คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6597-6598/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะที่ออก พ.ร.บ. เวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษสายบางซื่อ – หัวลำโพง – พระโขนง … พ.ศ. 2540 เวนคืนที่ดินของโจทก์นั้น พระราชกฤษฎีกาฯ ที่กำหนดให้ที่ดินของโจทก์อยู่ในบริเวณที่ที่จะต้องเวนคืนหมดอายุบังคับใช้ไปแล้ว กรณีนี้ต้องถือว่าเป็นการใช้บังคับ พ.ร.บ. เวนคืนอสังหาริมทรัพย์โดยมิได้มีการออก พระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 เข้ากรณีตามมาตรา 23 ซึ่งมาตรา 23 ประกอบมาตรา 28 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้เจ้าหน้าที่เวนคืนจ่ายเงินค่าทดแทนแก่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ภายในระยะเวลาที่กำหนดซึ่งต้องไม่เกิน 120 วัน นับแต่วันที่คณะกรรมการได้กำหนดเงินค่าทดแทนแล้ว วันที่ช้าที่สุดเจ้าหน้าที่เวนคืนจะต้องจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์คือวันที่ครบกำหนด 120 วัน นับแต่วันที่คณะกรรมการได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ วันดังกล่าวจึงเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 26 วรรคท้าย โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยนับแต่วันดังกล่าว

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์สำนวนแรกว่าโจทก์ที่ ๑ เรียกโจทก์สำนวนหลังว่าโจทก์ที่ ๒ และเรียกจำเลยทั้งสองสำนวนคงเดิม
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน ๒๔๘,๑๔๐,๐๐๐ บาท และ ๓๔๘,๒๗๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน นับแต่วันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๓๕ และวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๓๕ ตามลำดับ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ ๑ และที่ ๒
จำเลยทั้งสี่ทั้งสองสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ศาลชั้นต้นอนุญาตและให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ จากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสอง (ที่ถูกจำเลยที่ ๑ และที่ ๒) ร่วมกันชำระเงินจำนวน ๑๘๑,๘๒๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ที่ ๑ และให้ชำระเงินจำนวน ๒๗๕,๙๕๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ที่ ๒ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินของต้นเงินดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๓๕ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ ตามลำดับ กับให้จำเลยทั้งสอง (ที่ถูกจำเลยที่ ๑ และที่ ๒) ร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสองเฉพาะในส่วนทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้ ๕๐,๐๐๐ บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง ให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสอง ศาลแทนจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ โดยกำหนดค่าทนายความรวม ๒๐๐,๐๐๐ บาท
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ที่ ๑ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๕๕๑๕,๔๕๕๑๖,๔๕๕๑๗ ตำบลบางกะปิ (สามเสนนอกฝั่งเหนือ) อำเภอบางกะปิ (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร และ ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๐๑๘๑๐ ตำบลห้วยขวาง (สามเสนนอกฝั่งเหนือ) อำเภอห้วยขวาง (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร โจทก์ที่ ๒ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๔๖๕๙ ตำบลสามเสนนอก (สามเสนนอกฝั่งเหนือ) อำเภอบางกะปิ (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร ที่ดินทั้งห้าแปลงดังกล่าวอยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อประโยชน์ในการสร้างทางพิเศษระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายพระโขนง – หัวลำโพง – บางซื่อ และสายสาทร – ลาดพร้าว (บริเวณโรงซ่อมบำรุง) สืบเนื่องต่อกันมา ตั้งแต่วันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๒๕ อันเป็นวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตพระโขนง เขตยานนาวา เขตปทุมวัน เขตบางรัก เขตสัมพันธวงศ์ เขตป้อมปรามศัตรูพ่าย เขตพระนคร เขตดุสิต เขตบางเขน เขตธนบุรี เขตคลองสาน เขตพญาไท เขตห้วยขวาง เขตราษฎร์บูรณะ และ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๕ จนถึงวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๓๕ อันเป็นวันสุดท้ายที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตพระโขนง เขตยานนาวา เขตปทุมวัน เขตบางรัก เขตสัมพันธวงศ์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตพระนคร เขตดุสิต เขตบางเขน เขตพญาไท และเขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๓๐ ใช้บังคับ ต่อมาได้มีการออก พ.ร.บ. เวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษสายบางซื่อ – หัวลำโพง – พระโขนง และสายลาดพร้าว – สาทร ในท้องที่เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๔๐ เวนคืนที่ดินพิพาททั้งห้าแปลง
มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองควรได้รับดอกเบี้ยอัตราเท่าใดตั้งแต่วันใด เห็นว่า ขณะที่ออก พ.ร.บ. เวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษสายบางซื่อ – หัวลำโพง – พระโขนง และสายลาดพร้าว – สาธร ในท้องที่เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๔๐ เวนคืนที่ดินของโจทก์ทั้งสองนั้นพระราชกฤษฎีกากำหนดเขต ที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน… พ.ศ. ๒๕๓๕ หมดอายุบังคับใช้ไปแล้วโดยไม่มีการออกพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๖ แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๐ สืบติดต่อเนื่องมากรณีนี้ต้องถือว่าเป็นการใช้บังคับ พ.ร.บ. เวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษ… พ.ศ. ๒๕๔๐ โดยมิได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๖ แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๐ เข้ากรณีตามมาตรา ๒๓ ซึ่งตามมาตรา ๒๓ ประกอบมาตรา ๒๘ วรรคหนึ่ง บัญญัติให้เจ้าหน้าที่เวนคืนจ่ายเงินค่าทดแทนแก่เจ้าของอสังริมทรัพย์ภายในระยะเวลาที่กำหนดซึ่งต้อง ไม่เกิน ๑๒๐ วันนับแต่วันที่คณะกรรมการได้กำหนดเงินค่าทดแทนแล้ว วันที่ช้าที่สุดที่เจ้าหน้าที่เวนคืนจะต้องจ่ายเงิน ค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองคือวันที่ครบ ๑๒๐ วัน นับแต่วันที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้กำหนด เงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา ๒๖ วรรคท้าย ปรากฏว่า คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๔๑ ซึ่งครบกำหนด ๑๒๐ วัน ในวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๔๑ วันดังกล่าวจึงเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้ แก่โจทก์ทั้งสองตามมาตรา ๒๖ วรรคท้าย โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินนับตั้งแต่วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๔๑ เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ ๑ และ ที่ ๒ จะชำระให้ เสร็จสิ้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้น บางส่วน…
พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันชำระเงินจำนวน ๑๖,๘๗๖,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ที่ ๑ และ เงินจำนวน ๓๒,๙๙๔,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ที่ ๒ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินนับตั้งแต่วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๔๑ เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง และให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและในชั้นฎีกาในแต่ละสำนวนแทนโจทก์ทั้งสองค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ทั้งสองสำนวนให้เป็นพับ.

Share