คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1375-1437/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งหกสิบสามบรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นตัวแทนทำสัญญาจ้างแรงงานแทนบริษัท ฤ. นายจ้างซึ่งเป็นตัวการที่อยู่ในประเทศกาตาร์ แม้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นผู้ว่าจ้างและส่งโจทก์ทั้งหกสิบสามไปทำงานที่ประเทศกาตาร์โดยเป็นตัวแทนของบริษัท ฤ. หรือฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นผู้ตกลงรับโจทก์ทั้งหกสิบสามเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ หากจำเลยผิดสัญญาจ้างแรงงาน จำเลยก็ยังคงต้องรับผิดในฐานะตัวแทนของตัวการที่อยู่ต่างประเทศหรือในฐานะนายจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานอยู่นั่นเอง ไม่ถือว่าศาลแรงงานกลางวินิจฉัยหรือพิพากษาเกินไปกว่า หรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องเพราะเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดพยานหลักฐานในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามข้ออ้างในคำฟ้องหรือไม่เท่านั้น
โจทก์ทั้งหกสิบสามฟ้องขอให้จำเลยคืนหนังสือค้ำประกันธนาคารหรือออกหนังสือแสดงความยินยอมให้โจทก์ถอนเงินจากบัญชี เมื่อศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยเรียกให้ธนาคารชำระเงินและธนาคารได้ชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันของโจทก์ทั้งหกสิบสามให้แก่จำเลยแล้ว จึงให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวคืนแก่โจทก์ทั้งหกสิบสาม ซึ่งเป็นการพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้เงินที่ ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี ศาลแรงงานกลางจึงมีอำนาจพิพากษาหรือสั่งเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องตามที่เห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งหกสิบสามโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 ให้จำเลยคืนเงินตามจำนวนที่โจทก์แต่ละคนวางไว้ที่ธนาคารเพื่อให้ธนาคารออกหนังสือค้ำประกันพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ให้โจทก์ทั้งหกสิบสามได้

ย่อยาว

คดีทั้งหกสิบสามสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 63 และเรียกจำเลยทั้งหกสิบสามสำนวนว่าจำเลย
โจทก์ทั้งหกสิบสามฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนหนังสือค้ำประกัน (แบงค์การันตี) และหรือออกหนังสือแสดงความยินยอมให้โจทก์ทั้งหกสิบสามถอนเงินจากบัญชีดังกล่าวได้ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนายินยอมของจำเลย
จำเลยให้การ แก้ไขคำให้การ ฟ้องแย้งและแก้ไขฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์ทั้งหกสิบสามชำระเงินดังกล่าวแก่จำเลยพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่จำเลย ให้โจทก์ทั้งหกสิบสามออกหนังสือแสดงการยินยอมให้ธนาคารชำระเงินของโจทก์คนละ 20,000 บาท ให้แก่จำเลย หากโจทก์ทั้งหกสิบสามไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ทั้งหกสิบสาม
โจทก์ทั้งหกสิบสามให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้งและให้จำเลยคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารแก่โจทก์ทั้งหกสิบสาม
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ทั้งหกสิบสามคนละ 20,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 62 ฟ้องวันที่ 17 สิงหาคม 2550 ส่วนโจทก์ที่ 63 ฟ้องวันที่ 18 ตุลาคม 2550) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งหกสิบสาม
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ประการแรกว่า โจทก์ทั้งหกสิบสามฟ้องจำเลยในฐานะตัวแทนทำสัญญาจ้างแรงงานในต่างประเทศกับโจทก์ทั้งหกสิบสามแทนบริษัทฤทธากาตาร์ฟอร์เทรดแอนด์คอนแทร็คติ้ง จำกัด นายจ้างตัวการที่อยู่ประเทศกาตาร์ และขอให้บังคับจำเลยในฐานะตัวแทนของตัวการดังกล่าวรับผิดต่อโจทก์ทั้งหกสิบสามเป็นการฟ้องให้จำเลยรับผิดฐานะตัวแทน เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่าจำเลยไม่ได้เป็นตัวแทนของบริษัทฤทธากาตาร์ฟอร์เทรดแอนด์คอนแทร็คติ้ง จำกัด โจทก์ทั้งหกสิบสามจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย และการที่โจทก์ทั้งหกสิบสามฟ้องว่าบริษัทฤทธากาตาร์ฟอร์เทรดแอนด์คอนแทร็คติ้ง จำกัด ผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ทั้งหกสิบสาม มิได้ฟ้องจำเลยในฐานะตัวการหรือนายจ้าง การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยรับผิดชอบต่อโจทก์ทั้งหกสิบสาม จึงเป็นการพิพากษาหรือสั่งเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ทั้งหกสิบสามบรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นตัวแทนทำสัญญาจ้างแรงงานแทนบริษัทฤทธากาตาร์ฟอร์เทรดแอนด์คอนแทร็คติ้ง จำกัด นายจ้างซึ่งเป็นตัวการในต่างประเทศ แม้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นผู้จัดตั้งบริษัทฤทธากาตาร์ฟอร์เทรดแอนด์คอนแทร็คติ้ง จำกัด ขึ้นในประเทศกาตาร์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินการก่อสร้างในประเทศกาตาร์ และจำเลยส่งโจทก์ทั้งหกสิบสามไปทำงานที่ประเทศกาตาร์ จำเลยเป็นผู้ว่าจ้างโจทก์ทั้งหกสิบสามโดยเป็นตัวแทนของบริษัทฤทธากาตาร์ฟอร์เทรดแอนด์คอนแทร็คติ้ง จำกัด หรือฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นผู้ตกลงรับโจทก์ทั้งหกสิบสามเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ หากจำเลยผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ทั้งหกสิบสามตามที่โจทก์ทั้งหกสิบสามบรรยายมาในคำฟ้อง จำเลยก็ยังคงต้องรับผิดในฐานะตัวแทนของตัวการที่อยู่ต่างประเทศหรือรับผิดในฐานะเป็นนายจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานอยู่นั่นเอง จึงไม่อาจถือได้ว่าศาลแรงงานกลางวินิจฉัยหรือพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องของโจทก์ทั้งหกสิบสาม เพราะเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดพยานหลักฐานในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยว่า ข้อเท็จจริงเป็นไปตามข้ออ้างของโจทก์ทั้งหกสิบสามในคำฟ้องหรือไม่เท่านั้น โจทก์ทั้งหกสิบสามจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้
ที่จำเลยอุทธรณ์ประการที่สองว่า สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์ทั้งหกสิบสามกับจำเลย ข้อ 10 ที่ระบุว่า “ลูกจ้างจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ กฎหมาย ขนบธรรมเนียมประเพณีของประเทศที่ลูกจ้างไปทำงานโดยเคร่งครัด” ดังนั้นการที่โจทก์ทั้งหกสิบสามกับจำเลยตกลงกันที่ประเทศกาตาร์ให้คำนวณค่าล่วงเวลาตามกฎหมายของประเทศกาตาร์ จึงไม่เป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานนั้น เห็นว่า สัญญาจ้างแรงงานในต่างประเทศ ข้อ 2 ระบุว่า “ลูกจ้างต้องมาทำงาน ณ สถานที่ทำงานตั้งแต่เวลา 08.00 น. ถึงเวลา 17.00 น. พักระหว่างเวลา 12.00 น. ถึงเวลา 13.00 น. ทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน โดยมีวันหยุดประจำสัปดาห์คือวันศุกร์ หรือวันที่ได้ตกลงกับนายจ้าง และวันหยุดตามประเพณี ตามประกาศวันหยุดของนายจ้าง” วรรคสอง “ลูกจ้างจะได้รับค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานไทย โดยใช้ค่าตอบแทนตาม ข้อ 3 เป็นฐานในการคำนวณ” สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์ทั้งหกสิบสามกับจำเลย เมื่อสัญญา ข้อ 2 วรรคสอง ระบุให้ลูกจ้างได้รับค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานไทย อันเป็นข้อสัญญาระบุชัดเจนเฉพาะเจาะจงไว้แล้วเช่นนี้ แม้ในสัญญา ข้อ 10 จะระบุให้ลูกจ้างต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ กฎหมาย ขนบธรรมเนียมประเพณีของประเทศที่ลูกจ้างไปทำงานโดยเคร่งครัด ก็เป็นเพียงการกำหนดให้ลูกจ้างปฏิบัติโดยทั่วไปให้ถูกต้องตามกฎระเบียบ กฎหมาย และขนบธรรมเนียมประเพณีของประเทศกาตาร์ ซึ่งไม่รวมกรณีเรียกร้องค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดที่ยังคงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ตามที่กำหนดไว้ในสัญญา ข้อ 2 วรรคสอง ส่วนที่จำเลยอ้างว่าตามประกาศเป็นประกาศซึ่งโจทก์ทั้งหกสิบสามกับจำเลยตกลงให้คิดค่าล่วงเวลาตามกฎหมายของประเทศกาตาร์นั้น ตามประกาศดังกล่าวเป็นเพียงข้อตกลงระหว่างลูกจ้างบางส่วนกับจำเลยที่ทำขึ้นระหว่างอยู่ที่ประเทศกาตาร์และเป็นประกาศฝ่ายเดียวของจำเลย ข้อตกลงที่กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิตามกฎหมายแรงงานของประเทศกาตาร์ซึ่งเป็นสิทธิที่ต่ำกว่าที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จึงไม่อาจใช้บังคับแก่โจทก์ทั้งหกสิบสามซึ่งเป็นลูกจ้างที่ไม่ยินยอมเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของสัญญาจ้างแรงงานเดิมได้ ดังนั้น เมื่อจำเลยคิดคำนวณค่าล่วงเวลาตามที่กำหนดในประกาศ ข้อ 10 ซึ่งมีอัตราต่ำกว่าตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างแรงงานในต่างประเทศ ข้อ 2 วรรคสอง จึงเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ทั้งหกสิบสาม
ที่จำเลยอุทธรณ์ประการสุดท้ายว่า ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ทั้งหกสิบสามในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องจึงเป็นการไม่ชอบ เห็นว่า โจทก์ทั้งหกสิบสามฟ้องขอให้จำเลยคืนหนังสือค้ำประกันธนาคารหรือออกหนังสือแสดงความยินยอมให้โจทก์ถอนเงินจากบัญชีดังกล่าว ซึ่งศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยได้เรียกให้ธนาคารชำระเงินแก่จำเลย และธนาคารได้ชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันของโจทก์ทั้งหกสิบสามให้แก่จำเลยไปแล้ว ศาลแรงงานกลางจึงวินิจฉัยให้จำเลยต้องชำระเงินดังกล่าวคืนแก่โจทก์ทั้งหกสิบสาม ซึ่งหนี้เงินนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ศาลแรงงานกลางจึงมีอำนาจพิพากษาหรือสั่งเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องตามที่เห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งหกสิบสามโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 โดยให้จำเลยคืนเงินตามจำนวนที่โจทก์แต่ละคนได้วางไว้ที่ธนาคารเพื่อให้ธนาคารออกหนังสือค้ำประกันให้พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่โจทก์ทั้งหกสิบสามได้ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาจึงชอบแล้ว อุทธรณ์จำเลยทุกประการฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share