คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9773-9774/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์มาก่อนจำเลยที่ 3 ทั้งได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ในประเทศต่าง ๆ หลายสิบประเทศ และได้ส่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าของโจทก์เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยก่อนที่จำเลยที่ 3 จะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลยที่ 3 แม้เครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ 3 ขอจดทะเบียนจะได้รับการจดทะเบียนไว้แล้วก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 3 มีสิทธิดีกว่าโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นได้ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 41(1) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะเกิดข้อพิพาทคดีนี้
เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 เป็นรูปคนขี่ม้าตีคลีอยู่เหนืออักษรโรมันคำว่า GALLOP รูปคนขี่ม้าตีคลีเป็นสิ่งสาระสำคัญในการสังเกตจดจำของบุคคลทั่วไป เพราะมีขนาดใหญ่และเห็นเด่นชัดกว่าตัวอักษรคำว่า GALLOP มาก รูปลักษณะคนขี่ม้าตีคลีของจำเลยที่ 3 ก็คล้ายคลึงกับรูปคนขี่ม้าตีคลีของโจทก์ เครื่องหมายการค้ารูปคนขี่ม้าตีคลีของจำเลยที่ 3 จึงคล้ายคลึงกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โจทก์เป็นเจ้าของและใช้เครื่องหมายการค้ารูปคนขี่ม้าตีคลีกับสินค้าเครื่องนุ่งห่ม เครื่องแต่งกายและสินค้าอื่นอีกหลายชนิดที่ประเทศต่าง ๆ หลายสิบประเทศรวมทั้งประเทศไทยมาก่อนจำเลยที่ 3 สินค้าของโจทก์ก็มีบริษัทซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยได้สั่งมาขายที่ห้างสรรพสินค้าชั้นนำในกรุงเทพมหานครหลายแห่งรวมทั้งที่จังหวัดเชียงใหม่ด้วย และได้มีการโฆษณาสินค้าของโจทก์ในนิตยสารหนังสือพิมพ์ในประเทศไทยแพร่หลายมาเป็นเวลานานปีแล้ว การที่จำเลยที่ 3 จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปคนขี่ม้าตีคลีเพื่อใช้กับสินค้าเครื่องนุ่งห่มและแต่งกายเช่นเดียวกับสินค้าของโจทก์ โดยประสงค์จะฉวยโอกาสแอบอิงเครื่องหมายการค้าของโจทก์แสวงหาประโยชน์จากการจำหน่ายสินค้าของจำเลย การกระทำดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์เสียหาย เพราะผู้ซื้อหรือใช้สินค้านั้นอาจหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยที่ 3 เป็นสินค้าที่โจทก์ผลิตขึ้น เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต จำเลยที่ 3 ไม่มีสิทธิจะทำได้
โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเทศสหรัฐอเมริกา มีชื่อภาษาอังกฤษว่า THEPOLOLAURENCOMPANY ชื่อเป็นภาษาไทยว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดเดอะโปโลลอเรนคัมปะนี โจทก์ประกอบการค้าโดยส่งสินค้าไปจำหน่ายตามประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทย สินค้าที่จำหน่ายได้แก่เครื่องนุ่งห่ม เครื่องแต่งกายและสินค้าอื่น ๆ ส่วนจำเลยที่ 1 ใช้ชื่อว่าบริษัทโปโลช้อปปิ้งเฮ้าส์ จำกัด มีชื่อภาษาอังกฤษว่า POLOSHOPPINGHOUSECO.,LTD. และใช้ชื่อร้านค้าซึ่งตั้งอยู่ที่ศูนย์การค้าสยามสแควร์ว่า POLOSHOPPINGHOUSE ประกอบกิจการค้าขายสินค้าหลายชนิด รวมทั้งเครื่องนุ่งห่มและเครื่องแต่งกายเช่นเดียวกับโจทก์ ชื่อของจำเลยที่ 1 รวมทั้งชื่อร้านค้าดังกล่าวก็มีความหมายว่า เป็นสถานที่จำหน่ายสินค้ายี่ห้อหรือตรา POLO หรือโปโลซึ่งคำว่า POLO หรือโปโลนี้เป็นส่วนหนึ่งของชื่อโจทก์ รวมทั้งเป็นคำในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ซึ่งใช้แพร่หลายอยู่ทั่วโลกดังกล่าวมาข้างต้น นอกจากนั้นจำเลยยังใช้คำ POLO ให้ปรากฏอยู่อย่างเด่นชัดในดวงตราประทับของจำเลยที่ 1 ใบเสร็จรับเงิน ถุงบรรจุสินค้าและใช้ป้ายซึ่งมีคำ POLO ติดที่สินค้าเสื้อผ้าซึ่งผลิตและจำหน่ายอยู่ในร้านค้าที่ตั้งขึ้นดังกล่าวด้วย ย่อมทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดว่าจำเลยที่ 1 คือโจทก์และกิจการร้านค้าของจำเลยที่ 1 เป็นกิจการค้าของโจทก์ เนื่องจากชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 และร้านค้าดังกล่าวมีคำว่า POLO หรือโปโลอยู่ด้วยเมื่อโจทก์ใช้ชื่อว่าPOLOหรือโปโลมานานจนมีชื่อเสียงไปทั่วโลก และจำเลยได้นำชื่อนี้ไปใช้ในกิจการค้าขายสินค้าเช่นเดียวกับของโจทก์ ส่อแสดงว่าจำเลยมีเจตนานำชื่อ POLO หรือโปโลมาใช้โดยเจตนาไม่สุจริต โดยเจตนาแสวงหาประโยชน์และความนิยมในชื่อและเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จำเลยจึงไม่มีสิทธิจะทำได้ แม้โจทก์จะไม่ได้อยู่ในประเทศไทย แต่ส่งสินค้ามาจำหน่ายที่กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นสถานที่จำเลยประกอบกิจการค้าอยู่ เมื่อโจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิดของจำเลย ทั้งกรณีเช่นนี้ไม่มีกฎหมายจำกัดสิทธิมิให้โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศฟ้องคดีต่อศาลในประเทศไทย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
โจทก์ได้มีคำขอท้ายฟ้องตามที่โจทก์ฎีกาแล้ว และศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยถึงสิทธิของโจทก์ในเรื่องนี้ว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้ แต่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้พิพากษาให้เพราะความผิดหลงเนื่องจากศาลอุทธรณ์ระบุคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ไม่ครบถ้วน จึงเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาบังคับจำเลยที่ 3 เกินไปกว่าที่โจทก์มีคำขอมาทั้งกำหนดให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าทนายความแทนโจทก์อย่างคดีมีทุนทรัพย์ซึ่งไม่ถูกต้องเพราะคดีทั้งสองสำนวนเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ปัญหาดังกล่าวแม้จำเลยทั้งสามไม่ได้ฎีกาแต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาพิพากษาด้วยกัน โดยเรียกโจทก์ในสำนวนแรกและโจทก์ในสำนวนหลังเป็นโจทก์ เรียกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในสำนวนแรกเป็นจำเลยที่ 1 และที่ 2 และเรียกจำเลยในสำนวนหลังเป็นจำเลยที่ 3

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องมีใจความว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของมลรัฐนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นนิติบุคคลต่างมีจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการซึ่งลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทผูกพันจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีสถานประกอบการค้าใช้ชื่อว่า POLO SHOPPING HOUSE (อ่านว่า โปโล ช้อปปิ้ง เฮาส์) อยู่ที่ 312 – 320 สยามสแควร์ ซอย 4 แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เพื่อจำหน่ายสินค้าเครื่องนุ่งห่มและแต่งกาย โจทก์เป็นเจ้าของชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าหลายเครื่องหมาย ได้แก่คำว่า POLO(อ่านว่า โปโล) คำว่า POLO RALPH LAUREN คำว่า POLO ในกรอบรูปสี่เหลี่ยมซึ่งมีคำว่า BY RALPH LAUREN เป็นภาคส่วนประกอบเครื่องหมายการค้ารูปคนขี่ม้าตีคลีในลักษณะต่าง ๆ เครื่องหมายการค้ารูปคนขี่ม้าตีคลีที่อยู่รวมกับเครื่องหมายการค้าคำว่าPOLO หรือ RALPH LAUREN เป็นภาคส่วนประกอบ ตามเอกสารท้ายฟ้องสำนวนแรกหมายเลข 4 และเอกสารท้ายฟ้องสำนวนหลังหมายเลข 2 โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 2473 เพื่อใช้กับสินค้าเครื่องนุ่งห่ม เครื่องแต่งกายและกระเป๋า โจทก์ใช้ชื่อทางการค้าคำว่า POLO กับกิจการของโจทก์ และใช้เป็นส่วนหนึ่งของชื่อนิติบุคคลโจทก์ รวมทั้งใช้และโฆษณาเครื่องหมายการค้าดังกล่าวข้างต้นกับสินค้าของโจทก์หลายชนิดในประเทศต่าง ๆ เป็นจำนวนมากจนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและนิยมอย่างแพร่หลายทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทยเป็นเวลานานกว่าสิบปีแล้ว สำหรับประเทศไทยโจทก์ได้จดทะเบียนและยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้แล้ว เมื่อเดือนมิถุนายน 2524 จำเลยที่ 3 ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยมีคำว่า GALLOP (อ่านว่า แกลลอป) เป็นภาคส่วนประกอบไว้ต่อกองสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า เพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 38 ได้แก่ เครื่องนุ่งห่มและแต่งกายทั้งจำพวกโดยเจตนาไม่สุจริต เพื่อแสวงหาประโยชน์จากชื่อเสียงเกียรติคุณและความแพร่หลายของเครื่องหมายการค้ารูปคนขี่ม้าตีคลีของโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยที่ 3 ที่ใช้เครื่องหมายการค้ารูปคนขี่ม้าตีคลี โดยมีคำว่า GALLOP เป็นภาคส่วนประกอบเป็นสินค้าของโจทก์และเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2524 จำเลยที่ 1 บังอาจนำเอาชื่อทางการค้าและสาระสำคัญของชื่อห้างโจทก์คือคำว่า POLO ไปจดทะเบียนเป็นชื่อจำเลยที่ 1 ว่า บริษัทโปโล ช้อปปิ้ง เฮ้าส์ จำกัด (POLO SHOPPING HOUSE CO. , LTD.) รวมทั้งได้จดทะเบียนคำว่าPOLO เป็นสาระสำคัญของดวงตราของจำเลยที่ 1 ด้วย นับแต่ปลายปี 2532 เป็นต้นมาจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันนำเครื่องหมายการค้าคำว่า POLO ไปใช้กับสินค้าเครื่องนุ่งห่มและเครื่องแต่งกายที่ร่วมกันผลิตขึ้น และนำเอาเครื่องหมายการค้านั้นไปทำให้ปรากฏติดกับป้ายราคาสินค้าที่กล่าวด้วย อันเป็นการลวงสาธารณชนทั่วไปให้สับสนหลงผิดว่าสินค้าที่จำเลยทั้งสามร่วมกันผลิตและเสนอจำหน่ายนั้นเป็นของโจทก์หรือโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมอยู่ด้วย นอกจากนี้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้นำชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปใช้ให้ปรากฏในป้ายชื่อสถานประกอบการค้าของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และนำไปใช้กับเอกสารที่ใช้ในการประกอบกิจการค้าของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วยการกระทำของจำเลยทั้งสามดังกล่าวทั้งหมดเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อความเสื่อมเสียชื่อเสียงเกียรติคุณชื่อในทางการค้า ชื่อนิติบุคคลและเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ขอให้พิพากษาว่าโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้ารูปคนขี่ม้าตีคลี กับเครื่องหมายการค้าคำว่า POLO และมีสิทธิในชื่อทางการค้าคำว่าPOLO กับเครื่องหมายการค้าคำว่า POLO ดีกว่าจำเลยทั้งสาม บังคับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 เสียใหม่ มิให้ใช้คำว่า POLO และโปโล รวมทั้งชื่อหรือคำอื่นใดที่เหมือนหรือคล้ายกับคำดังกล่าวเป็นชื่อหรือส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 อีก และให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเปลี่ยนดวงตราบริษัทจำเลยที่ 1 เสียใหม่ มิให้มีคำว่า POLO ปรากฏอยู่ในดวงตราของจำเลยที่ 1 อีกต่อไป หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เลิกใช้คำว่า POLO SHOPPING HOUSE (โปโล ช้อปปิ้ง