คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12115-12180/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 2ฯ โดยอาศัยอำนาจตามความใน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 6 และ 23 วรรคหนึ่ง เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้าง ซึ่งทำงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้างไม่ให้ทำงานเช่นว่านั้นเป็นระยะเวลานานเกินสมควร การกำหนดให้งานผลิตสารเคมีอันตรายเป็นงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้างตามกฎกระทรวงดังกล่าว ก็เพื่อคุ้มครองลูกจ้างที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสารเคมีไม่ให้ได้รับหรือสัมผัสกับสารเคมีเป็นระยะเวลานานเกินสมควร งานผลิตสารเคมีอันตรายจึงหมายความรวมถึงงานที่ใช้สารเคมีอันตรายเป็นวัตถุดิบในการผลิตด้วย แต่ทั้งนี้โดยสภาพของงานต้องมีความเสี่ยงอันตรายสูงหรือมีภาวะแวดล้อมในการทำงานเกินมาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 103 ซึ่งไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขที่แหล่งกำเนิดได้ และต้องจัดให้มีการป้องกันที่ตัวบุคคล แต่ปัจจุบันยังไม่มีกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 103 ใช้บังคับ จึงต้องใช้ประกาศกระทรางมหาดไทย เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับภาวะแวดล้อม (สารเคมี) ซึ่งออกโดยอำนาจตามความในข้อ 2 (7) แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 บังคับ ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 166
จำเลยให้โจทก์ทำงานเกี่ยวกับการผลิตสินค้าที่ต้องใช้สารเคมีอันตรายเป็นวัตถุดิบแต่การผลิตเป็นระบบปิด โจทก์ไม่ได้สัมผัสกับสารเคมีอันตรายเป็นเวลานาน จึงมิใช่กรณีที่โดยสภาพของงานมีความเสี่ยงอันตรายสูง ทั้งการตรวจวัดภาวะแวดล้อมในการทำงานก็ปรากฏว่าเสียง แสงสว่าง ความร้อน ปริมาณความเข้มของฝุ่นปนเปื้อนและสารเคมีในสถานประกอบกิจการของจำเลยไม่เกินมาตรฐานที่กำหนดในประกาศกระทรางมหาดไทยดังกล่าว และจำเลยได้จัดให้ลูกจ้างสวมอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคลแล้ว งานที่โจทก์ทำจึงมิใช่งานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้างตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 23 โจทก์ทำงานไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา

ย่อยาว

โจทก์ทั้งหกสิบหกสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาตามจำนวนในคำขอท้ายฟ้องของโจทก์แต่ละคน พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี และเงินเพิ่มร้อยละ 15 ของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลาเจ็ดวันแก่โจทก์ดังกล่าว
จำเลยทั้งหกสิกหกสำนวนให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งหกสิบหกสำนวน
โจทก์ทั้งหกสิบหกอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “…คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหกสิบหกว่า โจทก์ทั้งหกสิบหกทำงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้างตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2541) ข้อ 2 (5) หรือไม่ เห็นว่า กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2541) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 6 และมาตรา 23 วรรคหนึ่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างซึ่งทำงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้างไม่ให้ต้องทำงานเช่นว่านั้นเป็นระยะเวลานานเกินสมควร ซึ่งการกำหนดให้งานผลิตสารเคมีอันตรายเป็นงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้างตามกฎกระทรวงดังกล่าว ข้อ 2 (5) นั้น ก็เพื่อคุ้มครองลูกจ้างที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสารเคมีอันตราย ไม่ให้ได้รับหรือสัมผัสกับสารเคมีดังกล่าวเป็นระยะเวลานานเกินสมควรดังนั้น งานผลิตสารเคมีอันตรายตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2541) ข้อ 2 (5) จึงหมายความรวมถึงงานที่ใช้สารเคมีอันตรายเป็นวัตถุดิบในการผลิตด้วย แต่ทั้งนี้โดยสภาพของงานต้องมีความเสี่ยงอันตรายสูงหรือมีภาวะแวดล้อมในการทำงานเกินมาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 103 ซึ่งไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขที่แหล่งกำเนิดได้ และต้องจัดให้มีการป้องกันที่ตัวบุคคล แต่ปัจจุบันยังไม่มีกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 103 ใช้บังคับ จึงตัองใช้ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับภาวะแวดล้อม (สารเคมี) ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 2 (7) แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 บังคับตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 166 อันเป็นบทเฉพาะกาล แม้ข้อเท็จจริงจะฟังเป็นยุติว่า จำเลยให้โจทก์ทั้งหกสิบหกทำงานเกี่ยวกับการผลิตสินค้าที่ต้องใช้สารเคมีอันตรายเป็นวัตถุดิบแต่เมื่อการผลิตสินค้าของจำเลยเป็นระบบปิดโจทก์ทั้งหกสิบหกไม่ได้สัมผัสกับสารเคมีอันตรายเป็นเวลานาน จึงมิใช่เป็นกรณีที่โดยสภาพของงานมีความเสี่ยงอันตรายสูงทั้งผลการตรวจวัดภาวะแวดล้อมในการทำงานก็ปรากฏว่า เสียง แสงสว่าง ความร้อนปริมาณความเข้มข้นของฝุ่นปนเปื้อนและสารเคมีในสถานประกอบกิจการของจำเลยไม่เกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว และจำเลยได้จัดให้ลูกจ้างมีการสวมอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคลแล้ว งานที่โจทก์ทั้งหกสิบหกทำจึงมิใช่งานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 23 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ทั้งหกสิบหกมีเวลาทำงานปกติเพียงวันละ 7 ชั่วโมง 40 นาที ซึ่งไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง โจทก์ทั้งหกสิบหกจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหกสิบหกฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share