คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2613-2614/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามหนังสือรับรองการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 มีอำนาจลงลายมือชื่อทำนิติกรรมใด ๆ แทนจำเลยที่ 1 โดยไม่ต้องมีตราประทับและไม่มีข้อจำกัดอำนาจ ทั้งจำเลยที่ 2 สั่งจ่ายเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ค่าสินค้าของจำเลยที่ 1 กรณีจึงถือได้ว่าที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาทเป็นการกระทำในนามหรือแทนจำเลยที่ 1 อันเป็นการแสดงออกถึงความประสงค์ของนิติบุคคลโดยผู้แทนโดยไม่จำต้องมีตราประทับของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงต้องมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ ร่วมกับจำเลยที่ 2 ด้วย

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งให้พิจารณารวมกัน โดยเรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ เรียกโจทก์ร่วมทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ร่วม และเรียกจำเลยทั้งสองสำนวนว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2
โจทก์ฟ้องทั้งสองสำนวนขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ป.อ. มาตรา 83 และนับโทษจำเลยที่ 2 ทั้งสองสำนวนติดต่อกัน
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกันทั้งสองสำนวนตามที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างการพิจารณาผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประกอบ ป.อ. มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 เช็คฉบับแรก ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 10,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 เดือน เช็คฉบับที่ 2 ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 4,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 เดือน เช็คฉบับที่ 3 ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 4,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 เดือน เช็คฉบับที่ 4 ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 4,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 เดือน เช็คฉบับที่ 5 ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 6,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 เดือน รวมปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 28,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 8 เดือน หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29 คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ทั้งสองสำนวน
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลดโทษจำเลยที่ 2 หนึ่งในสี่แล้วคงจำคุกจำเลยที่ 2 เป็นเวลา 6 เดือน ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยที่ 2 ฎีกาทั้งสองสำนวน โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จำเลยที่ 2 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามหนังสือรับรองการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 มีอำนาจลงลายมือชื่อทำนิติกรรมใด ๆ แทนจำเลยที่ 1 โดยไม่ต้องมีตราประทับและไม่มีข้อจำกัดอำนาจของจำเลยที่ 2 ทั้งจำเลยที่ 2 ได้สั่งจ่ายเช็คพิพาททุกฉบับเพื่อชำระหนี้ค่าสินค้าของจำเลยที่ 1 กรณีจึงถือได้ว่าที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาทเป็นการกระทำในนามหรือแทนจำเลยที่ 1 อันเป็นการแสดงออกถึงความประสงค์ของนิติบุคคลโดยผู้แทนโดยไม่จำต้องมีตราประทับของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงต้องมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ด้วย
พิพากษาเป็นว่า ให้บังคับคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2.

Share