คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8565-8566/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จำเลยที่ 6 จะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด แต่เมื่อจำเลยที่ 6 มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการจัดระบบแสง สี เสียง ภาพ ประกอบการแสดง เวทีการแสดงต่าง ๆ การที่จำเลยที่ 7 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 6 รับจ้างติดตั้งดอกไม้เพลิงในการทำฉากเอฟเฟกต์ในร้านเกิดเหตุตามขอบแห่งวัตถุประสงค์ ย่อมต้องถือว่าเป็นการกระทำของจำเลยที่ 6 เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 7 เป็นความผิดอาญา แม้จะเป็นการกระทำโดยประมาท จำเลยที่ 6 ก็ต้องรับโทษทางอาญาด้วยเช่นกัน
จำเลยที่ 1 แก้ฎีกาว่า โจทก์บรรยายฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 1 ขัดแย้งกัน เป็นไปไม่ได้เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 จึงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า ฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 หรือไม่
การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า บริษัท ว. เป็นนิติบุคคล มี ส. เป็นกรรมการผู้แทนนิติบุคคลตามกฎหมาย และมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้บริหารดำเนินกิจการตามความเป็นจริง เท่ากับโจทก์ยืนยันว่าบริษัทได้เชิด ส. ออกแสดงเป็นผู้แทนของตน แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้มีชื่อเป็นผู้แทนตามหนังสือรับรองแต่ก็เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทโดยผ่านทาง ส. นั่นเอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1167 ที่กำหนดให้ความเกี่ยวพันในระหว่างกรรมการและบริษัทและบุคคลภายนอกนั้น ให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน คำฟ้องโจทก์จึงไม่ขัดแย้งกันหรือเป็นไปไม่ได้ดังคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 1 หากแต่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 แล้ว

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ เดิมศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3483/2554 ของศาลชั้นต้น แต่คดีดังกล่าวยุติแล้ว คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีสองสำนวนนี้ โดยยังคงให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยทั้งสองในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 6 และที่ 7ตามศาลชั้นต้น
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 225, 300, 390 พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา 16/1, 16/3, 27, 28/1
จำเลยที่ 1 ที่ 6 และที่ 7 ให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตโดยให้เรียกว่าโจทก์ร่วมที่ 1 ถึงที่ 57 ตามลำดับ ต่อมาโจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 9 ที่ 19 ที่ 31 และที่ 45 ยื่นคำร้องขอถอนคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
โจทก์ร่วมที่ 4 และที่ 5 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ที่ 6 และที่ 7 กับพวกร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ร่วมที่ 4 และที่ 5 จำนวน 8,010,000 บาท
โจทก์ร่วมที่ 6 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ที่ 6 และที่ 7 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ร่วมที่ 6 จำนวน 8,010,000 บาท
โจทก์ร่วมที่ 7 และที่ 8 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ที่ 6 และที่ 7 กับพวกร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ร่วมที่ 7 และที่ 8 จำนวน 6,130,000 บาท
จำเลยที่ 1 ให้การ ขอให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 6 และที่ 7 ให้การขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300 จำเลยที่ 6 และที่ 7 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 225, 291, 300 การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 6 และที่ 7เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 7 คนละ 3 ปี ให้ปรับจำเลยที่ 6 จำนวน 20,000 บาทหากจำเลยที่ 6 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ข้อหาอื่นนอกจากนี้และคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 ในส่วนของจำเลยที่ 1 ให้ยก กับให้จำเลยที่ 6 และที่ 7 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมที่ 4 และที่ 5 เป็นเงิน1,540,000 บาท ให้แก่โจทก์ร่วมที่ 6 เป็นเงิน 1,540,000 บาท ให้แก่โจทก์ร่วมที่ 7 และที่ 8 เป็นเงิน 2,040,000 บาท
โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 6 และที่ 7 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ทุกข้อหานอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ จำเลยที่ 6 และที่ 7 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 6 และที่ 7 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 6 และที่ 7 ว่า จำเลยที่ 6และที่ 7 กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 225, 291, 300 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ ศาลฎีกาตรวจดูภาพวิดีโอจากแผ่นดีวีดี ปรากฏว่าหลังจากวงเบิร์นแสดงดนตรีในช่วงแรกนานประมาณ 13 นาที มีพิธีกรมายืนหน้าเวที 2 คน มีเสียงพูดของพิธีกรคนหนึ่งว่าเหลือเวลาแค่เพียง 10 นาที ก็จะนับถอยหลังกัน ภาพของพิธีการปรากฏอยู่เกือบ 1 นาที กล้องหยุดถ่ายแล้วภาพเปลี่ยนไปเป็นการแสดงดนตรีของวงเบิร์นอีกครั้งหนึ่ง ยังมีการจุดไฟเย็นที่หน้าเวทีปรากฏให้เห็นอยู่บ้าง การแสดงดนตรีดำเนินมาถึงประมาณก่อนนาทีที่ 42 จำเลยที่ 5 ซึ่งอยู่ในชุดเสื้อเชิ้ตแขนยาวพับแขนผูกผ้าพันคอปล่อยชายเสื้อออกมาข้างนอก กำลังร้องเพลง “อิตส์มายไลฟ์ (It ่s my life)” ดังคำเบิกความของนางสาวฐิติมาพร พยานโจทก์และโจทก์ร่วมซึ่งนั่งดูอยู่ที่ชั้นลอยของร้านเกิดเหตุ หลังจากจบเพลง ประมาณเกือบนาทีที่ 42 เริ่มจะเข้าสู่เพลง “อะโบเดเบย์” ดังคำเบิกความของนางสาวฐิติมาพร ในทันใดที่นักร้องคนใหม่ซึ่งอยู่ในชุดเสื้อยืดแขนสั้นสีขาวทับเสื้อแขนยาวก้าวหมุนตัวออกมายืนที่หน้ากลองชุด ดอกไม้เพลิงที่ติดตั้งอยู่ตรงหน้ากลองชุดก็ถูกจุดขึ้นพร้อมกันทุกกระบอกมีลำแสงและเม็ดไฟพุ่งขึ้นด้านบนด้านหลังของนักร้องคนนี้ เว้นแต่ดอกไม้เพลิงกระบอกที่อยู่ตรงกลางระหว่างดอกไม้เพลิง 7 กระบอก ปล่อยลำแสงลงสู่พื้นเวที มีเสียงพูดขึ้นว่า “ใครจุดกลับหัววะ” แล้วมีจำเลยที่ 5 มือถือไมโครโฟนก้าวออกมาใช้เท้าเหยียบไฟที่พื้นเวที จากนั้นร่วมร้องเพลงเดียวกันนี้ด้วย ประมาณเกือบนาทีที่ 44 เริ่มมีสะเก็ดไฟร่วงลงมาตรงเวที นักดนตรีที่นั่งตีกลองแหงนหน้าขึ้นไปมองแล้วลุกออกไป สะเก็ดไฟเริ่มตกลงมามากขึ้นแล้วกลายเป็นลูกไฟใหญ่ จนเกิดเพลิงไหม้ที่เวทีเต็มหน้าจอภาพ ภาพเหตุการณ์จากแผ่นดีวีดี ดังกล่าวมา แม้กล้องถ่ายวิดีโอจะไม่ได้จับภาพไปที่จำเลยที่ 