คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 716-717/2493

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ทะเบียนรถยนต์ไม่เหมือนโฉนดที่ดิน ซึ่งเป็นเอกสารอันเป็นที่ตั้งแห่งกรรมสิทธิ์ทะเบียนรถยนต์เป็นแต่พยานหลักฐานอย่างหนึ่ง ที่แสดงว่าผู้มีชื่อเป็นเจ้าของรถ
การซื้อขายรถยนต์ โดยฝ่ายผู้ซื้อรับมอบรถไป และต่างตกลงกันว่าฝ่ายผู้ซื้อจะต้องชำระราคาให้หมดเสียก่อนผู้ขายจึงจะโอนทะเบียนให้นั้นเป็นเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 459 ซึ่งกรรมสิทธิ์ในรถยังไม่โอนไปยังผู้ซื้อ
เงินประมูลราคาทรัพย์สินพิพาทซึ่งฝ่ายที่ประมูลได้นำเงินมาวางศาลไว้โดยมีข้อตกลงกันว่า ‘ในที่สุดใครชนะคดีก็มีสิทธิได้เงินนั้นไป’ นั้นหมายถึงชนะคดีเมื่อคดีถึงที่สุด เมื่อคู่ความตกลงกันใหม่ในศาลดังกล่าวแล้วแม้การยึดจะได้ทำตามมาตรา 254 ก็ต้องถือว่าเรื่องได้ผ่านมาตรา 254 ไปแล้วจะนำมาตรา 260 มาใช้เพื่อถอนการยึดคืนเงินให้จำเลยไปทันทีไม่ได้
ชั้นฎีกาหากคู่ความมิได้ยกประเด็นข้อใดโต้เถียงศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้
จำเลยซึ่งฟ้องแย้งด้วยนั้น หากแพ้คดีนอกจากจะต้องรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมที่แพ้คดีตามฟ้องโจทก์แล้ว ศาลให้จำเลยที่ฟ้องแย้งต้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมโจทก์ในกรณีที่ฟ้องแย้งถูกยกฟ้องนั้นด้วยอีกส่วนหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้ตกลงซื้อรถยนต์ของโจทก์ราคา 30,000 บาทและได้ขอยืมไปขับทดลองและไม่ส่งคืนและไม่ชำระราคา โจทก์จึงแจ้งความต่อตำรวจ ๆ ได้ยึดรถไว้จากจำเลยที่ 3 ๆ อ้างว่าซื้อจากจำเลยที่ 2 ขอให้จำเลยร่วมกันส่งมอบรถหรือชำระราคา 30,000 บาทสัญญาให้จำเลยผ่อนชำระราคาเมื่อครบแล้วโจทก์จะจัดการโอนทะเบียนให้จำเลย วันนั้นโจทก์ได้มอบรถให้จำเลยครอบครอง จำเลยไม่เคยยืมไปขับทดลองได้ชำระแล้ว 18,000 บาท ที่ค้างโจทก์ไม่ยอมรับชำระกลับไปแจ้งความตำรวจจึงเป็นการผิดนัด จำเลยที่ 1 ได้ขายให้จำเลยที่ 2 ราคา 25,500 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่าได้ซื้อกันต่อมาตามลำดับโดยสุจริตเสียค่าตอบแทน และจำเลยที่ 3 ฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายที่รถยนต์ถูกยึด

ศาลแพ่งมีคำสั่งให้ยึดรถพิพาทตามมาตรา 254 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งดังโจทก์ขอ

คู่ความตกลงให้ประมูลราคานำเงินค่ารถมาวางศาล ในที่สุดใครชนะคดีก็มีสิทธิได้เงินนั้นไป โจทก์ประมูลได้ในราคา 20,000 บาท และได้นำเงินมาวางศาล ศาลแพ่งเห็นว่ารถเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 3 ให้ยกฟ้อง รุ่งขึ้นจำเลยที่ 3 ขอรับเงิน20,000 บาท ศาลสั่งว่าให้รอคดีถึงที่สุดก่อน

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนทั้งในตัวคดีและในข้อที่จำเลยที่ 3 ขอรับเงิน

โจทก์และจำเลยที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า สำหรับฎีกาจำเลยที่ 3 นั้น ข้อความในรายงานชัดว่า ต้องรอจนกว่าคดีถึงที่สุดเสียก่อนจึงจะจ่ายเงินนี้ได้คู่ความตกลงกันใหม่แล้ว เช่นนี้นับว่าผ่านจากกรณีตามมาตรา 254 มาแล้ว จะนำมาตรา 260 มาบังคับไม่ได้

ส่วนฎีกาของโจทก์เห็นว่า โจทก์สืบไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ยืมไปทดลองขับ จึงฟังตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ว่าโจทก์ได้มอบรถแก่จำเลยที่ 1 แล้ว แต่จำเลยไม่ได้ต่อสู้ว่าโจทก์ได้ยินยอมตกลงให้กรรมสิทธิ์เห็นด้วยศาลอุทธรณ์ว่า ทะเบียนรถยนต์หาเหมือนกับโฉนดที่ดินไม่ การซื้อขายรถสำเร็จต่อเมื่อได้โอนทะเบียนหรือไม่ก็แล้วแต่ แต่ศาลฎีกาเห็นว่าทะเบียนรถนั้นเป็นพยานหลักฐานอย่างหนึ่งที่แสดงว่าผู้มีชื่อเป็นเจ้าของรถ ฉะนั้นการที่โจทก์จำเลยตกลงกันว่า จำเลยที่ 1 จะต้องชำระราคารถให้หมดเสียก่อนจึงจะโอนทะเบียนให้นั้น จึงเป็นเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 459 แล้ว รูปคดีต้องฟังตามคำให้การ แต่เมื่อโจทก์มอบการครอบครองแล้ว จะเรียกคืนได้ก็ต้องมีเหตุผลเป็นปัญหาเรื่องผิดสัญญา ซึ่งต่างโต้เถียงกันอยู่ แต่ฎีกาของทั้ง 2 ฝ่ายต่างมุ่งรู้กันแต่ในเรื่องกรรมสิทธิ์ผ่านมือไปยังจำเลยที่ 1 หรือไม่เท่านั้น เมื่อฟังว่ากรรมสิทธิ์ยังไม่ผ่านไปยังจำเลยที่ 1 ๆ จึงต้องแพ้โจทก์ จำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นผู้รับโอนจากจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3 ก็ตกไปด้วย

พิพากษากลับ ให้จำเลยส่งมอบรถให้โจทก์ แต่รถนี้คู่ความตกลงขายและให้ศาลรักษาเงินไว้ จึงให้มอบเงินนี้แก่โจทก์ไปแทนการส่งมอบรถให้จำเลยทั้ง 3 เสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้ง 3 ศาล สำหรับฟ้องแย้งให้จำเลยที่ 3 เสียค่าฤชาธรรมเนียมพร้อมด้วยค่าทนาย 3 ศาลด้วย

Share