คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3529-3530/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสองทำงานในตำแหน่งหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการ ในคืนเกิดเหตุรถไถหายไป ด. พนักงานขับรถไถของจำเลยเข้างานช่วงเวลาเดียวกับโจทก์ทั้งสอง ด. จึงอยู่ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ทั้งสอง ซึ่งจำเลยมีระเบียบเกี่ยวกับการทำงานว่า หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการต้องปฏิบัติตามคำบรรยายลักษณะงานที่กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบ ในข้อ 3.6 ให้ต้องตรวจสอบการทำงานของช่างขับ (พนักงานขับรถ) ให้ปฏิบัติตามกฎของจำเลย โดยจะต้องนำรถไถเข้าไปจอดภายในโรงงาน และตามระเบียบปฏิบัติ ข้อ 14 ให้ติดตามการทำงานของช่างขับอย่างใกล้ชิด และข้อ 15 ให้ติดตามผลเป้าหมายงานทุก ๆ ชั่วโมง แม้ ด. จะละทิ้งหน้าที่ไปโดยไม่แจ้งให้โจทก์ทั้งสองทราบ หากโจทก์ทั้งสองยึดถือระเบียบการทำงานอย่างเคร่งครัด โจทก์ทั้งสองก็จะทราบในทันทีก่อนรถไถหายไปว่า ด. ไม่นำรถไถเข้าไปเก็บไว้ในโรงงาน การกระทำของโจทก์ทั้งสองถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (3)
ฟ้องแย้งจำเลยขอให้โจทก์ทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสองปฏิบัติหน้าที่ประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย เป็นการขอให้ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษาให้โจทก์ทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาจ้างแรงงาน เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำของโจทก์ทั้งสองเป็นการประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จึงชอบที่จะกำหนดค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งสองต้องรับผิดต่อจำเลย แต่การกำหนดค่าเสียหายดังกล่าวเป็นเรื่องดุลพินิจซึ่งเป็นข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่อาจจะกระทำได้ ในปัญหานี้ศาลแรงงานภาค 2 ยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงมาว่าโจทก์ทั้งสองก่อความเสียหายแก่จำเลยจำนวนคนละเท่าใด จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวเสียก่อน แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลแรงงานภาค 2 มีคำสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกโจทก์ว่าโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 2,561.25 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 2,136 บาท ค่าชดเชยให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 102,450 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 51,270 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 12,635.50 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 10,539 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 143,430 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 34,180 บาท แจ้งสำนักงานประกันสังคมว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยไม่ได้กระทำผิด และให้จำเลยออกหนังสือรับรองการทำงานให้โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องและขอให้บังคับโจทก์ทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 200,000 บาท ให้แก่จำเลยพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ทั้งสองสำนวนให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ที่ 1 เป็นจำนวน 102,450 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นจำนวน 51,270 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินค่าชดเชยที่โจทก์ทั้งสองได้รับนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 17 เมษายน 2551) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์ทั้งสองเสร็จสิ้น ให้จำเลยมีหนังสือแจ้งให้สำนักงานประกันสังคมทราบว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยโจทก์ทั้งสองไม่ได้กระทำความผิด และให้จำเลยออกหนังสือรับรองการทำงานให้โจทก์ทั้งสอง คำขออื่นให้ยก กับยกฟ้องแย้งจำเลย
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า โจทก์ทั้งสองประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทั้งสองทำงานในตำแหน่งหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการ ในคืนเกิดเหตุรถไถหายไป นายดอกรักพนักงานขับรถไถของจำเลยเข้างานช่วงเวลาเดียวกับโจทก์ทั้งสอง นายดอกรักจึงอยู่ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ทั้งสอง ซึ่งจำเลยมีระเบียบเกี่ยวกับการทำงานว่า โจทก์ทั้งสองที่เป็นหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการ ต้องปฏิบัติตามคำบรรยายลักษณะงานที่กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบ ข้อ 3.6 ให้โจทก์ทั้งสองต้องตรวจสอบการทำงานของนายดอกรักซึ่งเป็นช่างขับให้ปฏิบัติตามกฎของจำเลย โดยนายดอกรักจะต้องนำรถไถเข้าไปจอดภายในโรงงาน และตามระเบียบปฏิบัติข้อ 14 ที่กำหนดให้โจทก์ทั้งสองติดตามการทำงานของช่างขับอย่างใกล้ชิด และข้อ 15 ให้ติดตามผลเป้าหมายงานทุก ๆ ชั่วโมง แม้นายดอกรักจะละทิ้งหน้าที่ไปโดยไม่แจ้งให้โจทก์ทั้งสองทราบหากโจทก์ทั้งสองยึดถือระเบียบการทำงานอย่างเคร่งครัด โจทก์ทั้งสองก็จะทราบในทันทีก่อนรถไถหายไปว่านายดอกรักไม่นำรถไถเข้าไปเก็บไว้ในโรงงาน การกระทำของโจทก์ทั้งสองถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ ทำให้จำเลยเสียหายอย่างร้ายแรงแล้ว จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (3) ที่ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการต่อไปว่า โจทก์ทั้งสองต้องจ่ายค่าเสียหายตามฟ้องแย้งหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ตามฟ้องแย้งจำเลยขอให้โจทก์ทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสองปฏิบัติหน้าที่ประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย เป็นการขอให้ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษาให้โจทก์ทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาจ้างแรงงาน เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำของโจทก์ทั้งสองเป็นการประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จึงชอบที่จะกำหนดค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งสองต้องรับผิดต่อจำเลย แต่การกำหนดค่าเสียหายดังกล่าวเป็นเรื่องดุลพินิจซึ่งเป็นข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่อาจจะกระทำได้ ในปัญหานี้ศาลแรงงานภาค 2 ยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงมาว่าโจทก์ทั้งสองก่อความเสียหายแก่จำเลยจำนวนคนละเท่าใด จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวเสียก่อนแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี สำหรับอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสองจำเลยไม่ต้องมีหนังสือถึงสำนักงานประกันสังคมแจ้งว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยโจทก์ทั้งสองไม่ได้กระทำความผิด และยกคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 2 เฉพาะที่ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย โดยให้ศาลแรงงานภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเฉพาะความเสียหายตามฟ้องแย้งดังกล่าวข้างต้น แล้วดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 วรรคสองหรือวรรคสาม แล้วแต่กรณี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 2

Share