5 ตลอดเวลา แต่ก็ปรากฏภาพจำเลยที่ 5 อย่างต่อเนื่อง ที่จำเลยที่ 6 และที่ 7 ฎีกาว่า จำเลยที่ 5 เป็นผู้ทำให้เกิดเพลิงไหม้ โดยอ้างอิงคำเบิกความของนางสาวเบญจรัตน์ พยานโจทก์และโจทก์ร่วมนั้น ตามคำเบิกความของนางสาวเบญจรัตน์ปรากฏว่า ระหว่างร้องเพลง “อิตส์มายไลฟ์” จำเลยที่ 5 เดินถือพลุที่เป็นวัตถุรูปทรงกระบอกมีสายชนวนอยู่ที่ก้นไปวางที่พื้นเวทีหน้ากลองชุด แล้วกลับมาร้องเพลงจนจบคำร้อง แต่ยังไม่สิ้นเสียงดนตรี จำเลยที่ 5 ก็เดินกลับมาใช้ไฟแช็กจุดชนวน จากนั้นเมื่อเพลง “อะโบเดเบย์” เริ่มขึ้นพลุก็พุ่งขึ้น เห็นว่า ตามภาพถ่ายที่นางสาวเบญจรัตน์ระบุว่าบุคคลในภาพเป็นตนเองนั้น ตรงกับภาพวิดีโอจากแผ่นดีวีดี ประมาณนาทีที่ 37 ที่ระหว่างร้องเพลงจำเลยที่ 5 ก้าวขึ้นไปบนขอบเวทีฝั่งซ้าย เดินไปทางข้างเวที 3 ก้าว ทักทายกับแขกผู้มาเที่ยวที่เป็นชาย 3 คน โดยนางสาวเบญจรัตน์ยืนอยู่ถัดไปตามที่ปรากฏในภาพถ่าย ดังกล่าว หลังจากนั้นจำเลยที่ 5 ก็หันหลังเดินกลับมาแล้วกระโดดลงมาร้องเพลงต่อ ตรงตำแหน่งที่นางสาวเบญจรัตน์ยืนอยู่จึงยากที่จะสังเกตเห็นกลองชุดที่อยู่ลึกเข้าไปจากด้านหน้าเวทีได้อย่างถนัดชัดเจน หลังจากนั้นประมาณไม่เกิน 2 นาที เมื่อจำเลยที่ 5 ร้องเพลง “อิตส์มายไลฟ์” ต่อมา จึงไม่น่าเชื่อว่านางสาวเบญจรัตน์จะสามารถมองเห็นสายชนวนที่อยู่ที่ก้นวัตถุรูปทรงกระบอกได้ ประกอบกับขณะที่จำเลยที่ 5 ร้องจบคำร้อง แต่ยังไม่สิ้นเสียงดนตรี แสงไฟที่หน้าเวทีถูกหรี่ลงเป็นแสงสลัวๆ จำเลยที่ 5 เดินออกไปจากพื้นที่ตรงหน้ากลองชุด โดยมีนักร้องอีกคนหนึ่งที่สวมหมวกซึ่งร่วมร้องเพลง “อิตส์มายไลฟ์” กับจำเลยที่ 5 ด้วย เดินตามไป ก็เป็นจังหวะเดียวกันกับที่นักร้องซึ่งอยู่ในชุดเสื้อยืดแขนสั้นสีขาวทับเสื้อแขนยาวกำลังจะก้าวสวนออกมาพร้อมกับมีเสียงพูดว่า “ร้องกันต่อดีกว่า” เมื่อเพลง “อะโบเดเบย์” เริ่มขึ้นในขณะที่นักร้องคนนี้มายืนอยู่ตรงหน้ากลองชุด ดอกไม้เพลิงที่ติดตั้งอยู่หน้ากลองชุดก็ถูกจุดขึ้นพร้อมกันแทบจะทันที การที่จำเลยที่ 5 วางพลุที่พื้นเวทีหน้ากลองชุดดังคำเบิกความของนางสาวเบญจรัตน์ เมื่อจะใช้ไฟแช็ก จุดชนวนก็ต้องก้มลงจุด จึงยากที่จะเป็นไปได้ในสถานการณ์เช่นที่ว่ามานี้ ด้วยเหตุนี้คำเบิกความของนางสาวเบญจรัตน์จึงไม่มีน้ำหนักให้เชื่อถือรับฟัง ในทางกลับกัน ตามคำเบิกความของนายเมธาพัฒน์ช่างถ่ายวิดีโอของร้านเกิดเหตุปรากฏต่อไปว่าหลังจากลำแสงพุ่งขึ้นจากการทำเอฟเฟกต์ ซึ่งเป็นการทำเอฟเฟกต์ที่แรงและสูงกว่าครั้งก่อนๆ ที่เคยจัดมา สังเกตเห็นมีไฟติดตรงส่วนโค้งของซุ้มเหนือเวที โดยซุ้มมีลักษณะเป็นรูปครึ่งวงแหวน 3 วง ซ้อนกันอยู่ มีเสาของซุ้มอยู่ที่ด้านข้างของเวทีแต่ละข้างตามภาพถ่าย จากนั้นมีสะเก็ดไฟร่วงลงมาที่เวทีจนเกิดเพลิงไหม้ขึ้น และตามคำเบิกความของนายสุรพงษ์ พยานโจทก์และโจทก์ร่วมซึ่งเป็นแขกที่มาเที่ยวในร้านเกิดเหตุ ปรากฏว่าสังเกตเห็นประกายไฟหลากสีจากการทำเอฟเฟกต์ที่อยู่หลังนักร้องหน้ากลองชุดพุ่งขึ้นสูงประมาณ 4 ถึง 5 เมตร หลังจากนักร้องร้องเพลง “อะโบเดย์เบย์” ได้ประมาณครึ่งเพลง เริ่มมีสะเก็ดไฟร่วงลงมาจากเพดานของซุ้มเหนือเวทีตามภาพถ่าย จากนั้นมีวัสดุติดไฟร่วงตามมา เมื่อมองขึ้นไปเห็นไฟเริ่มลุกลามที่ซุ้มตามภาพถ่าย โดยเป็นจุดต้นเพลิงดังที่พันตำรวจโทประวิทย์ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ เบิกความว่า จุดต้นเพลิงเกิดภายในอาคารของร้านเกิดเหตุตรงเพดานของซุ้มเหนือเวทีตามภาพถ่ายที่ 151 แผ่นที่ 89 อันเป็นภาพเดียวกันกับภาพถ่าย ซึ่งพันตำรวจโทประวิทย์ได้มาจากญาติของผู้ตายรายหนึ่งหลังจากมีการพบกล้องดิจิตอลในที่เกิดเหตุแล้วให้ญาติของผู้ตายรับคืนไป ดังนั้น เหตุเพลิงไหม้จึงเกิดจากดอกไม้เพลิงของจำเลยที่ 7 ที่ติดตั้งอยู่ที่หน้ากลองชุดดังที่ศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดแล้วว่าจำเลยที่ 7 กระทำโดยประมาท ศาลฎีกาไม่กล่าวซ้ำอีก ข้อที่การทำเอฟเฟกต์ของจำเลยที่ 7 ในที่อื่นๆ และเคยทำในร้านเกิดเหตุมาก่อนซึ่งใช้วัสดุและอุปกรณ์อย่างเดียวกันไม่เคยทำให้เกิดเพลิงไหม้นั้นไม่ใช่ข้อแก้ตัวที่จะทำให้จำเลยที่ 7 พ้นผิดได้ จำเลยที่ 7 มีความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษมา ส่วนจำเลยที่ 6 แม้จะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ไม่มีสภาพบุคคลเหมือนบุคคลธรรมดาก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 6 มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการจัดระบบแสง สี เสียง ภาพ ประกอบการแสดง… เวทีการแสดงต่าง ๆ … ตามวัตถุประสงค์ท้ายหนังสือรับรอง การที่จำเลยที่ 7 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 6 รับจ้างติดตั้งดอกไม้เพลิงในการทำฉากเอฟเฟกต์ในร้านเกิดเหตุตามขอบแห่งวัตถุประสงค์ ย่อมต้องถือว่าเป็นการกระทำของจำเลยที่ 6 เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 7 เป็นความผิดอาญา แม้จะเป็นการกระทำโดยประมาท จำเลยที่ 6 ก็ต้องรับโทษทางอาญาด้วยเช่นกัน จำเลยที่ 6 และที่ 7 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 225, 291, 300 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 6 และที่ 7 ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้เริ่มก่อการผู้ขอจดทะเบียนตั้งบริษัทไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส (2003) จำกัด หลังจากบริษัทได้จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2546 แล้ว มีจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน ตามเอกสารหมาย จ.14 แผ่นที่ 1 และที่ 2 แม้ต่อมาจะมีการเปลี่ยนตัวกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจากจำเลยที่ 1 ไปเป็นนายสุริยา ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2547 เป็นต้นมา (อันเป็นช่วงเวลาที่ตรงกับที่ร้านเกิดเหตุของบริษัทไม่ได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งสถานบริการและบริษัทได้ฟ้องเป็นคดีปกครอง) ตามหนังสือรับรอง ก็ตาม แต่ตามคำเบิกความของนายรุ่งยศ พยานโจทก์และโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทคนหนึ่ง ปรากฏว่าแม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้เป็นกรรมการแล้ว แต่ในการประชุมผู้ถือหุ้นจะมีจำเลยที่ 1 นั่งเป็นประธานในที่ประชุม โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือหุ้นมากที่สุดประมาณร้อยละ 30 ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จำนวน 129 หุ้น จากทั้งหมด 400 หุ้น โดยนายสุริยาซึ่งมีชื่อเป็นกรรมการนั้นไม่ได้ถือหุ้นในบริษัท ก่อนจัดงานในวันที่ 31 ธันวาคม 2551 ในวันที่ 25 ธันวาคม 2551 มีการแถลงข่าวถึงเรื่องการปิดกิจการร้านเกิดเหตุต่อสื่อมวลชนโดยมีจำเลยที่ 1 กับนายรุ่งยศและผู้ถือหุ้นอีกคนหนึ่งร่วมกันแถลงข่าว โดยจำเลยที่ 1 กล่าวขอบคุณสื่อมวลชนที่ให้การสนับสนุนร้านมาตลอด นายสุริยาไม่ได้เข้าร่วมแถลงข่าวแต่อย่างใด ตามคำเบิกความของนางสาวช่อผกา พยานโจทก์และโจทก์ร่วมซึ่งเป็นพนักงานขายป๊อบคอร์นอยู่ที่ชั้นใต้ดินของร้านเกิดเหตุก็ยืนยันว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของร้านเกิดเหตุ แต่สำหรับนายสุริยานั้น ตามคำเบิกความของนางสาวเกษราภรณ์ พยานโจทก์และโจทก์ร่วมซึ่งเป็นพนักงานเก็บเงินอยู่ที่ร้านเกิดเหตุกลับไม่เคยเห็นหน้า คงรู้จักว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เวลามาที่ร้านเกิดเหตุจะพูดคุยกับพนักงานในร้านที่รู้จัก ทั้งนายสุดใจ พยานโจทก์และโจทก์ร่วมซึ่งเป็นกุ๊กในร้านเกิดเหตุก็เคยให้การในชั้นสอบสวนตามบันทึกว่า นายสุริยาเป็นเพียงเด็กรับรถของแขกที่มาเที่ยวที่ร้านเกิดเหตุ ที่จำเลยที่ 1 ต่อสู้ว่าเป็นเพียงผู้ถือหุ้นคนหนึ่ง ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการบริหารงานร้านเกิดเหตุนั้นไม่อาจหักล้างได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้บริหารร้านเกิดเหตุตามความเป็นจริง จำเลยที่ 1 มีการกระทำโดยประมาทอย่างไรนั้น ข้อที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 1ไม่ติดตามควบคุมการทำเอฟเฟกต์โดยดอกไม้เพลิงในร้านเกิดเหตุไม่ให้เกิดเพลิงไหม้นั้นโจทก์ไม่ได้กล่าวมาในฟ้องว่าเป็นการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 1 จึงไม่รับวินิจฉัยเพราะเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 คงมีข้อวินิจฉัยเกี่ยวกับการที่จำเลยที่ 1 ไม่จัดให้มีไฟฉุกเฉินภายในร้านให้เพียงพอ ปล่อยให้แขกที่มาเที่ยวเข้าไปในร้านเกินกว่าความสามารถที่จุคนได้ไม่เกิน 500 คน และประตูเข้าออกที่สามารถรองรับคนเข้าออกได้เพียงประมาณ 500 คน ตามหลักมาตรฐานความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน ที่โจทก์กล่าวมาว่าเป็นการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 1 เห็นว่า ร้านเกิดเหตุซึ่งเป็นสถานบันเทิงเป็นสถานบริการตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 แม้จะยังไม่ได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่ก็ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงฉบับที่ 39 (พ.ศ. 2537) ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ในข้อ 2 และข้อ 7 ที่กำหนดให้สถานบริการต้องมีแสงสว่างจากระบบไฟฟ้าฉุกเฉินเพียงพอที่จะมองเห็นช่องทางหนีไฟได้ชัดเจนขณะเพลิงไหม้ โดยมิพักต้องคำนึงว่าสถานบริการนั้นมีพื้นที่มากน้อยเท่าใด หาใช่ว่าสถานบริการต้องมีพื้นที่เกินกว่า 2,000 ตารางเมตร จึงจะอยู่ภายใต้บังคับของกฎกระทรวงฉบับนี้ ดังคำเบิกความของนายบรรเจิด พยานโจทก์และโจทก์ร่วมซึ่งเป็นนายช่างโยธาของสำนักงานเขตวัฒนาแต่อย่างใดไม่ คำเบิกความของพยานโจทก์และโจทก์ร่วมที่มาเที่ยวในร้านเกิดเหตุเกี่ยวกับไฟฉุกเฉิน ปรากฏตามคำเบิกความของนายสุรพงษ์ว่า หลังจากไฟเริ่มลุกลามมีวัสดุติดไฟร่วงลงมาประมาณ 10 วินาที ไฟทุกดวงภายในร้านดับลง ตามคำเบิกความของนางสาวฐิติมาพรว่า เมื่อสังเกตเห็นการติดไฟตรงส่วนโค้งของซุ้มเหนือเวที รู้สึกกลัว ถามพนักงานว่ามีทางออกทางอื่นหรือไม่ ขณะเดินไปที่หน้าต่างซึ่งเป็นกระจกโค้งและมีลูกกรงเหล็ก ไฟทุกดวงภายในร้านดับลงจนมืดสนิท นางสาวฐิติมาพรใช้แสงไฟจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ส่องทาง แต่ไม่สามารถมองเห็น เพราะมีควันไฟมาก นางสาวฐิติมาพรพยายามหาทางไปบริเวณที่ได้ยินเสียงกระจกแตก ขณะควานมือไปโดนกำแพงก็มีคนช่วยดึงออกไปนอกร้านได้ โดยมีแผลไฟไหม้ที่แขนขวา ตามคำเบิกความของนายประลองยุทธว่า