แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 อุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาศาลชั้นต้นสั่งว่า ฎีกาของจำเลยฉบับลงวันที่ 7 กันยายน 2535จำเลยยอมรับอยู่ว่าเป็นปัญหาข้อเท็จจริง จึงขอให้ศาลส่งไปให้ผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะรับรองให้ฎีกา แต่ปรากฏว่าผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะไม่รับรองให้ฎีกา จำเลยจึงอุทธรณ์อีกว่าปัญหาตามฎีกาดังกล่าว เป็นฎีกาในข้อกฎหมาย และการที่ศาลสั่งในฎีกา ฉบับลงวันที่ 7 กันยายน 2535 เป็นการสั่งตามที่จำเลยขอให้ ศาลสั่งตามคำร้องฉบับลงวันที่ 16 ตุลาคม 2535 และศาลได้มี คำสั่งในฎีกาดังกล่าว เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2535 เป็นการสั่ง ตามข้อเท็จจริงว่าผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะไม่รับรองให้ฎีกาจึงไม่รับฎีกา โดยศาลมิได้ใช้ดุลพินิจในการสั่ง จึงไม่มีคำสั่งของศาลที่จำเลยจะอุทธรณ์คัดค้าน ไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เห็นว่า ฎีกาของจำเลยเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมาย คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยเป็นคำสั่งที่มิชอบด้วยเหตุผลและการสั่งรับอุทธรณ์คำสั่งเป็นอำนาจของศาลฎีกา โปรดมีคำสั่ง ให้รับอุทธรณ์คำสั่งไว้พิจารณาด้วย
หมายเหตุ ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับสำเนาคำร้องหรือไม่
คดีทั้งสามสำนวนศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9,109 ทวิ วรรคสอง ที่แก้ไขแล้วประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368(วรรคแรก),83 กรณีเป็นความผิด หลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษ ฐานยึดถือครอบครอง ที่ดินของรัฐซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชน ใช้ร่วมกัน จำคุกคนละ 6 เดือน ปรับคนละ 2,000 บาท ฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน จำคุกคนละ 10 วัน ปรับคนละ200 บาท รวมจำคุกคนละ 6 เดือน 10 วัน ปรับคนละ 2,210 บาทโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 คนงาน ผู้แทน และบริวารของจำเลยออกจากที่ดินที่บุกรุกสำหรับข้อหาอื่นให้ยก
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ฎีกา พร้อมกับยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะรับรองให้ฎีกา แต่ผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะไม่รับรองให้ฎีกา ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งไม่รับฎีกา(อันดับ 114,113,121)
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ (อันดับ 123)
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว (อันดับ 125)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว คำฟ้องฎีกาข้อ 3.1 และ 3.2 ของจำเลยที่ 2ถึงที่ 5 ที่ว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่เกิดเหตุตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 ความผิดของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ได้เกิดขึ้นแล้ว เมื่อนับถึงวันฟ้องเป็นเวลา 16 ปี คดีจึงขาดอายุความและนายอำเภอมีคำสั่งเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน2531 ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ออกจากที่เกิดเหตุโจทก์ฟ้อง เกิน 1 ปี คดีของโจทก์จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า ฎีกาดังกล่าวเป็นการโต้เถียงว่าอายุความแห่งการกระทำความผิด เริ่มนับแต่เมื่อใด ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริงสำหรับฎีกาข้อ 3.3 ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ที่ว่า ศาลลงโทษจำเลยที่ 2 โดยไม่ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยที่ 2 ซึ่งขณะเกิดเหตุ อายุ 8 ปี เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า ฎีกาดังกล่าวเป็นการ โต้เถียงว่าจำเลยที่ 2 กระทำผิดเมื่อมีอายุเท่าใด ปัญหาดังกล่าว จึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริงเช่นกัน ส่วนฎีกาข้อ 3.4 ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ที่ว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เข้าครอบครองที่เกิดเหตุ โดยไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานบุกรุก เป็นการกระทำที่ขาดเจตนา จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จึงไม่มีความผิด ตามฟ้องนั้น เห็นว่า ฎีกาดังกล่าวเป็นการโต้เถียงว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่มีเจตนากระทำความผิดนั่นเอง ปัญหาว่า จำเลยมีเจตนากระทำความผิดหรือไม่ เป็นปัญหาข้อเท็จจริง ฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ทั้งหมดจึงต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรกศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ชอบแล้วให้ยกคำร้อง