แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์อุทธรณ์ว่า สถานธนานุบาลกรุงเทพมหานครมิได้เป็นหน่วยธุรกิจที่รัฐเป็นเจ้าของตามคำนิยามคำว่า รัฐวิสาหกิจ ในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 โดยอ้างว่าพนักงานของสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานครทุกคนเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคม แสดงว่าสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานครไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ มิฉะนั้นแล้วพนักงานของสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานครทุกคนคงไม่ต้องเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคม และหากสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานครเป็นรัฐวิสาหกิจตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางแล้ว ผลกำไรที่ได้จากการประกอบธุรกิจจะต้องนำส่งเพื่อเป็นรายได้ของกรุงเทพมหานคร แต่กรณีของสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร ปรากฏว่าไม่ได้ใช้เงินงบประมาณจากกรุงเทพมหานคร เงินเดือนของพนักงานก็ใช้เงินจากการประกอบกิจการของสถานธนานุบาลเอง การประกอบกิจการพาณิชย์ดังกล่าวมีผลกำไรก็ไม่ต้องนำส่งผลกำไรเพื่อเป็นรายได้ของกรุงเทพมหานคร ในปัญหานี้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า สถานธนานุบาลกรุงเทพมหานครเป็นหน่วยงานธุรกิจที่กรุงเทพมหานครจัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการพาณิชย์ ถือเป็นหน่วยงานธุรกิจที่รัฐเป็นเจ้าของ อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งถือว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
แม้สถานธนานุบาลกรุงเทพมหานครจะมิใช่ราชการส่วนท้องถิ่น แต่เป็นหน่วยงานธุรกิจที่รัฐเป็นเจ้าของตามคำนิยามของคำว่า รัฐวิสาหกิจ ในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 กรณีไม่อาจนำประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาใช้บังคับแก่โจทก์ได้ แต่ต้องนำ พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 มาใช้บังคับเทียบเคียงแก่กรณีของโจทก์ ซึ่งมีผลให้โจทก์ที่ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุตามระเบียบข้อบังคับหรือข้อกำหนดของรัฐวิสาหกิจไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามฟ้อง ดังนั้น ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า เมื่อสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานครมิใช่ราชการส่วนท้องถิ่น ไม่เข้าข้อยกเว้นที่มิให้นำประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาใช้บังคับ เมื่อโจทก์ออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุซึ่งถือว่าเป็นการเลิกจ้าง จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ตามฟ้อง โดยนำประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาใช้บังคับแก่กรณีของโจทก์ จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณา คดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
ย่อยาว
คดีทั้งสิบสองสำนวน ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 12
โจทก์ทั้งสิบสองสำนวนฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบสอง เพราะเหตุเกษียณอายุโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งสิบสองพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสิบสองสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสิบสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสิบสองอุทธรณ์ว่า สถานธนานุบาลกรุงเทพมหานครมิได้เป็นหน่วยธุรกิจที่รัฐเป็นเจ้าของตามคำนิยามคำว่า รัฐวิสาหกิจ ในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 โดยอ้างว่าได้ความจากคำเบิกความของพยานโจทก์และพยานจำเลยว่า พนักงานของสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานครทุกคนเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคม แต่ปรากฏว่า พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 4 (6) ประกอบด้วย พ.ร.ฎ.กำหนดลูกจ้าง ตามมาตรา 4 (6) แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.ฎ.กำหนดลูกจ้างตามมาตรา 4 (6) แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2537 มาตรา 3 ไม่ให้นำ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ไปใช้บังคับแก่ลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจตามความหมายของคำว่า รัฐวิสาหกิจ ในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 แสดงว่าสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานครไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ เพราะมิฉะนั้นแล้วพนักงานของสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานครทุกคนคงไม่ต้องเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคมดังกล่าวแต่อย่างใด และหากสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานครเป็นรัฐวิสาหกิจตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางแล้ว ผลกำไรที่ได้จากการประกอบธุรกิจจะต้องนำส่งเพื่อเป็นรายได้ของกรุงเทพมหานคร แต่กรณีของสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร ปรากฏว่าไม่ได้ใช้เงินงบประมาณจากกรุงเทพมหานคร เงินเดือนของพนักงานก็ใช้เงินจากการประกอบกิจการของสถานธนานุบาลเอง การประกอบกิจการพาณิชย์ดังกล่าวมีผลกำไรก็ไม่ต้องนำส่งผลกำไรเพื่อเป็นรายได้ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเหตุผลยืนยันได้อย่างชัดเจนเช่นเดียวกันว่าสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานครไม่ใช่รัฐวิสาหกิจหรือไม่ใช่หน่วยงานธุรกิจที่รัฐเป็นเจ้าของ ในปัญหานี้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานครเป็นหน่วยงานธุรกิจที่กรุงเทพมหานครจัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการพาณิชย์ ถือเป็นหน่วยงานธุรกิจที่รัฐเป็นเจ้าของอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสิบสองดังกล่าวจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งถือว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังเป็นยุติตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่า แม้สถานธนานุบาลกรุงเทพมหานครจะมิใช่ราชการส่วนท้องถิ่น แต่เป็นหน่วยงานธุรกิจที่รัฐเป็นเจ้าของตามคำนิยามของคำว่า รัฐวิสาหกิจ ในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 กรณีไม่อาจนำประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2441 มาใช้บังคับแก่โจทก์ทั้งสิบสองได้ แต่ต้องนำ พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 มาใช้บังคับเทียบเคียงแก่กรณีของโจทก์ทั้งสิบสอง ซึ่งมีผลให้โจทก์ทั้งสิบสองที่ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุตามระเบียบข้อบังคับหรือข้อกำหนดของรัฐวิสาหกิจไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามฟ้อง ดังนั้น ที่โจทก์ทั้งสิบสองอุทธรณ์ว่า เมื่อสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานครมิใช่ราชการส่วนท้องถิ่น ไม่เข้าข้อยกเว้นที่มิให้นำประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาใช้บังคับ เมื่อโจทก์ทั้งสิบสองออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุซึ่งถือว่าเป็นการเลิกจ้าง จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ทั้งสิบสองตามฟ้อง โดยนำประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาใช้บังคับแก่กรณีของโจทก์ทั้งสิบสองนั้น จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานกลางและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นเดียวกัน
พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสิบสองสำนวน.