แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การพิจารณาว่ามีเหตุยกเว้นให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง วรรคสามและวรรคสี่หรือไม่ ต้องพิจารณาเสียก่อนว่าเป็นการเลิกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนหรือไม่ หากเป็นกรณีการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและนายจ้างเลิกจ้างตามกำหนดเวลานั้น ก็ต้องพิจารณาต่อไปว่าเป็นการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้างหรือไม่ และงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปี โดยนายจ้างและลูกจ้างได้ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง สัญญาจ้างระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลย และสัญญาจ้างระหว่างโจทก์ที่ 3 กับจำเลย ข้อ 7 ระบุอย่างเดียวกันว่า “ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีความประสงค์จะเลิกสัญญานี้จะต้องแจ้งให้อีกฝ่ายทราบเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15/30 วัน เว้นแต่การเลิกสัญญาตามความในข้อ 6 แสดงว่าแม้สัญญาจ้างจะกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แล้ว ก็ยังให้สิทธิจำเลยเลิกสัญญาโดยแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้โจทก์ที่ 2 หรือโจทก์ที่ 3 ทราบล่วงหน้าได้ สัญญาจ้างที่ให้สิทธิจำเลยผู้เป็นนายจ้างบอกเลิกสัญญาได้ก่อนครบกำหนดสัญญาเช่นนี้ ระยะเวลาการจ้างจึงไม่แน่นอน และเมื่อไม่เป็นกรณีการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนจึงไม่จำต้องพิจารณาว่าเป็นการจ้างงานในโครงการเฉพาะหรือไม่
ย่อยาว
คดีทั้งสามสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกโจทก์ทั้งสามสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ตามลำดับ และให้เรียกจำเลยทั้งสามสำนวนว่า จำเลย
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องทำนองเดียวกันขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 480,000 บาท 90,000 บาท และ 36,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี สำหรับโจทก์ที่ 1 และที่ 3 นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ส่วนโจทก์ที่ 2 นับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสามตามลำดับ กับให้จำเลยจ่ายค่าลงลายมือชื่ออนุมัติแบบ 5,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1
จำเลยทั้งสามสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ที่ 1 ขอสละข้อเรียกร้องที่ให้จำเลยชำระเงินค่าลงลายมือชื่ออนุมัติแบบตามฟ้อง
ศาลแรงงานกลางเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสามและคำให้การจำเลยรับฟังเป็นที่ยุติได้เพียงพอแก่การวินิจฉัยคดีแล้ว จึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์ทั้งสามและจำเลย และพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 480,000 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 90,000 บาท และโจทก์ที่ 3 จำนวน 36,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี สำหรับโจทก์ที่ 1 นับแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2552 สำหรับโจทก์ที่ 2 นับแต่วันที่ 1 กันยายน 2552 และสำหรับโจทก์ที่ 3 นับแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2552 เป็นต้นไป จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม
จำเลยทั้งสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2550 จำเลยจ้างโจทก์ที่ 1 เข้าทำงานเป็นลูกจ้างในตำแหน่งผู้จัดการโครงการ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 160,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันทำการสุดท้ายของเดือน ครบกำหนดสัญญาจ้างวันที่ 8 กรกฎาคม 2552 แต่โจทก์ที่ 1 กับจำเลยมีการต่อสัญญาจ้างไปจนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2552 หลังจากนั้นไม่มีการต่อสัญญาจ้างกันอีกและจำเลยไม่ได้จัดหางานให้โจทก์ที่ 1 ทำต่อไป จำเลยจ้างโจทก์ที่ 2 เข้าทำงานเป็นลูกจ้างในตำแหน่งพนักงานคลังสินค้า ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 30,000 บาท มีกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันทำการสุดท้ายของเดือน ทำสัญญาจ้าง 3 ฉบับ ฉบับแรกวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2551 ฉบับที่ 2 วันที่ 1 มกราคม 2552 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2552 และฉบับที่ 3 วันที่ 1 กรกฎาคม 2552 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2552 โดยไม่มีการต่อสัญญาจ้างกันอีก จนถึงวันที่ 1 กันยายน 2552 จำเลยไม่ให้โจทก์ที่ 2 ทำงานต่อไป และวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551 จำเลยจ้างโจทก์ที่ 3 เข้าทำงานเป็นลูกจ้างในตำแหน่งพนักงานคลังสินค้า ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 12,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันทำการสุดท้ายของเดือน สัญญาจ้างฉบับแรกตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2551 และฉบับที่ 2 วันที่ 1 มกราคม 2552 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2552 เมื่อครบกำหนดแล้ว จำเลยไม่ต่อสัญญาจ้างให้โจทก์ที่ 3 และไม่ให้โจทก์ที่ 3 ทำงานต่อไป จำเลยมีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด (มหาชน) มีวัตถุประสงค์หลักในการผลิต ออกแบบ จำหน่าย ติดตั้ง และบำรุงรักษาลิฟต์ จำเลยได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ติดตั้งลิฟต์ในโครงการคอนโดมิเนียม “เดอะ เม็ท” ถนนสาทรใต้ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร โดยโครงการดังกล่าวได้ทำสัญญาว่าจ้างการติดตั้งลิฟต์กับจำเลย ในการว่าจ้างโจทก์ที่ 1 จำเลยมอบหมายให้โจทก์ที่ 1 ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลในการติดตั้งลิฟต์ในโครงการดังกล่าว และมอบหมายให้โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ทำหน้าที่เป็นพนักงานคลังสินค้า ดูแลสินค้าต่าง ๆ ของจำเลยซึ่งอยู่ในโครงการดังกล่าว หลังจากที่สัญญาจ้างระหว่างโจทก์ที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยสิ้นสุดลงในวันที่ 31 สิงหาคม 2552 และระหว่างโจทก์ที่ 3 กับจำเลยสิ้นสุดลงในวันที่ 30 มิถุนายน 2552 โจทก์ทั้งสามและจำเลยไม่ได้ต่อสัญญาจ้างกันอีก และจำเลยไม่ได้จัดหางานให้โจทก์ทั้งสามทำต่อไป รวมทั้งไม่ได้จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งสามอีกต่อไป โดยโจทก์ทั้งสามไม่ได้กระทำความผิด แล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เมื่อสัญญาจ้างระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยสิ้นสุดลงแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีการต่อสัญญาจ้างกันต่อไปอีก ทั้งจำเลยไม่ได้ให้โจทก์ทั้งสามทำงานต่อไปรวมทั้งไม่ได้จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งสาม จึงต้องถือว่าจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสามแล้วด้วยเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้าง ประกอบกับเมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสามได้กระทำความผิดแต่อย่างใด จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสามตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่งและวรรคสอง อย่างไรก็ตามจำเลยสามารถปฏิเสธไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสามได้ หากการจ้างงานระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยเข้าหลักเกณฑ์ครบถ้วนทุกประการตามความในมาตรา 118 วรรคสามและวรรคสี่ แต่การจ้างระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยหาได้เข้าหลักเกณฑ์ของบทบัญญัติดังกล่าวครบถ้วนทุกประการไม่ ทั้งนี้ เมื่อได้พิจารณาวัตถุประสงค์หลักในการประกอบธุรกิจของบริษัทจำเลยซึ่งทำการผลิต ออกแบบ จำหน่าย ติดตั้งและบำรุงรักษาลิฟต์แล้ว มีความหมายชัดเจนในตัวเองอยู่แล้วว่า การผลิต ออกแบบ จำหน่าย ติดตั้งและบำรุงรักษาลิฟต์นั้น เป็นงานตามปกติของธุรกิจหรือการค้าของจำเลยดังจะเห็นได้จากงานที่จำเลยมอบหมายให้โจทก์ที่ 1 ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลการติดตั้งลิฟต์โครงการคอนโดมิเนียม “เดอะ เม็ท” ซึ่งเป็นงานตามวัตถุประสงค์หลักในการประกอบธุรกิจของจำเลย อันถือได้ว่าเป็นการจ้างโจทก์ที่ 1 ให้ทำงานอันเป็นปกติของธุรกิจหรือการค้าของจำเลย สำหรับโจทก์ที่ 2 และที่ 3 นั้น จำเลยมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นพนักงานคลังสินค้า ดูแลสินค้าต่าง ๆ ของจำเลยซึ่งอยู่ในโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมดังกล่าวอันเป็นโครงการที่จำเลยได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ติดตั้งลิฟต์ และหากจำเลยติดตั้งลิฟต์ในโครงการดังกล่าวเสร็จแล้ว โจทก์ที่ 2 และที่ 3 กับจำเลยจะไม่ดำเนินการต่อสัญญาจ้างกันอีกต่อไป แสดงให้เห็นได้ว่าระยะเวลาการทำสัญญาจ้างระหว่างโจทก์ที่ 2 และที่ 3 กับจำเลยนั้น มีเงื่อนไขขึ้นอยู่กับว่าจำเลยได้ทำการติดตั้งลิฟต์ในโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จเมื่อใด หากจำเลยติดตั้งลิฟต์แล้วเสร็จในกำหนดเวลาว่าจ้าง จำเลยก็ไม่ต่อสัญญาจ้างให้แก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 แต่หากจำเลยยังติดตั้งลิฟต์ในโครงการดังกล่าวไม่แล้วเสร็จ จำเลยก็ต้องต่อสัญญาจ้างกับโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ต่อไป จึงเชื่อได้ว่าที่จำเลยมอบหมายให้โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ทำหน้าที่เป็นพนักงานคลังสินค้า ดูแลสินค้าต่าง ๆ ของจำเลยที่อยู่ในโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมดังกล่าวนั้น เป็นการมอบหมายให้ดูแลสินค้าประเภทลิฟต์รวมทั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งจะนำมาติดตั้งในโครงการดังกล่าว อันถือได้ว่าจำเลยจ้างโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ให้ทำงานอันเกี่ยวกับงานอันเป็นปกติของธุรกิจหรือการค้าของจำเลยด้วย จึงไม่จำต้องพิจารณาต่อไปว่า การจ้างระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยจะเข้าหลักเกณฑ์ในประการอื่นของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสามและวรรคสี่ หรือไม่ จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน เป็นเงิน 480,000 บาท 90,000 บาท และ 36,000 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสามตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 คือ นับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไป แต่ในส่วนของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ขอดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จึงกำหนดให้ตามขอ
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า มีเหตุให้ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาใหม่หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ข้อยกเว้นที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง มีบัญญัติไว้ในวรรคสาม กล่าวคือ ต้องเป็นกรณีการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน และนายจ้างเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น โดยความในวรรคสี่บัญญัติต่อไปอีกว่า การจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาตามวรรคสามกระทำได้สำหรับการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอน หรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงาน หรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 2 ปี โดยนายจ้างและลูกจ้างได้ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง ดังนั้น การพิจารณาว่ามีเหตุยกเว้นให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างตามมาตรานี้หรือไม่ จึงต้องพิจารณาเสียก่อนว่าเป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนตามวรรคสามหรือไม่ หากเป็นกรณีการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและนายจ้างเลิกจ้างตามกำหนดเวลานั้นแล้วจึงจะพิจารณาต่อไปว่าเป็นการจ้างงานในโครงการเฉพาะตามวรรคสี่หรือไม่ หากมิใช่เป็นกรณีการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนก็ไม่เข้ากรณียกเว้นให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยอยู่แล้ว ไม่จำต้องวินิจฉัยว่า เป็นโครงการเฉพาะตามวรรคสี่หรือไม่ต่อไปอีก ตามสัญญาจ้างระหว่างจำเลยกับโจทก์ที่ 2 และระหว่างจำเลยกับโจทก์ที่ 3 ท้ายคำให้การของจำเลย ความในข้อ 7 ของทั้ง 2 สัญญาระบุอย่างเดียวกันว่า ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีความประสงค์จะเลิกสัญญานี้จะต้องแจ้งให้อีกฝ่ายทราบเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15/30 วัน เว้นแต่การเลิกสัญญาตามความในข้อ 6 (อันเป็นการเลิกสัญญากรณีลูกจ้างฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของจำเลย ฯลฯ) แสดงว่าแม้สัญญาจะกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แล้ว แต่ก็ยังให้สิทธิจำเลยเลิกสัญญาโดยแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้โจทก์ที่ 2 หรือโจทก์ที่ 3 ทราบล่วงหน้าได้ด้วย สัญญาจ้างที่ให้สิทธิจำเลยผู้เป็นนายจ้างบอกเลิกสัญญาได้ก่อนครบกำหนดสัญญาเช่นนี้ ระยะเวลาการจ้างจึงไม่แน่นอน และเมื่อไม่เป็นกรณีการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนตามวรรคสามเสียแล้ว จึงไม่จำต้องพิจารณาว่าเป็นการจ้างงานในโครงการเฉพาะตามวรรคสี่หรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไปได้ สำหรับกรณีของโจทก์ที่ 1 นั้น จำเลยทำสัญญาจ้างกับโจทก์ที่ 1 รวม 2 ฉบับ ฉบับแรกระยะเวลาการจ้างตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2550 ถึงวันที่ 8 กรกฎาคม 2552 ฉบับที่ 2 ระยะเวลาการจ้างตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2552 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2552 ระยะเวลาการจ้างตามสัญญาจ้างทั้ง 2 ฉบับ จึงต่อเนื่องกัน รวมแล้วเกินกว่า 2 ปี จึงมิใช่งานที่จะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 2 ปี อันเป็นหลักเกณฑ์ประการหนึ่งของบทบัญญัติตามวรรคสี่ ไม่จำต้องวินิจฉัยว่างานตามสัญญาจ้างเป็นงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของจำเลยผู้เป็นนายจ้างดังที่จำเลยหยิบยกขึ้นอ้างในอุทธรณ์หรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไปได้เช่นเดียวกัน
พิพากษายืน