คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4749/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 จะกู้ยืมเงินหรือรับเงินออมจากประชาชนจะต้องปฏิบัติอยู่ในกรอบกำหนดกฎเกณฑ์ตาม พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจเงินทุนฯพ.ศ. 2522 และข้อกำหนดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ตามพฤติการณ์แห่งคดีปรากฏว่าโจทก์นำเงินไปฝาก ณ สำนักงานของจำเลยที่ 1 โดยพนักงานของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการ แสดงว่าจำเลยที่ 1ได้รู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ใช้สำนักงานของตนเป็นสถานที่รับฝากเงิน หากจำเลยที่ 1 รับฝากเงินไม่ได้เพราะขัดต่อ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจเงินทุนฯ กับ พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505มาตรา 8 และอยู่นอกขอบวัตถุประสงค์ข้อบังคับของจำเลยที่ 1 แต่พนักงานของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 หรือจำเลยที่ 3 กลับรับฝากเงินของโจทก์ไว้โดยไม่แจ้งให้โจทก์ทราบ ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตหลงเข้าใจได้ว่าการรับฝากเงินเป็นกิจการของจำเลยที่ 1ที่กระทำได้ตามกฎหมายและอยู่ภายในขอบวัตถุประสงค์ข้อบังคับของจำเลยที่ 1 จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ติดต่อรับฝากเงินและรู้เห็นเองโดยจำเลยที่ 1 เชิด จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนผู้มีอำนาจกระทำการในการรับฝากเงินและออกเช็คให้แก่โจทก์จำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันรับเอาผลการกระทำของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 821 การกำหนดค่าฤชาธรรมเนียมเป็นดุลพินิจ ของศาลตาม ป.วิ.พ.มาตรา 161 ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 แล้วยกเสียจึงไม่ใช่กรณีที่ศาลสั่งไม่รับฟ้องแย้งซึ่งจะต้องคืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดตามนัยแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 151แต่จะต้องบังคับตามบทบัญญัติมาตรา 161 กล่าวคือศาลใช้ดุลพินิจไม่คืนค่าธรรมเนียมฟ้องแย้งให้จำเลยที่ 1 ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้ตามสัญญาฝากทรัพย์และตั๋วเงินพร้อมดอกเบี้ยถึงรับฟ้องให้แก่โจทก์เป็นจำนวนเงิน 168,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปีของต้นเงิน 150,000 บาท นับแต่วังฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยรับฝากเงินจากโจทก์และไม่เคยออกเช็คให้โจทก์เพื่อชำระเงินฝากคืนตามฟ้องเช็คฉบับดังกล่าว มิใช่ของจำเลยที่ 1 เพราะไม่มีตราประทับแต่เป็นเช็คที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ออกเพื่อใช้ในกิจการส่วนตัวไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการเงินทุนเพื่อการพัฒนาและเพื่อการเคหะ จำเลยที่ 1 ไม่มีวัตถุประสงค์ในการรับฝากเงินจากประชาชนตามที่โจทก์ฟ้อง เพราะจำเลยที่ 1 ได้รับ 7.5 ต่อปีเท่านั้น การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหาย เพราะเมื่อจำเลยที่ 1 ถูกฟ้องก็มีหนังสือพิมพ์ตีพิมพ์ข่าวออกสู่ประชาชนทำให้ประชาชนเข้าใจว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาฉ้อโกงประชาชน จำเลยที่ 1 เสียชื่อเสียงและความเชื่อถือ เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ขาดประโยชน์ที่พึงจะได้และจำเลยที่ 1 ต้องแถลงข้อความจริงต่าง ๆ ทางสื่อมวลชนเพื่อให้ประชาชนเข้าใจและมั่นใจในกิจการของจำเลยที่ 1 ต้องเสียค่าประกาศแจ้งความทางวิทยุโทรทัศน์และทางหนังสือพิมพ์ จำเลยที่ 1ขอคิดค่าเสียหายแก่ชื่อเสียงเป็นเงิน 1,000,000 บาท ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ใช้เงินจำนวน 1,000,000 บาท จำเลยที่ 1 กับให้โจทก์ประกาศแจ้งความจริงขอขมาจำเลยที่ 1 ในหนังสือพิมพ์รายวันเป็นเวลา1 เดือน หากโจทก์ไม่ยอมประกาศก็ขอให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงประกาศแจ้งความจริงในหนังสือพิมพ์แทน โดยโจทก์เป็นผู้เสียค่าประกาศ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม โจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นการใช้สิทธิทางศาลโดยสุจริตค่าเสียหายจำเลยที่ 1 เรียกมาสูงเกินความจริง และโจทก์มิได้ทำละเมิดจึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 ถูกฟ้องคดีล้มละลาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์จำนวน 