 1 มิถุนายน 2550 เมื่อไม่ชำระจึงผิดนัดนับแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2550 และต้องเสียดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 15 ต่อปีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง และมาตรา 70 วรรคท้าย โจทก์ทราบคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 2 ที่ 126/2550 ลงวันที่ 24 กันยายน 2550 เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2550 และฟ้องเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2550 เมื่อข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงจึงเป็นเหตุให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าวข้างต้น เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ได้ยักยอกสินค้าตัวอย่าง จำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้ปลอมใบเสร็จรับเงินค่าที่พักหรือฉ้อโกงเงินจากโจทก์ ปรากฏข้อเท็จจริงเพียงว่าจำเลยที่ 3 ทุจริตต่อหน้าที่เบิกค่าที่พักซ้ำในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2550 เป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย 700 บาท และจำเลยที่ 4 ทุจริตต่อหน้าที่เบิกค่าเบี้ยเลี้ยงเป็นค่าที่พักและค่าอาหารในวันที่ 8 และวันที่ 12 พฤษภาคม 2549 ทำให้โจทก์เสียหาย 2,800 บาท เมื่อโจทก์กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ต่างเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ซึ่งกันและกัน เพื่อความสะดวกในการชำระหนี้และคิดคำนวณดอกเบี้ย จึงให้นำหนี้ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยประเภทเดียวกันซึ่งแต่ละฝ่ายเป็นลูกหนี้ซึ่งกันและกันมาหักกลบลบกันเพื่อให้เป็นหนี้สุทธิที่ฝ่ายหนึ่งต้องชำระให้แก่อีกฝ่าย จึงนำหนี้ที่จำเลยที่ 3 ทุจริตต่อหน้าที่ 700 บาท ที่จำเลยที่ 3 เป็นลูกหนี้ต่อโจทก์ไปหักชำระกับหนี้ที่โจทก์เป็นลูกหนี้ต้องชำระแก่จำเลยที่ 3 เป็นค่ารับรองลูกค้า 9,000 บาท และค่าซ่อมบำรุงรักษารถยนต์ 3,826.91 บาท แล้ว โจทก์ยังคงเป็นหนี้จำเลยที่ 3 ในส่วนนี้ 12,126.91 บาท กับนำหนี้ที่จำเลยที่ 4 ทุจริตต่อหน้าที่ 2,800 บาท และหนี้ค่าโทรศัพท์ที่ใช้เกินจากงานในหน้าที่ 1,680.16 บาท ที่จำเลยที่ 4 เป็นลูกหนี้ต่อโจทก์ไปหักกับหนี้ที่โจทก์ต้องชำระค่าน้ำมันรถ 6,000 บาท แก่จำเลยที่ 4 แล้ว โจทก์ยังคงเป็นหนี้จำเลยที่ 4 ในส่วนนี้ 1,519.84 บาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์ต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 2 ในฐานะพนักงานตรวจแรงงานว่าโจทก์ไม่จ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามมาตรา 64 และขอเรียกร้องให้โจทก์จ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีในช่วงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงยุติว่าจำเลยที่ 3 ทำงานติดต่อกันมาตลอดโดยมิได้หยุดพักผ่อนประจำปีและโจทก์มิได้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 มีวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่ให้สิทธิพนักงานมีวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังไม่ได้ใช้ 8.5 วัน จำเลยที่ 4 ทำงานติดต่อกันมาตลอดแล้วครบหนึ่งปีโดยมิได้หยุดพักผ่อนประจำปีและโจทก์มิได้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่จำเลยที่ 4 จำเลยที่ 4 มีวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังไม่ได้ใช้ 6 วัน และจำเลยที่ 5 ทำงานมาแล้วครบหนึ่งปีโดยมิได้หยุดพักผ่อนประจำปีและโจทก์มิได้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่จำเลยที่ 5 จำเลยที่ 5 มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี 6 วัน จึงเข้ากรณีที่โจทก์มิได้จัดให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ซึ่งเป็นลูกจ้างหยุดงานตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 30 จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 จึงมีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามมาตรา 64 ตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 2 ที่ 78/2550 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2550 และคำสั่งที่ 126/2550 ลงวันที่ 24 กันยายน 2550 มิใช่กรณีว่าจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 จะมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีหรือไม่ตามมาตรา 67 ที่จะต้องพิจารณาประกอบด้วยว่าโจทก์เลิกจ้างโดยจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 มิได้กระทำความผิดตามมาตรา 119 หรือไม่ ตามที่โจทก์อ้างแต่อย่างใด ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาในส่วนนี้มานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 2 ที่ 78/2550 และที่ 79/2550 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2550 กับคำสั่งที่ 126/2550 ลงวันที่ 24 กันยายน 2550 ไม่ปรากฏว่ามีคำสั่งให้โจทก์ชำระดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในต้นเงินที่โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระ โดยจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ก็ไม่ได้นำคดีมาสู่ศาลเพื่อฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานในส่วนดอกเบี้ยดังกล่าว คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานนั้นจึงเป็นที่สุดแล้วสำหรับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้โจทก์ชำระดอกเบี้ยของต้นเงินตามคำสั่งดังกล่าว จึงไม่ชอบ และเมื่อศาลแรงงานกลางเห็นว่าคำสั่งของจำเลยที่ 2 ตามคำสั่งที่ 78/2550 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2550 เฉพาะส่วนที่ให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่จำเลยที่ 3 ไม่ชอบ และคำสั่งที่ 79/2550 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2550 เฉพาะส่วนที่ให้โจทก์คืนเงินจำนวน 2,200 บาท ทั้งหมด ที่หักจากค่าจ้างเดือนเมษายน 2550 แก่จำเลยที่ 5 ไม่ชอบ และคำสั่งที่ 126/2550 ลงวันที่ 24 กันยายน 2550 เฉพาะส่วนที่ให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 และค่าโทรศัพท์แก่จำเลยที่ 4 ไม่ชอบ โดยที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่จำเลยที่ 3 ตามคำสั่งที่ 78/2550 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2550 และให้โจทก์คืนเงินที่หักจากค่าจ้างเดือนเมษายน 2550 แก่จำเลยที่ 5 เพียง 767.13 บาท แทนตามคำสั่งที่ 79/2550 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2550 และโจทก์ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 และค่าโทรศัพท์แก่จำเลยที่ 4 ตามคำสั่งที่ 126/2550 ลงวันที่ 24 กันยายน 2550 ศาลแรงงานกลางชอบที่จะเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 2 เฉพาะส่วนที่ไม่ชอบเท่านั้น ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวทั้งฉบับมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ชอบที่ศาลฎีกาจะแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5), 246 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 2 ที่ 78/2550 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2550 เฉพาะส่วนค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าของจำเลยที่ 3 และคำสั่งที่ 79/2550 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2550 เฉพาะที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 5 ในส่วนเงินจำนวน 2,200 บาท ที่หักจากค่าจ้างเดือนเมษายน 2550 โดยให้คืนเงินให้จำเลยที่ 5 เพียง 767.13 บาท และคำสั่งที่ 126/2550 ลงวันที่ 24 กันยายน 2550 เฉพาะส่วนค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าของจำเลยที่ 4 และที่ 5 กับเฉพาะที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 4 ในส่วนค่าโทรศัพท์ และโจทก์ไม่ต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share