คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1313-1319/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อำนาจที่จะดูแลรักษาทีสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกันหรือนัยหนึ่งที่สาธารณประโยชน์ เป็นอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2495 มาตรา 40 วรรค 3 อำนาจฟ้องคดีจึงตกอยุ่แก่นายอำเภอ
ความในประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8 หมายถึงที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือทรัพย์สินของแผ่นดินโดยทั่ว ๆ ไป ซึ่งถ้าไม่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นให้เป็นอำนาจของอธิบดีที่จะดูแลรักษา และดำเนินการคุ้มครองป้องกัน และให้รัฐมนตรีมีอำนาจมอบหมายให้ทะบวงการใดเป็นฝู้ใช้อำนาจดังกล่าวนั้นได้ แต่ในเรื่องที่สาธารณประโยชน์อันเป็นของกลางสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เช่น ที่ชายตลิ่งซึ่งราษฎรทั่วไปใช้จอดเรือขึ้นสู่ถนน ได้มีพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 มาตรา 122 บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นแล้ว คือ ให้เป็นหน้าที่ของกรมการอำเภอ และต่อมาได้โอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2495 มาตรา 40 วรรค 3 จึงเห็นได้ว่าประมวลกฎหมายที่ดินมิได้ยกเลิกเพิกถอนอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอซึ่งมีอยู่ตามมาตรา 122 แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 ประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่มอบหมายให้เทศบาลมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาและดำเนินการคุ้มครองป้องกันที่ดินทั้งหลาย อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน หรือทรัพย์สินของแผ่นดิน ภายในเขตเทศบาล จึงหาได้เคลือบคลุมไปถึงที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน ตามที่เป็นอำนาจหน้าที่ดูแลจัดการของนายอำเภออยู่แล้วไม่
อำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวแก่ความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยจะไม่ให้การต่อสู้ไว้แต่แรก ศาลก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) (อ้างฎีกาที่ 153/2498, 1277/2503, 227-229/2504)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยและบริวารได้ปลูกสร้างอาคารลงในที่สาธาณสมบัติของแผ่นดิน ขอให้บังคับจำเลยและบริวารรื้อถอนโรงเรือนอาคารและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่พิพาท และห้ามเกี่ยวข้อง
นายก้ำฮุ้งจำเลยให้การว่า ที่พิพาทไม่ใช่ที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน แต่เป็นที่ซึ่งจำเลยครอบครองถือกรรมสิทธิ์มา ๓๐ ปีเศษ อำเภอเมืองได้จดแจ้งการครอบครองที่พิพาทและออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยถูกต้องกฎหมาย ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่มีอำนาจสั่งแก้ทะเบียนและเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ขอให้ยกฟ้อง
นายแฉ่ง นายแดง และนางสออุ่น ให้การว่า ทีโจทก์กล่าวว่าที่พิพาทเป็นที่รกร้างว่างเปล่าขัดกับความจริง ที่พิพาทไม่เป็นสาธารณนสมบัติ ผู้ว่าราชการจังหวัดบอกล้างกรรมสิทธิ์ของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยอยู่ในที่พิพาทมานานแล้ว โจทก์พึ่งฟ้อง คดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
นายบัญญัติจำเลยให้การว่า ซื้อที่มาจากนายก้ำฮุ้ง และครอบครองมาแต่ พ.ศ. ๒๔๙๖ ไม่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จำเลยครอบครองติดต่อมาก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๔ และประมวลกฎหมายที่ดิน จำเลยได้สิทธิตามกฎหมาย กฎหมายดังกล่าวไม่มีผลย้อนหลังบังคับแก่จำเลย คำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดให้เพิกถอนทะเบียนไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และฟ้องเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า ที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนายก้ำฮุ้งไม่มีสิทธิครอบครองมาแต่ต้น จำเลยอื่นย่อมไม่มีสิทธิดีกว่านายก้ำฮุ้งผู้โอนให้จำเลยและบริวารรื้อถอนโรงเรือนอาคารและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่พิพาทและไปจากริมแม่น้ำกระบี่ ห้ามเกี่ยวข้องกับที่พิพาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ที่พิพาทเป็นที่ชายตลิ่ง เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๔ (๒) ซึ่งตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.๒๔๕๗ มาตรา ๑๒๒ เป็นหน้าที่ของกรมการอำเภอจะต้องคอยตรวจตรารักษา มิใช่เป็นอำนาจหน้าที่ของเทศบาลเมืองกระบี่ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกาทั้ง ๗ สำนวน