168,000 บาท โดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดจำนวน152,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระดอกเบี้ยในต้นเงิน150,000 บาท อัตราร้อยละ 12 ต่อปี สำหรับจำเลยที่ 1 และอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี สำหรับจำเลยที่ 3 นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ยกฟ้องแย้งจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์ จำเลยที่ 1โดยตลอดแล้วข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์ได้นำเงินจำนวน150,000 บาท ไปฝากที่สำนักงานของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 รับฝากเงินไวว้โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้ออกเช็คธนาคารมหานคร จำกัด สำนักงานใหญ่เลขที่ เอช โอ อี 260230 ลงวันที่ 28 เมษายน 2527 จำนวนเงิน150,000 บาท โดยมิได้ประทับตราของจำเลยที่ 1 มอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้เงินฝากคืนแก่โจทก์ เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์นำเช็คเข้าบัญชีโจทก์เพื่อเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2รับฝากเงินในฐานะเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่าตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 มาตรา 4 บัญญัติว่า “ธุรกิจการจัดหามาซึ่งเงินทุนและใช้เงินนั้นในการประกอบกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งจำแนกประเภทได้ดังต่อไปนี้ ฯลฯ (2) กิจการเงินทุนเพื่อการพัฒนา ฯลฯ (4) กิจการเงินทุนเพื่อการเคหะ ฯลฯ กิจการเงินทุนเพื่อการพัฒนาและกิจการเงินทุนเพื่อการเคหะหมายความว่า กิจการจัดหาเงินทุนจากประชาชน และมาตรา 27 บัญญัติว่า “ธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดให้บริษัทเงินทุนในการกู้ยืมเงินหรือรับเงินจากประชาชนในเรื่องดังต่อไปนี้… (3) หลักเกณฑ์และวิธีการในการกู้ยืมเงินหรือรับเงินจากประชาชน” นอกจากนี้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่องการกำหนดให้บริษัทเงินทุนปฏิบัติในการกู้ยืมเงินหรือรับเงินจากประชาชนและการกำหนดอัตราดอกเบี้ยหรือส่วนลดที่บริษัทเงินทุนอาจจ่ายหรืออาจเรียกได้ ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2528 ได้กำหนดไว้ว่า “ข้อ 2ในการกู้ยืมเงินหรือรับเงินจากประชาชนให้บริษัทเงินทุนถือปฏิบัติดังต่อไปนี้… (2) ออกเอกสารการกู้ยืมเงินหรือออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่ผู้ให้กู้โดยไม่จ่ายส่วนลด ข้อ 3 ให้บริษัทเงินทุนถือปฏิบัติเกี่ยวกับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมหรือรับจากประชาชนดังต่อไปนี้ (1)เงินกู้ยืมหรือรับจากประชาชนที่มีกำหนดเวลาใช้คืนตั้งแต่หนึ่งร้อยแปดสิบวันขึ้นไป ที่มีข้อกำหนดไม่ให้ไถ่ถอนก่อนกำหนดเวลาและที่มีจำนวนเงินตั้งแต่ห้าหมื่นบาทขึ้นไปสำหรับบริษัทเงินทุนและสาขาที่มีสำนักงานในเขตกรุงเทพมหานคร… จ่ายดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละสิบห้าต่อปี” จากบทบัญญัติของกฎหมายและข้อกำหนดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าว จำเลยที่ 1 จะกู้ยืมเงินหรือรับเงินออกจากประชาชนจะต้องปฏิบัติอยู่ในกรอบกำหนดกฎเกณฑ์ดังกล่าวนี้ โจทก์นำสืบโดยมีตัวโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์รับฝากเงินโดยมีดอกเบี้ยและให้กู้เงินโดยคิดดอกเบี้ย โจทก์ได้นำเงินไปฝากไว้กับจำเลยที่ 1จำนวน 150,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 12 ต่อปี มีกำหนดเวลา 1 ปีจำเลยที่ 1 ออกเช็คให้แก่โจทก์โดยพนักงานของจำเลยที่ 1 แจ้งว่าลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเป็นของจำเลยที่ 2 และที่ 3 กรรมการของจำเลยที่ 1 แต่ไม่มีตราของจำเลยที่ 1 ประทับ ปรากฏตามภาพถ่ายเช็คเอกสารหมาย จ.1 ระหว่างฝากเงินจำเลยที่ 1 ได้ส่งปฏิทินตามเอกสารหมาย จ.4 บัตรของขวัญของห้างเซ็นทรัล ตามภาพถ่ายหมาย จ.5ปฏิทินตั้งโต๊ะหมาย จ.7 และกระเป๋าใส่กุญแจ หมาย จ.8 มาให้โจทก์นายเม้งฮั้ว หรือตั้งเม้งฮั้ว แซ่ตั้ง พยานโจทก์ปากหนึ่งเบิกความว่าพยานเคยนำเงินไปฝากจำเลยที่ 1 จำนวน 1,620,000 บาท จำเลยที่ 1ให้ดอกเบี้ยและเสียภาษีให้ด้วยและได้รับเช็คเช่นเดียวกับโจทก์ระหว่างฝากเงินจำเลยที่ 1 ได้มอบสิ่งของให้พยาน เช่นปฏิทินแป้นเสียบปากกา บัตรกำนัล และไดอารี่ ศาลฎีกาเห็นว่า เช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.1 