คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12640/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ.2551 นั้น นอกจากจะมีข้อ 10 ซึ่งกำหนดวงเงินค้ำประกันที่นายจ้างเรียกให้ผู้ค้ำประกันรับผิดต้องไม่เกิน 60 เท่า ของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ อันเป็นการจำกัดขอบเขตความรับผิดของผู้ค้ำประกันในความเสียหายจากการทำงานให้แตกต่างไปจากหลักทั่วไปในเรื่องเสรีภาพในการทำสัญญาแล้วยังมีข้อ 12 ซึ่งกำหนดว่า กรณีที่มีการเรียกหรือรับหลักประกันเกินที่กำหนดไว้มาก่อนวันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับนั้น ให้เป็นหน้าที่ของนายจ้างดำเนินการให้มีหลักประกันไม่เกินมูลค่าของหลักประกันตามที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ด้วย แสดงว่านายจ้างและลูกจ้างไม่อาจตกลงนอกเหนือจากหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ประกาศดังกล่าวกำหนด ดังนั้นสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ทำไว้กับโจทก์แม้จะทำกันก่อนประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับก็ตาม แต่เมื่อประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับแล้ว ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันซึ่งเกิดขึ้นภายหลังก็ต้องบังคับไปตามหลักเกณฑ์ของประกาศฉบับดังกล่าวคือไม่เกิน 60 เท่า ของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างได้รับด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 121,944.79 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองขาดนัด
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 121,944.79 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมชำระหนี้แก่โจทก์จำนวน 15,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ทำงานเป็นลูกจ้างของโจทก์ ตำแหน่งพนักงานขาย มีหน้าที่เก็บเงินค่าสินค้าด้วย ได้รับค่าจ้างอัตราเดือนละ 7,500 บาท จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ระหว่างทำงาน เมื่อเดือนธันวาคม 2551 เป็นต้นมา จำเลยที่ 1 เก็บเงินค่าสินค้าและเอาสินค้าไปขายเอาเงินไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว รวมเป็นเงิน 121,944.79 บาท จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์ เนื่องจากมีประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ.2551 มีผลใช้บังคับนับตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2551 โดยกำหนดว่าในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันเมื่อคำนวณจากมูลค่าของหลักประกันทุกประเภทรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 60 เท่า ของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างมีค่าจ้างอัตราเดือนละ 7,500 บาท จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดจำนวน 15,000 บาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เต็มจำนวนตามฟ้องหรือไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า สัญญาค้ำประกันลงวันที่ 22 ตุลาคม 2550 ทำขึ้นก่อนวันที่ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ. 2551 มีผลใช้บังคับ การค้ำประกันรายนี้จึงไม่อยู่ในบังคับของประกาศกระทรวงแรงงานนั้น เห็นว่า ประกาศของกระทรวงแรงงานฉบับดังกล่าว นอกจากจะมีข้อ 10 กำหนดวงเงินค้ำประกันที่นายจ้างเรียกให้ผู้ค้ำประกันรับผิดต้องไม่เกิน 60 เท่า ของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ อันเป็นการจำกัดขอบเขตความรับผิดของผู้ค้ำประกันในความเสียหายจากการทำงานให้แตกต่างไปจากหลักทั่วไปในเรื่องเสรีภาพในการทำสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว ยังมีข้อ 12 กำหนดว่า กรณีที่มีการเรียกหรือรับหลักประกันเกินที่กำหนดไว้มาก่อนวันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับนั้น ให้เป็นหน้าที่ของนายจ้างดำเนินการให้มีหลักประกันไม่เกินมูลค่าของหลักประกันตามที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ด้วย แสดงว่านายจ้างและลูกจ้างไม่อาจตกลงนอกเหนือจากหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ประกาศดังกล่าวกำหนด ดังนั้นสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ทำไว้กับโจทก์แม้จะทำกันก่อนประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับก็ตาม แต่เมื่อประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับแล้ว ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันก็ต้องบังคับไปตามหลักเกณฑ์ของประกาศฉบับดังกล่าวคือไม่เกิน 60 เท่า ของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างได้รับ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share