แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อตกลงของคู่ความที่ศาลได้จดไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาในระหว่างพิจารณาคดีว่า หากจำเลยชนะคดีและโจทก์ไม่รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างไปภายใน 3 วัน โจทก์ยอมใช้ค่าเสียหายให้วันละ 200 บาทนั้น เป็นเรื่องพิพาทกันในชั้นขอให้คุ้มครองสิทธิของคู่ความในระหว่างคดีก่อนมีคำพิพากษา คู่ความจึงขอให้บังคับตามข้อตกลงในคดีเดิมนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 264, 260(2)
ส่วนค่าเสียหายตามข้อตกลงนั้นถือว่าเป็นเบี้ยปรับ และศาลมีอำนาจลดลงได้ตามสมควร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383.
ย่อยาว
คดีนี้ มีปัญหาเกี่ยวกับข้อตกลงของคู่ความในระหว่างพิจารณาคดีโดยศาลได้จดรายงานกระบวนพิจารณาข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยไว้ว่า “๓. เมื่อคดีถึงที่สุด หากจำเลยเป็นผู้ชนะคดีแต่ยังมีสิ่งปลูกสร้างของโจทก์อยู่บนที่พิพาท ก็ยอมให้โจทก์รื้อถอนไปได้ภายใน ๓ วัน ถ้ายังไม่รื้อถอนไปภายในกำหนดนั้น ไม่ว่าเพราะเหตุใด โจทก์ยอมใช้ค่าเสียหายให้จำเลยอีกวันละ ๒๐๐ บาทจนกว่าจะรื้อถอนไปเสร็จ ทั้งหากมีการฟ้องร้องกันในกรณีนี้แล้ว โจทก์จะไม่โต้เถียงเรื่องค่าเสียหายข้อนี้เลย” ต่อมาเมื่อศาลพิพากษาคดีนั้นให้จำเลยชนะคดี และคดีถึงที่สุดแล้ว จำเลยจึงขอบังคับตามข้อตกลงนั้น โจทก์เถียงว่าจำเลยจะบังคับในคดีเดิมนั้นไม่ได้ ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ศาลมีอำนาจสั่งในคดีนั้นได้ และเห็นว่าค่าเสียหายมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับซึ่งมากเกินไป จึงลดลงโดยให้โจทก์ใช้เพียง ๑๒,๐๐๐ บาท
โจทก์จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กรณีนี้เป็นเรื่องพิพาทกันในชั้นขอให้คุ้มครองสิทธิของคู่ความในระหว่างคดีก่อนมีคำพิพากษา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๖๔ และ ๒๖๐(๒) ให้ถือว่าคำสั่งนั้นคงมีผลต่อไปจนกว่าจะได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ดังนี้ ย่อมแสดงว่าคำสั่งเรื่องคุ้มครองสิทธินั้นมีผลบังคับกันได้โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่ ฉะนั้น ข้อตกลงในระหว่างพิจารณาคดีของคู่ความดังกล่าวจึงใช้บังคับกันได้อยู่ในตัว ส่วนเรื่องค่าเสียหายนั้นเห็นว่า ที่พิพาทมีราคาเพียง ๕,๐๐๐ บาท ค่าเสียหายวันละ ๒๐๐ บาทจึงเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๘๓ ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดลงได้ และเห็นว่าที่ศาลล่างกำหนดมาชอบแล้ว จึงพิพากษายืน.