แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในคดีเกี่ยวพันกัน อันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันแม้โจทก์จะฟ้องจำเลยแต่ละสำนวนแต่ละฐานความผิด และโจทก์ร้องขอให้รวมการพิจารณาเข้าด้วยกันเท่านั้น ไม่ได้ขอให้รวมพิพากษา ศาลก็มีอำนาจพิพากษาคดีที่เกี่ยวพันกันนั้นรวมกันไปได้ ไม่เป็นการเกินคำขอ และเมื่อศาลสั่งรวมพิจารณาพิพากษาแล้ว ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป หรือจะลงโทษเฉพาะกระทงที่หนักที่สุดก็ได้
แม้ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ประกาศ ณ วันที่ 21พฤศจิกายน พุทธศักราช 2514 ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในมาตรา 91แห่งประมวลกฎหมายอาญา. ให้ใช้ความใหม่แทนให้ศาลลงโทษผู้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันทุกกรรมเป็นกระทงความผิด ฯลฯ เมื่อบทบัญญัติในมาตรา 91 เดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด มีส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยยิ่งกว่าประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ข้อ 2 ต้องใช้มาตรา 91 เดิมบังคับแก่คดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 3 วรรคแรก อันเป็นบทบัญญัติให้ศาลต้องนำไปใช้บังคับ หาใช่เป็นเรื่องดุลพินิจไม่
ย่อยาว
คดี ๒ สำนวนนี้ ศาลพิจารณาพิพากษารวมกัน โดยโจทก์ฟ้องสำนวนแรกว่า จำเลยใช้มือชกต่อยและใช้ปากกัดนายสมบูรณ์ ประจักษ์แสงศิริได้รับอันตรายแก่กายถึงสาหัส ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙๗ และฟ้องสำนวนหลังว่า จำเลยลักทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดประจักษ์อุตสาหกรรม ๒ ซึ่งอยู่ในความดูแลรักษาของนายสมบูรณ์ไปรวมราคา๕๐.๒๐ บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕(๑)ขอให้นับโทษติดต่อกันทั้งสองสำนวน
ชั้นแรกจำเลยให้การปฏิเสธ ครั้นโจทก์ขอรวมการพิจารณาและศาลสั่งรวมการพิจารณาแล้ว จำเลยจึงขอถอนคำให้การเดิมให้การใหม่ รับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๕, ๒๙๗ ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๙๗ แต่กระทงเดียวอันเป็นกระทงหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ จำคุกจำเลย ๒ ปี ลดโทษเพราะมีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ให้กึ่งหนึ่งคงเหลือจำคุก ๑ ปี
โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ขอให้รวมการพิจารณา ศาลจะพิพากษารวมกันไม่ได้ เกินคำขอและเมื่อโจทก์แยกฟ้องจำเลยเป็นคนละสำนวนศาลจะลงกระทงหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ไม่ได้ศาลควรกำหนดโทษจำเลยทั้งสองสำนวนและนับโทษติดต่อกันเพื่อให้หลาบจำ
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาชอบแล้ว จึงพิพากษายืน
โจทก์ฎีกาต่อมา
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงมาว่า คดีทั้งสองสำนวนนี้เป็นคดีเกี่ยวพันกัน โจทก์ขอและศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเข้าด้วยกันปัญหาตามฎีกาข้อแรกของโจทก์มีว่าคดีสองสำนวนนี้โจทก์ขอให้รวมพิจารณาศาลจะพิพากษารวมกันได้หรือไม่พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒๕ วรรคแรก บัญญัติว่า “ศาลซึ่งรับฟ้องคดีเกี่ยวพันกันไว้ จะพิจารณาพิพากษารวมกันไปก็ได้” ดังนี้ แม้โจทก์จะไม่ขอศาลก็มีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวพันรวมกันไปได้ ไม่เป็นการเกินคำขอ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ ดังที่โจทก์อ้างและในความผิดที่เกี่ยวพันกันอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันแม้โจทก์จะฟ้องจำเลยแต่ละสำนวนแต่ละฐานความผิด เมื่อศาลส่งรวมพิจารณาพิพากษาแล้ว ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป หรือจะลงโทษเฉพาะกระทงที่หนักที่สุดก็ได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ความในมาตรานี้มิได้บัญญัติว่า ความผิดหลายกรรมนั้นจะต้องเป็นความผิดตามกรรมที่ฟ้องอยู่ในสำนวนเดียวกันเท่านั้นศาลจึงไม่จำต้องกำหนดโทษจำเลยแต่ละสำนวนไป ดังโจทก์ฎีกา
ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า เมื่อได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ใช้แล้วศาลจะนำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ซึ่งถูกประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่กล่าว ยกเลิกแก้ไขใหม่มาใช้บังคับแก่คดีนี้ไม่ได้ นั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ประกาศ ณ วันที่ ๒๑ พฤศจิกายนพุทธศักราช ๒๕๑๔ ข้อ ๒ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๙๑ แห่งประมวลกฎหมายอาญาและให้ใช้ความใหม่แทน ให้ศาลลงโทษผู้กระทำอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันทุกกรรม เป็นกระทงความผิดไป ถ้าความผิดกระทงใดมีอัตราโทษจำคุกตลอดชีวิตให้เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุกห้าสิบปีก็ตาม แต่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะจำเลยกระทำผิดคดีนี้ บัญญัติให้ลงโทษผู้กระทำความผิดหลายกรรมต่างกันทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปหรือเฉพาะกระทงที่หนักที่สุดก็ได้ และโทษจำคุกทั้งสิ้นจะต้องไม่เกินยี่สิบปีเว้นแต่เป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต จึงเป็นกฎหมายที่มีส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยยิ่งกว่าประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ข้อ ๒ จึงต้องใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ บังคับแก่คดีนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓ วรรคแรกและมาตรา ๓ วรรคแรก นี้เป็นบทบัญญัติให้ศาลต้องนำไปใช้บังคับ หาใช่เป็นเรื่องดุลพินิจที่ศาลจะนำไปใช้หรือไม่ก็ได้ดังโจทก์อ้างมาในฎีกาไม่ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยเฉพาะกระทงที่หนักที่สุดจึงชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน