คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8387-8391/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือมอบอำนาจที่มอบอำนาจให้ฟ้องคดีสำนวนแรก ระบุข้อความไว้ว่าโจทก์ โดย อ. หุ้นส่วนผู้จัดการ ขอมอบอำนาจให้ ธ. เป็นผู้มีอำนาจยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องเป็นคดีอาญา คดีแพ่ง หรือคดีล้มละลาย ในการนี้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนทนายความ รวมทั้ง…การรับเงินหรือเอกสารจากคู่ความหรือศาล และการดำเนินการในชั้นบังคับคดีเกี่ยวกับการยึดทรัพย์สินหรืออื่นๆ ได้จนเสร็จการ การใดที่ผู้รับมอบอำนาจได้กระทำไปภายในขอบเขตแห่งหนังสือฉบับนี้ให้มีผลผูกพันโจทก์เสมือนกับโจทก์ได้ทำด้วยตนเองทุกประการ ส่วนหนังสือมอบอำนาจที่ให้ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในสำนวนที่สอง จำเลยที่ 1 และที่ 4 ในสำนวนที่สาม จำเลยที่ 1 และที่ 5 ในสำนวนที่สี่ จำเลยที่ 1 และที่ 6 ในสำนวนที่ห้า ข้อความที่ว่าให้มีอำนาจฟ้องรวมถึงผู้เกี่ยวข้องเป็นคดีอาญา คดีแพ่ง หรือคดีล้มละลาย รวมทั้งข้อความอื่นคงเป็นเช่นเดียวกันทุกประการ ดังนี้ การมอบอำนาจดังกล่าวของโจทก์ในแต่ละสำนวนคดีเป็นการมอบอำนาจให้ ธ. ฟ้องร้องดำเนินคดีนี้และคดีเรื่องอื่นต่อจำเลยที่ 1 โดยไม่มีข้อจำกัดว่าเป็นการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีเพียงคดีเดียว จึงเป็นการมอบอำนาจให้กระทำมากกว่าครั้งเดียว ซึ่งตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 ของ ป.รัษฎากร กำหนดในข้อ 7 ว่า กรณี (ข) มอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนร่วมกันกระทำการมากกว่าครั้งเดียวต้องเสียค่าอากรแสตมป์ 30 บาท โจทก์จึงต้องปิดอากรแสตมป์ 30 บาท แต่โจทก์ปิดอากรแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจเพียง 10 บาท หนังสือมอบอำนาจจึงเป็นตราสารที่มิได้ปิดแสตมป์ให้บริบูรณ์ในขณะที่โจทก์อ้างเป็นพยานหลักฐาน ไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.รัษฎากร มาตรา 118 กรณีย่อมฟังไม่ได้ว่าโจทก์มอบอำนาจให้ ธ. ฟ้องจำเลยที่ 1 ธ. จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ทั้งห้าสำนวนคดีแทนโจทก์ โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหานี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยรวมไปถึงจำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกา และต้องฟังว่า ธ. ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ด้วยเหตุผลเดียวกัน การที่ ธ. ไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ ผลจึงเท่ากับว่าไม่มีตัวโจทก์เข้ามาฟ้องคดี กรณีเช่นนี้ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ย่อมตกไป เพราะการดำเนินกระบวนพิจารณาตามฟ้องแย้งนั้นจะต้องมีตัวโจทก์เดิมที่จะเป็นจำเลยตามฟ้องแย้งอยู่ด้วย

ย่อยาว

คดีทั้งห้าสำนวนนี้เดิมศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3788/2546 ของศาลชั้นต้น โดยให้เรียกโจทก์ทุกสำนวนว่าโจทก์ เรียกจำเลยในสำนวนแรก จำเลยที่ 1 ในสำนวนที่สองถึงห้าและในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3788/2546 ของศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 1 เรียกจำเลยที่ 2 ในสำนวนที่สองว่า จำเลยที่ 2 เรียกจำเลยที่ 2 ในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3788/2546 ของศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 3 เรียกจำเลยที่ 2 ในสำนวนที่สามว่า จำเลยที่ 4 เรียกจำเลยที่ 2 ในสำนวนที่สี่ว่า จำเลยที่ 5 และเรียกจำเลยที่ 2 ในสำนวนที่ห้าว่าจำเลยที่ 6 แต่คดีสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3788/2546 ของศาลชั้นต้นยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีห้าสำนวนนี้
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ยื่นคำร้องให้หมายเรียกนายธนิต เข้าเป็นโจทก์ร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
สำนวนแรกโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 2,975,378 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 2,711,047 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 1 คืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาบางโพแก่โจทก์
สำนวนที่สองโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเงินจำนวน 3,241,554 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 2,953,585 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาบางโพ แก่โจทก์
สำนวนที่สามโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 4 ชำระเงินจำนวน 5,085,923 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 4,634,106 บาท นับถัดวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
สำนวนที่สี่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 5 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 270,987 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 252,315 บาท นับถัดวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
สำนวนที่ห้าโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 6 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 262,502 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 244,421 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ขอให้ยกฟ้องโจทก์และบังคับให้โจทก์ชดใช้เงินทุกสำนวนตามฟ้องแย้งดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จโดยโจทก์ร่วมแสดงตนเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์เพื่อจูงใจจำเลยที่ 1 เข้าทำสัญญาโจทก์ร่วมจึงต้องร่วมรับผิดเสมือนเป็นหุ้นส่วนของโจทก์
โจทก์และโจทก์ร่วมให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 826,000 บาท จำนวนเงิน 520,000 บาท จำนวนเงิน 227,000 บาท จำนวนเงิน 1,217,000 บาท จำนวนเงิน 1,884,875 บาท จำนวนเงิน 200,000 บาท และจำนวนเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับถัดวันฟ้อง (วันที่ 17 พฤศจิกายน 2540) จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 1 คืนหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาบางโพ สองฉบับ วงเงินค้ำประกัน 325,000 บาท และ 1,035,000 บาท แก่โจทก์ ยกฟ้องแย้งจำเลยทั้งห้าสำนวน ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์ทุกสำนวน ทุนทรัพย์เฉพาะเท่าที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความทุกสำนวน สำนวนละ 10,000 บาท
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เงินจำนวน 1,721,912.20 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ทั้งห้าสำนวนให้เป็นพับนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ฎีกาแต่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 เนื่องจากยื่นฎีกาเกินกำหนด
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นสมควรหยิบยกฎีกาของจำเลยที่ 1 ขึ้นวินิจฉัยก่อนว่า หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ในแต่ละสำนวนคดีรับฟังเป็นพยานหลักฐานตามกฎหมายได้หรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ตามหนังสือมอบอำนาจเป็นการมอบอำนาจให้นายธนิต ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ไม่จำกัดเฉพาะคดีนี้ แต่ให้ฟ้องคดีอื่นๆ เช่น คดีอาญาและคดีล้มละลายได้ด้วย และยังให้มีอำนาจดำเนินการต่างๆ เกี่ยวกับคดีที่ฟ้องได้อีก ถือว่าเป็นการมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวกระทำการมากกว่าครั้งเดียว จึงต้องปิดอากรแสตมป์จำนวน 30 บาท แต่โจทก์ปิดอากรแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจเพียง 10 บาท ไม่ชอบด้วยประมวลรัษฎากรและบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร ข้อ 7 (ข) จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานว่ามีการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้ไม่ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า ตามหนังสือมอบอำนาจที่มอบอำนาจให้ฟ้องคดีสำนวนแรกระบุข้อความไว้ว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด ครีเอทีฟ ดีไซน์ (โจทก์) โดยนางอุทัยวรรณ หุ้นส่วนผู้จัดการ ขอมอบอำนาจให้นายธนิต เป็นผู้มีอำนาจยื่นฟ้องนางงามนิจ (จำเลยที่ 1) รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องเป็นคดีอาญา คดีแพ่งหรือคดีล้มละลาย ในการนี้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนทนายความ รวมทั้ง…การรับเงินหรือเอกสารจากคู่ความหรือศาล และการดำเนินการในชั้นบังคับคดีเกี่ยวกับการยึดทรัพย์สินหรืออื่นๆ ได้จนเสร็จการ การใดที่ผู้รับมอบอำนาจได้กระทำไปภายในขอบเขตแห่งหนังสือฉบับนี้ให้มีผลผูกพันโจทก์เสมือนกับโจทก์ได้ทำด้วยตนเองทุกประการส่วนหนังสือมอบอำนาจที่ให้ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในสำนวนที่สอง จำเลยที่ 1 และที่ 4 ในสำนวนที่สาม จำเลยที่ 1 และที่ 5 ในสำนวนที่สี่ จำเลยที่ 1 และที่ 6 ในสำนวนที่ห้านั้น ข้อความที่ว่าให้มีอำนาจฟ้องรวมถึงผู้เกี่ยวข้องเป็นคดีอาญา คดีแพ่งหรือคดีล้มละลาย รวมทั้งข้อความอื่นคงเป็นเช่นเดี่ยวกันทุกประการ ดังนี้ การมอบอำนาจดังกล่าวของโจทก์ในแต่ละสำนวนคดีเป็นการมอบอำนาจให้นายธนิตฟ้องร้องดำเนินคดีนี้และคดีเรื่องอื่นต่อจำเลยที่ 1 ด้วย โดยไม่มีข้อจำกัดเป็นการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีเพียงคดีเดียว จึงเป็นการมอบอำนาจให้กระทำมากกว่าครั้งเดียว ซึ่งตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 ของประมวลรัษฎากรกำหนดในข้อ 7 ว่า กรณี (ข) มอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนร่วมกันกระทำการมากกว่าครั้งเดียวต้องเสียค่าอากรแสตมป์ 30 บาท เมื่อตามหนังสือมอบอำนาจโจทก์ได้มอบอำนาจให้นายธนิตทำการฟ้องคดีแพ่งและคดีอื่นๆ แทนโจทก์ได้ โจทก์จึงต้องปิดอากรแสตมป์ 30 บาท แต่โจทก์ปิดอากรแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจนั้นเพียง 10 บาท จึงเป็นการปิดอากรแสตมป์ในเอกสารดังกล่าวไม่ครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมาย หนังสือมอบอำนาจจึงเป็นตราสารที่มิได้ปิดแสตมป์ให้บริบูรณ์ในขณะที่โจทก์อ้างเป็นพยานหลักฐาน หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 118 เมื่อหนังสือมอบอำนาจไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้ กรณีย่อมฟังไม่ได้ว่าโจทก์มอบอำนาจให้นายธนิตฟ้องจำเลยที่ 1 นายธนิตจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ทั้งห้าสำนวนคดีแทนโจทก์ โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหานี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยรวมไปถึงจำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาและต้องฟังว่านายธนิตไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ด้วยเหตุผลเดียวกัน การที่นายธนิตไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ ผลจึงเท่ากับว่าไม่มีตัวโจทก์เข้ามาฟ้องคดี กรณีเช่นนี้ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ย่อมตกไปเพราะการดำเนินกระบวนพิจารณาตามฟ้องแย้งนั้นจะต้องมีตัวโจทก์เดิมที่จะเป็นจำเลยตามฟ้องแย้งอยู่ด้วย เมื่อได้วินิจฉัยดังนี้แล้วจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ โจทก์ร่วมและฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 1 อีกต่อไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
อนึ่ง คดีสำนวนที่สองโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ย ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 3,241,554 บาท คิดเป็นค่าขึ้นศาล 81,040 บาท โจทก์เสียค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นเกินมา 373 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินให้แก่โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลทุกสำนวนให้เป็นพับ คืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นที่เสียเกินมาในสำนวนที่สองจำนวน 373 บาท แก่โจทก์

Share