ที่โจทก์รับมาจากสำนักงานของจำเลยที่ 1 คงมีแต่ลายมือชื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงลายมื่อผู้สั่งจ่ายหาได้มีตราของจำเลยที่ 1 ประทับไว้ แสดงว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คเอกสารหมาย จ.1ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 ทั้งเป็นการกระทำนอกขอบวัตถุประสงค์ข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดตามบทกฎหมายและประกาศดังกล่าว กล่าวคือ จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับฝากเงินจากโจทก์แล้วมิได้ออกเอกสารการกู้ยืมเงินหรือออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่โจทก์และไม่ใช่เพื่อการพัฒนาหรือการเคหะ การที่จำเลยที่ 2และที่ 3 กระทำการนอกขอบวัตถุประสงค์ข้อบังคับของจำเลยที่ 1 และฝ่าฝืนบทกฎหมายและประกาศดังกล่าว จำเลยที่ 1 ย่อมไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ แต่ตามพฤติการณ์แพ่งคดีปรากฏว่าโจทก์นำเงินจำนวน 150,000บาท ไปฝาก ณ สำนักงานของจำเลยที่ 1 โดยพนักงานของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการแสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้รู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 2 ที่ 3ใช้สำนักงานของตนเป็นสถานที่รับฝากเงิน หากจำเลยที่ 1 รับฝากเงินไม่ได้เพราะขัดต่อพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนฯ กับพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 8 และอยู่นอกขอบวัตถุประสงค์ข้อบังคับของจำเลยที่ 1 พนักงานของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 2 หรือจำเลยที่ 3 ควรจะแจ้งให้โจทก์ทราบ แต่บุคคลดังกล่าวกลับรับฝากเงินของโจทก์ไว้ทำให้โจทก์ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตหลงเข้าใจได้ว่าการรับฝากเงินเป็นกิจการของจำเลยที่ 1 ที่กระทำได้ตามกฎหมายและอยู่ภายในขอบวัตถุประสงค์ข้อบังคับของจำเลยที่ 1โดยรับเงินฝากแล้วออกเป็นเช็คเอกสารหมาย จ.1 ให้ ระหว่างฝากเงินจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยังส่งปฏิทิน บัตรของขวัญและกระเป๋าใส่กุญแจของจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ แสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้รับผลประโยชน์ในกิจการนี้ ดังนั้น ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ติต่อรับฝากเงินและรู้เห็นเองโดยจำเลยที่ 1 เชิดจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นตัวแทนผู้มีอำนาจกระทำการในการรับฝากเงินและออกเช็คเอกสารหมาย จ.1 ให้แก่โจทก์จำเลยที่ 1 ต้องผูกพันรับเอาผลการกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3ไว้ตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 เมื่อโจทก์ยังไม่ได้รับเงินฝากคืน จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดคืนเงินที่รับฝากไว้พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ศาลฎีกาเห็นด้วยในผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฎีกาจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า เมื่อศาลชั้นต้นและศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 แล้ว ศาลจะต้องสั่งคืนค่าธรรมเนียมฟ้องแย้งแก่จำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 วรรคแรก บัญญัติว่า”ภายใต้บังคับบทบัญญัติห้ามาตราต่อไปนี้ความรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความในคดีย่อมตกอยู่แก่คู่ความที่แพ้คดีไม่ว่าคู่ความฝ่ายใดจะชนะคดีเต็มตามข้อหาหรือแต่บางส่วน ศาลมีอำนาจที่จะพิพากษาให้คู่ความฝ่ายที่ชนะคดีนั้นเสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงหรือให้คู่ความแต่ละฝ่ายเสียค่าฤชาธรรมเนียมส่วนของตนหรือตามส่วนแห่งค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงซึ่งคู่ความทั้งสองฝ่ายได้เสียไปก็ได้ตามที่ศาลจะใช้ดุลพินิจโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง” แสดงว่าการกำหนดค่าฤชาธรรมเนียมเป็นดุลพินิจของศาล ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 แล้วยกเสีย จึงมิใช่กรณีที่ศาลสั่งไม่รับฟ้องแย้งซึ่งจะต้องคืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 151 แต่จะต้องบังคับตามบทบัญญัติมาตรา 161 กล่าวคือ ศาลใช้ดุลพินิจไม่คืนค่าธรรมเนียมฟ้องแย้งให้จำเลยที่ 1 ได้ฎีกาจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share