คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12793-12794/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อคนไข้นอกไปพบแพทย์ผู้ตรวจ แพทย์จะออกใบสั่งตรวจและใบสั่งยาให้คนไข้นำไปยื่นที่แผนกการเงินเพื่อชำระเงินค่าตรวจรักษาและค่ายา เงินที่คนไข้นอกจ่ายให้โรงพยาบาลย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโรงพยาบาล การที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่การเงินของโรงพยาบาลเอาเงินนั้นไปเป็นประโยชน์ส่วนตนโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการกระทำความผิดในทางอาญาต่อโรงพยาบาล โรงพยาบาลย่อมเป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
การที่จำเลยซึ่งมีหน้าที่รับเงินค่ารักษาพยาบาลจากคนไข้แทนผู้เสียหายแล้วส่งต่อให้เจ้าหน้าที่เก็บรักษาเงินของผู้เสียหายในแต่ละวัน เป็นเพียงการยึดถือเงินของผู้เสียหายไว้ชั่วระยะเวลาทำการเท่านั้น ผู้เสียหายหาได้มอบเงินให้อยู่ในความครอบครองของจำเลย เมื่อจำเลยเอาเงินไปเป็นของตนโดยไม่มีสิทธิอันเป็นการทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้าง และการที่จำเลยลักทรัพย์ของผู้เสียหายในวันเวลาที่ต่างกัน จำเลยย่อมกระทำไปในแต่ละครั้งโดยอาศัยเจตนาในการกระทำความผิดคนละเจตนาแยกต่างหากจากกันตามโอกาสที่มีให้กระทำ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลพิจารณาและพิพากษารวมกัน
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 334, 335 ให้จำเลยคืนเงิน 678,850 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11) วรรคแรก เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 298 กระทง วางโทษจำคุกกระทงละ 1 ปี เป็นจำคุก 298 ปี แต่เนื่องจากอัตราโทษสำหรับความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี กรณีตกอยู่ในบังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) คงจำคุกจำเลยมีกำหนด 20 ปี จำเลยคืนเงินจำนวน 678,850 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิด 263 กรรม คำขอให้ชดใช้เงินให้ยกเสีย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่าเงินที่คนไข้นอกชำระยังเป็นกรรมสิทธิ์ของคนไข้ โรงพยาบาลแม่และเด็ก กรมอนามัย (โรงพยาบาล) จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า เมื่อคนไข้นอกไปพบแพทย์ผู้ตรวจ แพทย์จะออกใบสั่งตรวจและใบสั่งยาให้คนไข้นำไปยื่นที่แผนกการเงินเพื่อชำระเงินค่าตรวจรักษาและค่ายา ฉะนั้นเงินที่คนไข้นอกได้จ่ายให้โรงพยาบาลไป ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโรงพยาบาล การที่จำเลยเอาเงินนั้นไปเป็นประโยชน์ส่วนตนโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการกระทำความผิดในทางอาญาต่อโรงพยาบาล โรงพยาบาลย่อมเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยมีว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์หรือไม่ เห็นว่า จำเลยมีหน้าที่รับเงินค่ารักษาพยาบาลไว้จากคนไข้แทนผู้เสียหายแล้วส่งต่อให้เจ้าหน้าที่เก็บรักษาเงินของผู้เสียหายเมื่อเวลา 15 นาฬิกาในแต่ละวัน เป็นเพียงการยึดถือเงินของผู้เสียหายไว้ชั่วระยะเวลาทำการเท่านั้น ผู้เสียหายหาได้มอบเงินนั้นให้อยู่ในความครอบครองของจำเลยด้วยไม่ เมื่อจำเลยเอาเงินนั้นไปเป็นของตนโดยไม่มีสิทธิอันเป็นการทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้าง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์นายจ้างมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อกฎหมายประการสุดท้ายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทหรือไม่ เห็นว่า จำเลยลักทรัพย์ของผู้เสียหายในวันเวลาที่ต่างกัน จำเลยย่อมกระทำไปในแต่ละครั้ง โดยอาศัยเจตนาในการกระทำความผิดคนละเจตนาแยกต่างหากจากกันตามโอกาสที่มีให้กระทำ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ฎีกาข้ออื่นของจำเลยนอกจากนี้ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15
พิพากษายืน

Share