แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
วันที่มีการคลอดบุตรหรือตายแล้วแต่กรณีตามฟ้องของโจทก์นั้น โจทก์ยังมิได้จ่ายเงินสมทบให้แก่จำเลยครบถ้วนตามกฎหมาย อันจะทำให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน เพราะอยู่ในระหว่างที่มีการโต้แย้งขององค์การค้าของคุรุสภาซึ่งเป็นนายจ้างกับจำเลยว่าจะต้องจ่ายเงินสมทบในกรณีคลอดบุตรหรือกรณีตายเพียงใด ดังนั้น โจทก์จึงยังมิอาจใช้สิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันคลอดบุตรหรือวันตายแล้วแต่กรณีตาม พ.ร.บ. ประกันสังคมฯ มาตรา 56 วรรคหนึ่ง แต่มาตรา 56 วรรคหนึ่ง ไม่ได้บัญญัติตัดสิทธิผู้ยื่นคำขอไว้โดยเด็ดขาด การที่ผู้ยื่นคำขอยื่นคำขอเกินกำหนดระยะเวลา 1 ปี อันจะทำให้ผู้ยื่นคำขอต้องเสียสิทธินั้น ต้องเป็นกรณีที่ผู้ยื่นคำขอไม่มีเหตุผลอันสมควรหรือความจำเป็นที่จะต้องใช้สิทธิล่าช้า หากผู้ยื่นคำขอมีเหตุผลอันสมควรหรือความจำเป็นที่ต้องใช้สิทธิล่าช้าก็จะนำระยะเวลาดังกล่าวมาตัดสิทธิผู้ยื่นคำขอเสียทีเดียวหาได้ไม่ เมื่อปรากฏว่า องค์การค้าของคุรุสภาออกประกาศแจ้งให้ลูกจ้างทั้งหมดรวมทั้งโจทก์ทราบเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2543 ว่าจะต้องหักเงินสมทบส่วนของลูกจ้างเพิ่มเติมในกรณีคลอดบุตรและกรณีตาย โดยจะหักย้อนหลังไปจนถึงเดือนเมษายน 2538 และองค์การค้าของคุรุสภาได้สำรองจ่ายแทนเงินสมทบส่วนของลูกจ้างส่งไปให้จำเลยเมื่อประมาณเดือนสิงหาคม 2543 และหักเงินสมทบจากลูกจ้างทั้งหมดครบถ้วน เมื่อประมาณเดือนสิงหาคม 2544 ดังนั้น การที่โจทก์ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนสำหรับกรณีคลอดบุตรหรือกรณีตายที่เกิดขึ้นในระหว่างเดือนเมษายน 2538 ถึงเดือนสิงหาคม 2544 เกินกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันคลอดบุตรหรือวันตายอันเป็นวันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนนั้น เป็นกรณีที่โจทก์มีเหตุผลอันสมควรหรือความจำเป็นที่ต้องใช้สิทธิล่าช้า โจทก์จึงยื่นคำขอเกินกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนได้
ย่อยาว
คดีทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบสี่สำนวนนี้ เดิมศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันกับคดีหมายเลขดำที่ 4709/2545 ของศาลแรงงานกลาง โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 155 แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลาง โจทก์คดีหมายเลขดำที่ 4709/2545 ซึ่งเป็นโจทก์ที่ 27 ขอถอนฟ้อง ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาต คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีหนึ่งร้อยห้าสิบสี่สำนวนนี้
โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบสี่สำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องทำนองเดียวกันขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของจำเลยและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ และให้จำเลยประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรแก่โจทก์ชุดที่ 1 และจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีตายแก่โจทก์ชุดที่ 2 พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบสี่สำนวนให้การทำนองเดียวกันขอให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งหมด
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลย และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์แต่เฉพาะคำวินิจฉัยในส่วนของโจทก์ที่ 42 ที่ 46 ที่ 51 ที่ 52 ที่ 58 ที่ 60 ที่ 68 ที่ 84 ที่ 104 ที่ 115 และที่ 139 ให้เพิกถอนเฉพาะส่วนที่วินิจฉัยว่าโจทก์ดังกล่าวไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนเพราะยื่นคำขอเกิน 1 ปี ส่วนคำขออื่นของโจทก์ดังกล่าวนี้ให้ยกเสีย ให้จำเลยจ่ายค่าคลอดบุตรแก่โจทก์ที่ 3 ที่ 6 ที่ 8 ถึงที่ 26 ที่ 28 ถึงที่ 40 ที่ 43 ถึงที่ 50 ที่ 54 ที่ 59 ที่ 61 ที่ 63 ถึงที่ 67 ที่ 69 ถึงที่ 83 ที่ 85 ที่ 87 ที่ 89 ถึงที่ 107 ที่ 109 ถึงที่ 114 ที่ 116 ถึงที่ 122 ที่ 124 ถึงที่ 129 ที่ 131 ที่ 133 ที่ 135 ถึงที่ 137 และที่ 140 ถึงที่ 153 คนละ 4,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 17 และที่ 132 คนละ 8,000 บาท และคำนวณจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการคลอดบุตรแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 10 ที่ 12 ที่ 15 ที่ 17 ที่ 19 ที่ 21 ที่ 23 ที่ 24 ที่ 30 ที่ 31 ที่ 47 ที่ 48 ถึงที่ 50 ที่ 54 ที่ 59 ที่ 61 ที่ 63 ที่ 64 ถึงที่ 67 ที่ 69 ถึงที่ 77 ที่ 79 ที่ 81 ถึงที่ 83 ที่ 85 ที่ 87 ที่ 89 ที่ 91 ถึงที่ 105 ที่ 107 ที่ 112 ถึงที่ 114 ที่ 116 ถึงที่ 122 ที่ 124 ถึงที่ 129 ที่ 131 ถึงที่ 133 ที่ 137 ที่ 142 ถึงที่ 144 ที่ 146 ที่ 149 ที่ 150 ที่ 152 และที่ 153 ซึ่งเป็นหญิง (ยกเว้นโจทก์ที่ 33) ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 67 ประกอบด้วยมาตรา 57 ให้จำเลยจ่ายค่าทำศพแก่โจทก์ที่ 55 ที่ 56 ที่ 62 ที่ 86 ที่ 130 ที่ 134 และที่ 154 คนละ 20,000 บาท แก่โจทก์ที่ 41 ที่ 53 ที่ 57 ที่ 88 ที่ 123 ที่ 138 และที่ 155 คนละ 30,000 บาท และคำนวณจ่ายเงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตายแก่โจทก์ที่ 41 ที่ 53 ที่ 55 ถึงที่ 57 ที่ 62 ที่ 86 ที่ 88 ที่ 123 ที่ 130 ที่ 134 ที่ 138 ที่ 154 และที่ 155 ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 73 (2) (ก) (ข) ประกอบด้วยมาตรา 57 พร้อมทั้งให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของประโยชน์ทดแทนที่ต้องจ่ายทั้งหมดดังกล่าวนับแต่วันฟ้องของโจทก์แต่ละคนเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งหมด