หลังการทำเอฟเฟกต์เห็นประกายไฟพุ่งชนเพดานของซุ้ม ที่อยู่เหนือเวที จากนั้นมีกลิ่นไหม้ มีความร้อนพุ่งมาที่ตัว คนที่มาเที่ยวแตกตื่นหาทางออกขณะที่นายประลองยุทธวิ่งไปทางตรงกันข้ามกับเวทีได้ประมาณ 2 ถึง 3 ก้าว ไฟในร้านก็ดับลงมองไม่เห็นอะไร ระหว่างหาทางออกมือคลำไปถูกบาร์เหล้าจึงปีนขึ้นไป รู้สึกมีลมมาปะทะตัวเข้าใจว่าน่าจะเป็นทางออก จึงเดินตามลมไปแล้วออกจากร้านเกิดเหตุไปได้ โดยมีแผลไฟไหม้ที่หลัง ใบหู จมูก และตามคำเบิกความของนางสาวช่อผกาว่า ระหว่างขายป๊อบคอร์นอยู่ที่ชั้นใต้ดินของร้านเกิดเหตุ หลังเที่ยงคืนไปแล้วได้ยินเสียงคนตะโกนว่าเกิดเพลิงไหม้แล้วไฟดับจึงเข้าไปอยู่ในห้องน้ำ ประมาณ 10 นาที มีไฟลุกแดง ทำให้เห็นทางเดิน นางสาวช่อผกาจึงออกมาเดินขึ้นบันไดซึ่งอยู่ใกล้กับทางออกด้านหน้าของร้านแล้วออกมาได้ โดยได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยบริเวณแขนและฝ่ามือ คำเบิกความของพยานโจทก์และโจทก์ร่วมที่อยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าวมานี้บ่งบอกว่าภายในร้านเกิดเหตุไม่มีไฟฉุกเฉินบอกทางหนีไฟ สอดคล้องกับหลักฐานในที่เกิดเหตุตามคำเบิกความของพันตำรวจโทวัชรัศมิ์ว่า ตรวจไม่พบระบบแสงสว่างฉุกเฉินในส่วนพื้นที่ชุมนุมคนดังที่พันตำรวจโทวัชรัศมิ์ทำรายงานการตรวจสถานที่เกิดเหตุส่งไปให้พนักงานสอบสวนตามแฟ้ม ในข้อที่ 7.11 ยิ่งกว่านั้นจำนวนคนที่อยู่ในร้านเกิดเหตุในช่วงที่ใกล้เวลานับถอยหลังเข้าสู่วันปีใหม่นั้น คำเบิกความของพยานโจทก์และโจทก์ร่วมที่อยู่ในร้านเกิดเหตุเกี่ยวกับเรื่องนี้ ปรากฏตามคำเบิกความของนายสุรพงษ์ว่า คนในร้านยืนเบียดเสียดกัน การจะออกไปดูการจุดพลุนอกร้านทำได้ยาก มีคนอยู่ในร้านประมาณ 600 ถึง 700 คน ตามคำเบิกความของนายประลองยุทธว่ามีคนอยู่ในร้านประมาณ 900 ถึง 1,000 คน เดินเบียดเสียดกันเพราะคนแน่นมาก ทุกคนยืนกันหมดเนื่องจากไม่มีที่นั่ง มีแต่โต๊ะวางเครื่องดื่ม ตามคำเบิกความของนายเมธาพัฒน์ซึ่งเป็นช่างถ่ายวิดีโอของร้านเกิดเหตุว่า มีคนอยู่ที่ในร้านประมาณ 1,000 คน ตามคำเบิกความของนายนฤพัฒน์ว่ามีคนในร้านเกิดเหตุประมาณ 1,000 คน คนเบียดเสียดต้องยืนกัน ตามคำเบิกความของนายภูมิใจ ซึ่งเป็นพิธีกรในช่วงเวลานับถอยหลังว่า มีคนอยู่ในร้านมากประมาณ 800 คน บรรยากาศในการจุดไฟเย็นเฉลิมฉลองเข้าสู่วันปีใหม่เป็นไปตามภาพถ่าย ขณะที่พื้นที่ในร้านเกิดเหตุมีเพียง 541.14 ตารางเมตร ดังคำเบิกความของพันตำรวจโทวัชรัศมิ์หรือสมชาย และตามหลักมาตรฐานเพื่อความปลอดภัยของวิชาชีพวิศวกรปรากฏตามคำเบิกความของนายพิชญะ พยานโจทก์และโจทก์ร่วม ซึ่งเป็นกรรมการอำนวยการของสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และรองประธานอนุกรรมการศึกษาวิจัยและพัฒนาอุบัติภัยของคณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติปรากฏว่าถือหลักมาตรฐาน 1 ตารางเมตร จะมีคนยืนได้เพียง 1 คน และตามคำเบิกความของนายสุรพงษ์ซึ่งจบการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์และรับราชการอยู่ที่สำนักงานควบคุมและตรวจสอบอาคาร กระทรวงมหาดไทย และได้มาเที่ยวที่ร้านในคืนเกิดเหตุ ก็ปรากฏว่าเพื่อความปลอดภัยจากอุบัติภัย ความจุของร้านเกิดเหตุต้องใช้หลักคำนวณ 1 ตารางเมตร ต่อ 1 คน ประกอบกับประตูเข้าออกทางด้านหน้าของร้านเกิดเหตุมีความกว้าง 2.30 เมตร แสดงให้เห็นว่าเมื่อเดินเข้ามาภายในร้านแล้วยังมีบันไดเพื่อเดินขึ้นไปชั้นลอย และบันไดเพื่อเดินลงไปชั้นใต้ดิน กับมีประตูสำหรับการออกไปสูบบุหรี่ทางด้านหน้า 2 ประตู มีความกว้างประตูละ 0.7 เมตร และทางด้านข้างฝั่งขวาของร้านเกิดเหตุอีก 1 ประตู มีความกว้าง 0.9 เมตร กล่าวโดยเฉพาะสำหรับทางออกไปสูบบุหรี่ดังกล่าว หากเป็นผู้ที่มาเที่ยวที่ร้านเกิดเหตุเป็นครั้งแรกหรือยังไม่คุ้นเคยกับสถานที่ดีพอและไม่ได้เป็นผู้สูบบุหรี่ ก็ยากที่จะรู้ว่ามีทางออกอื่นอีกนอกจากประตูทางด้านหน้าร้านที่ตนเข้ามาในร้าน ประตูเข้าออกทางด้านหน้าซึ่งเป็นประตูเดียวจึงเป็นประตูหลักในการระบายคนออกจากร้าน อีกทั้งตามแฟ้ม ที่พนักงานสอบสวนได้มาจากเจ้าหน้าที่มูลนิธิร่วมกตัญญู ก็เป็นภาพที่แสดงศพของผู้ติดค้างอยู่ตรงขั้นบันไดที่จะขึ้นมาสู่ชั้นพื้นราบหลายสิบศพซึ่งถูกไฟคลอกตายและขาดอากาศหายใจเรียงรายทับซ้อนกันอยู่เป็นกองพะเนิน บ่งบอกเป็นอย่างดีว่าการที่มีคนตายถึง 67 คน เป็นผลมาจากการที่เบียดเสียดหาทางออกไม่พบอันเนื่องจากไม่มีไฟฉุกเฉินบอกทางและมีคนอยู่ในร้านเกิดเหตุอัดแน่นกันอย่างมากมายเกินกว่าที่ประตูทางออกจะรองรับให้ทันแก่การหนีไฟได้อย่างปลอดภัยด้วย จำเลยที่ 1 เป็นผู้บริหารร้านเกิดเหตุนอกจากมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จักต้องจัดให้มีไฟฉุกเฉินบอกทางหนีไฟแล้ว ตามวิสัยและพฤติการณ์ของวิญญูชนที่ทำธุรกิจสถานบันเทิงเยี่ยงจำเลยที่ 1 ย่อมตระหนักได้ดีว่าการจัดให้คนมาชุมนุมเพื่อการรื่นเริงในสถานที่อันจำกัด หากมีอัคคีภัยเกิดขึ้น การระบายคนออกไปได้รวดเร็วและมากเท่าใด โดยมีไฟฉุกเฉินบอกทางหนีไฟ ย่อมทำให้คนที่มาชุมนุมหนีไฟออกมาได้อย่างปลอดภัยมากเท่านั้น จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่จักต้องจัดให้มีไฟฉุกเฉินบอกทางหนีไฟในร้านเกิดเหตุและต้องไม่ยอมให้แขกที่มาเที่ยวเข้าไปในร้านเกิดเหตุในลักษณะที่ยืนเบียดเสียดอัดแน่นกันอยู่ภายในร้าน ทั้งที่ประตูเข้าออกทางด้านหน้าร้านซึ่งเป็นประตูหลักเพียงประตูเดียวมีความกว้างเพียง 2.30 เมตร เกินกว่าที่ประตูนั้นจะรองรับในการระบายคนให้ทันแก่เหตุการณ์ได้ การที่จำเลยที่ 1 งดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันอันเป็นผลทำให้แขกที่มาเที่ยวในร้านเกิดเหตุหนีไฟออกมาไม่ได้เพราะติดค้างอยู่ด้านในถึงแก่ความตายเพราะเหตุถูกไฟคลอกและขาดอากาศหายใจ รวมทั้งแขกที่มาเที่ยวบางส่วนนับร้อยคนแม้จะหนีไฟออกมาได้ก็ยังได้รับบาดเจ็บถึงอันตรายสาหัส จำเลยที่ 1 จึงได้ชื่อว่ากระทำโดยประมาทร่วมด้วยนอกเหนือจากการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 6 และที่ 7 จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์บรรยายฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 1 ขัดแย้งกัน เป็นไปไม่ได้ เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 เห็นว่า การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าบริษัทไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส (2003) จำกัด เป็นนิติบุคคล มีนายสุริยาหรือตั๊ม เป็นกรรมการผู้แทนนิติบุคคลตามกฎหมาย และมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้บริหารดำเนินกิจการตามความเป็นจริงนั้น เท่ากับโจทก์ยืนยันว่าบริษัทได้เชิดนายสุริยาออกแสดงเป็นผู้แทนของตน แต่ความเป็นจริงแล้วแม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้มีชื่อเป็นผู้แทนตามหนังสือรับรองแต่ก็เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทโดยผ่านทางนายสุริยานั่นเองดังที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1167 กำหนดให้ความเกี่ยวพันในระหว่างกรรมการและบริษัทและบุคคลภายนอกนั้น ท่านให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน คำฟ้องโจทก์จึงไม่ขัดแย้งกันหรือเป็นไปไม่ได้ดังคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 1 หากแต่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 แล้ว
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 7 ที่ขอให้รอการลงโทษ เห็นว่าจำเลยที่ 7 ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับดอกไม้เพลิงในการทำฉากเอฟเฟกต์ย่อมตระหนักดีว่าการจุดดอกไม้เพลิงในที่อับ ไม่ใช่ที่โล่งแจ้งดังเช่นร้านเกิดเหตุในคดีนี้ เปลวไฟอาจพุ่งไปถูกวัสดุที่ติดไฟง่ายจนเกิดเพลิงไหม้ได้ การกระทำของจำเลยที่ 7 จึงเป็นการชะล่าใจที่คิดว่าดอกไม้เพลิงคงพุ่งขึ้นไปไม่สูง ความประมาทของจำเลยที่ 7 ก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมมีคนตายเพราะถูกไฟคลอกและขาดอากาศหายใจถึง 67 คน และมีคนบาดเจ็บนับร้อยคนเป็นเรื่องที่ร้ายแรงมากเกินกว่าที่จะให้โอกาสจำเลยที่ 7 กลับตัวเป็นพลเมืองดีได้ คดีไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษให้ได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 7 ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 6 และที่ 7 เป็นประการสุดท้ายเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ร่วมที่ 4 ถึงที่ 8 เห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฏตามทางนำสืบของโจทก์ร่วมที่ 4 ถึงที่ 8 ว่า โจทก์ร่วมที่ 4 และที่ 5 เป็นบิดามารดาของนายมีศักดิ์ ผู้ตาย โจทก์ร่วมที่ 6 เป็นมารดาของนางบุษยาหรืออัมแพรวา ผู้ตาย โดยนายมีศักดิ์กับนางบุษยาอยู่กินฉันสามีภริยาถึงแก่ความตายในร้านเกิดเหตุด้วยกัน เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ประกอบอาชีพเป็นผู้รับเหมางานก่อสร้างต่างหากจากกัน ต่างมีรายได้เดือนละ 50,000 บาท โจทก์ร่วมที่ 7 และที่ 8 เป็นมารดาและบุตรผู้เยาว์ของนางสาวพิมพ์ฤดีผู้ตาย ซึ่งถึงแก่ความตายในร้านเกิดเหตุ เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ทำงานเป็นพนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง มีรายได้เดือนละ 14,000 บาท โดยจำเลยที่ 6 และที่ 7 ไม่ได้นำสืบหักล้าง การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมากำหนดค่าปลงศพของผู้ตายทั้งสามเป็นเงินรายละ 40,000 บาท ค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูของโจทก์ร่วมที่ 4และที่ 5 ในรายของนายมีศักดิ์ผู้ตายเป็นเงิน 1,500,000 บาท ค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูโจทก์ร่วมที่ 6 ในรายของนางบุษยาผู้ตายเป็นเงิน 1,500,000 บาท และค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูของโจทก์ร่วมที่ 7 และที่ 8 รวมทั้งที่เป็นการให้ศึกษาตามสมควรแก่โจทก์ร่วมที่ 8 ที่มีอายุเพียง 4 ปี ในรายของนางสาวพิมพ์ฤดีผู้ตายเป็นเงิน 2,000,000 บาท นั้น จึงเป็นการกำหนดค่าสินไหมทดแทนไปตามข้อเท็จจริงจากการนำสืบของคู่ความ มิใช่เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจดังฎีกาของจำเลยที่ 6 และที่ 7 แต่อย่างใด ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจกำหนดค่าสินไหมทดแทนชอบด้วยรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 6 และที่ 7 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งทั้งสามศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share