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา นายก้ำฮุ้งจำเลยตาย โจทก์ขอให้ศาลหมายเรียกนางหยุ่ง จิตต์แจ้ง ภรรยานายก้ำฮุ้งเข้ามาเป็นจำเลยแทน นางหยุ่งไม่คัดค้าน ศาลอนุญาต
ศาลฎีกาเห็นว่า ที่พิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน เป็นที่ของทางราชการในส่วนราขการของจังหวัด ประชาชนใช้เป็นที่จอดเรือขึ้นสู่ถนน เป็นที่ชายตลิ่งริมแม่น้ำกระบี่ ปัญหาว่าเทศบาลเมืองกระบี่จะมีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาทได้หรือไม่ เห็นว่า อำนาจที่จะดูแลรักษาที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกันหรือนัยหนึ่งที่สาธารณประโยชน์ เป็นอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.๒๔๙๕ มาตรา ๔๐ วรรค ๓ อำนาจฟ้องคดีจึงตกอยู่แก่นายอำเภอดังนัยฎีกาที่ ๑๕๓/๒๔๙๘, ๑๒๗๗/๒๕๐๓ และ ๒๒๗-๒๒๙/๒๕๐๔
ทีโจทก์ฎีกาว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มีคำสั่งตามประกาศของกระทรวงมหาดไทยที่ ๘๙๐/๒๔๙๘ ให้เทศบาลมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินในเขตเทศบาล โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๘ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน โจทก์จึงมีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องคดีนี้ได้นั้น เห็นว่า ความในประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา ๘ หมายถึงที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือทรัพย์สินของแผ่นดินทั่ว ๆ ไป ซึ่งถ้าไม่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ให้เป็นอำนาจของอธิบดีที่จะดูแลรักษา และดำเนินการคุ้มครองป้องกัน และให้รัฐมนตรีมีอำนาจมอบหมายให้ทะบวงการใดเป็นผู้ใช้อำนาจดังกล่าวนั้นได้แต่ในเรื่องที่สาธารณประโยชน์อันเป็นของกลางสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เช่น ที่ชายตลิ่งซึ่งราษฎรทั่วไปใช้จอดเรือขึ้นสู่ถนน ได้มีพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.๒๔๕๗ มาตรา ๑๒๒ บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นแล้ว คือให้เป็นหน้าที่ของกรมการอำเภอ และต่อมาได้โอนมาเป็นอำนาจและหน้าที่ของนายอำเภอตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.๒๔๙๕ มาตรา ๔๐ วรรค ๓ จึงเห็นได้ว่าประมวลกฎหมายที่ดินมิได้ยกเลิกเพิกถอนอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอซึงมีอยู่ตามมาตรา ๑๒๒ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.๒๔๕๗ ประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่มอบหมายให้เทศบาลมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาและดำเนินการคุ้มครองป้องกันที่ดินทั้งหลายอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือทรัพย์สินของแผ่นดิน ภายในเขตเทศบาล จึงหาได้ครอบคลุมไปถึงที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกันตามที่เป็นอำนาจหน้าที่ดูแลจัดการของนายอำเภออยู่แล้วไม่
ทีโจทก์ฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์ยกข้อกฎหมายเรื่องอำนาจฟ้องมาพิพากษายกฟ้องโจทก์ยังไม่ชอบ เพราะจำเลยมิได้ให้การต่อสู้และมิได้นำสืบให้ได้ความชัดว่าเพราะเหตุใดโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า นายบัญญัติจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ ๒๕๖/๒๕๐๘ ได้ให้การต่อสู้คดีไว้แล้วว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และคดีทั้ง ๗ สำนวนนี้ได้พิจารณาพิพากษารวมกัน ทั้งเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวแก่ความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะไม่ให้การต่อสู้ไว้แต่แรก ศาลก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ (๕) ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ยกฎีกาโจทก์.

Share