โจทก์ที่ 51 ที่ 60 และจำเลยทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบสี่สำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า เห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบสี่สำนวนว่า คำสั่งของจำเลยและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบสี่สำนวน ที่ว่าโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบสี่สำนวนยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนทั้งกรณีคลอดบุตรและกรณีตายพ้นกำหนด 1 ปีนับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทน โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบสี่สำนวนจึงไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรและกรณีตายแล้วแต่กรณีนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนหรือไม่ เห็นว่า ในวันที่มีการคลอดบุตรหรือตายแล้วแต่กรณีตามฟ้องของโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบสี่สำนวนนั้น โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบสี่สำนวนยังมิได้จ่ายเงินสมทบให้แก่จำเลยครบถ้วนตามกฎหมาย อันจะทำให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน เพราะอยู่ในระหว่างที่มีการโต้แย้งขององค์การค้าของคุรุสภาซึ่งเป็นนายจ้างกับจำเลยว่าจะต้องจ่ายเงินสมทบในกรณีคลอดบุตรหรือกรณีตายเพียงใด ดังนั้น โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบสี่สำนวนจึงยังมิอาจใช้สิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนภายในกำหนด 1 ปีนับแต่วันคลอดบุตรหรือวันตายแล้วแต่กรณีตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 56 วรรคหนึ่ง ดังที่จำเลยทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบสี่สำนวนอุทธรณ์ แต่อย่างไรก็ตามมาตรา 56 วรรคหนึ่ง ไม่ได้บัญญัติตัดสิทธิผู้ยื่นคำขอไว้โดยเด็ดขาด การที่ผู้ยื่นคำขอยื่นคำขอเกินกำหนดระยะเวลา 1 ปี อันจะทำให้ผู้ยื่นคำขอต้องเสียสิทธินั้น ต้องเป็นกรณีที่ผู้ยื่นคำขอไม่มีเหตุผลอันสมควรหรือความจำเป็นที่ต้องใช้สิทธิล่าช้า หากผู้ยื่นคำขอมีเหตุผลอันสมควรหรือความจำเป็นที่ต้องใช้สิทธิล่าช้าก็จะนำระยะเวลาดังกล่าวมาตัดสิทธิผู้ยื่นคำขอเสียทีเดียวหาได้ไม่ เมื่อปรากฏว่า องค์การค้าของคุรุสภาออกประกาศแจ้งให้ลูกจ้างทั้งหมดรวมทั้งโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบสี่สำนวนทราบเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2543 ว่าจะต้องหักเงินสมทบส่วนของลูกจ้างเพิ่มเติมในกรณีคลอดบุตรและกรณีตาย โดยจะหักย้อนหลังไปจนถึงเดือนเมษายน 2538 และองค์การค้าของคุรุสภาได้สำรองจ่ายแทนเงินสมทบส่วนของลูกจ้างส่งไปให้จำเลยเมื่อประมาณเดือนสิงหาคม 2543 และหักเงินสมทบจากลูกจ้างทั้งหมดครบถ้วนเมื่อประมาณเดือนสิงหาคม 2544 ดังนั้น การที่โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบสี่สำนวนยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนสำหรับกรณีคลอดบุตรหรือกรณีตายที่เกิดขึ้นในระหว่างเดือนเมษายน 2538 ถึงเดือนสิงหาคม 2544 เกินกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันคลอดบุตรหรือวันตายอันเป็นวันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนนั้น เป็นกรณีที่โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบสี่สำนวนมีเหตุผลอันสมควรหรือความจำเป็นที่ต้องใช้สิทธิล่าช้า โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบสี่สำนวนจึงยื่นคำขอเกินกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนได้ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบสี่สำนวนยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายในกำหนดแล้วคำสั่งของจำเลยและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบสี่สำนวนที่ให้ยกคำร้องจึงเป็นคำสั่งและคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ส่วนที่จำเลยทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบสี่สำนวนอุทธรณ์ด้วยว่า ที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบสี่สำนวนได้ร้องภายใน 1 ปีนับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทน ขัดต่อพยานหลักฐานไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางอันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบสี่สำนวนฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.