เฮ้าส์) เป็นชื่อสถานประกอบการค้าของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และห้ามใช้คำว่า POLO เป็นชื่อหรือสาระสำคัญของชื่อสถานประกอบการค้าของจำเลยที่ 1 และที่ 2 อีกต่อไปด้วยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เลิกจำหน่ายและเสนอจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ ที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่าPOLO โดยให้เก็บสินค้าที่กล่าวเสียให้หมดจากท้องตลาดให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เลิกใช้คำว่า POLO และโปโล กับเอกสารที่ใช้ในการประกอบการค้าและภาชนะบรรจุสินค้าของจำเลยที่ 1 และที่ 2 อีก ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รื้อถอนป้ายชื่อที่มีคำว่า POLO และPOLO SHOPPING HOUSE ในบริเวณสถานประกอบการค้าของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เสียให้หมด ให้จำเลยที่ 3 ถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปคนขี่ม้าตีคลีทะเบียนเลขที่ 75688 คำขอเลขที่ 118436 หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 3 และห้ามจำเลยทั้งสามใช้และเข้าไปเกี่ยวข้องกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวทั้งหมดอีก ให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นรายเดือนเดือนละ 100,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสามจะเลิกกระทำละเมิดต่อโจทก์และจนกว่าจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อและดวงตราบริษัทจำเลยที่ 1 เสียใหม่จนเสร็จสิ้นแล้ว

จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากโจทก์ไม่ได้เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดตามกฎหมายของมลรัฐนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐ-อเมริกา โจทก์เพิ่งยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม2532 คำขอของโจทก์จะครบถ้วนถูกต้องตามหลักเกณฑ์และนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจะรับไว้พิจารณาหรือไม่ยังไม่แน่นอน จำเลยทั้งสามไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่ได้เสียหายมากตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า โจทก์เป็นเจ้าของมีสิทธิในชื่อทางการค้าคำว่า POLO กับเครื่องหมายการค้าคำว่า POLO ดีกว่าจำเลยทั้งสามให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อจำเลยที่ 1 เสียใหม่ มิให้ใช้คำว่า POLO และโปโล รวมทั้งชื่อหรือคำอื่นใดที่เหมือนหรือคล้ายกับคำดังกล่าว เป็นชื่อหรือส่วนหนึ่งของชื่อจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเปลี่ยนดวงตราจำเลยที่ 1 เสียใหม่ มิให้มีคำว่า POLO ปรากฏอยู่ในดวงตราของจำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยทั้งสามเลิกใช้คำว่า POLO SHOPPING HOUSE (โปโล ช้อปปิ้งเฮ้าส์) เป็นชื่อสถานประกอบการค้าของจำเลยทั้งสาม และห้ามจำเลยทั้งสามใช้คำว่า POLO เป็นชื่อหรือสาระสำคัญของชื่อสถานประกอบการค้าของจำเลยทั้งสาม ให้จำเลยทั้งสามเลิกจำหน่ายและเสนอจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ ที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า POLOโดยให้จำเลยทั้งสามเก็บสินค้าดังกล่าวให้หมดจากท้องตลาด และห้ามมิให้จำเลยทั้งสามใช้หรือเข้าเกี่ยวข้องใด ๆ กับเครื่องหมายการค้าที่กล่าว ให้จำเลยทั้งสามเลิกใช้คำว่า POLO และโปโลกับเอกสารที่ใช้ในการประกอบการค้าและภาชนะบรรจุสินค้าของจำเลยทั้งสามให้จำเลยทั้งสามรื้อถอนป้ายชื่อที่มีคำว่า POLO หรือ POLO SHOPPING HOUSE ในบริเวณสถานประกอบการค้าของจำเลยทั้งสามให้หมด ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นรายเดือน เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสามจะเลิกกระทำละเมิดต่อโจทก์ และจนกว่าจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อและดวงตราจำเลยที่ 1

โจทก์และจำเลยทั้งสองสำนวนฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความนำสืบและที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาโดยจำเลยทั้งสามไม่ได้โต้แย้งฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดจดทะเบียนตามกฎหมายของมลรัฐนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา ตามสำเนาหนังสือรับรองพร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ.43 โจทก์เป็นเจ้าของชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าคำว่า POLO และเครื่องหมายการค้ารูปคนขี่ม้าตีคลี ตลอดจนเครื่องหมายการค้าอื่น ๆ ที่มีคำว่า POLO และรูปคนขี่ม้าตีคลีเป็นสาระสำคัญ ตามรูปเครื่องหมายการค้าจำนวน 14 รูป เอกสารหมาย จ.44 โดยเครื่องหมายการค้าคำว่า POLO และเครื่องหมายการค้ารูปคนขี่ม้าตีคลีเริ่มใช้กับสินค้าเครื่องแต่งกายและเครื่องนุ่งห่มที่ประเทศสหรัฐ-อเมริกาตั้งแต่ปี 2456 และปี 2515 ตามลำดับเรื่อยมา ต่อมาโจทก์ได้ขยายการใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวไปในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย และได้นำมาจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ประเทศไทยเมื่อปี 2528 และปี 2532 ตามเอกสารหมาย จ.74 ถึง จ.78 ด้วย ชื่อทางการค้ากับเครื่องหมายการค้าคำว่า POLO และเครื่องหมายการค้ารูปคนขี่ม้าตีคลีมีชื่อเสียงแพร่หลายเป็นที่รู้จักและนิยมของชาวต่างประเทศและชาวไทยมาเป็นเวลานานแล้วก่อนที่จำเลยทั้งสามจะใช้ชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าดังกล่าว โดยจำเลยที่ 3 เพิ่งนำรูปคนขี่ม้าตีคลีซึ่งอยู่เหนือคำว่า GALLOP ไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าจำพวกที่ 38 เครื่องนุ่งห่มและแต่งกาย ทั้งจำพวก ต่อกรมทะเบียนการค้าเมื่อปี 2524 ตามเอกสารหมาย จ.47 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันใช้ชื่อร้านค้าว่า POLO SHOPPING HOUSE ซึ่งตั้งอยู่ที่ศูนย์การค้าสยามสแคว์กรุงเทพมหานคร

ปัญหาตามที่จำเลยทั้งสามฎีกาข้อแรกเกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์ว่าจำเลยที่ 3 ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทไว้ก่อนโจทก์ จำเลยที่ 3 ย่อมมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่า โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ เห็นว่า โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์มาก่อนจำเลยที่ 3 ทั้งได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ในประเทศต่าง ๆ หลายสิบประเทศ และได้ส่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าของโจทก์เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยก่อนที่จำเลยที่ 3 จะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลยที่ 3 แม้เครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ 3 ขอจดทะเบียนจะได้รับการจดทะเบียนไว้แล้วก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 3 มีสิทธิดีกว่าโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474มาตรา 41(1) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะเกิดข้อพิพาทคดีนี้คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ในประเด็นนี้ชอบแล้ว

ปัญหาต่อไป จำเลยทั้งสามกระทำละเมิดต่อสิทธิในชื่อทางการค้า ชื่อนิติบุคคลและเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือไม่ โดยจำเลยทั้งสามฎีกาว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 มีอักษรโรมันคำว่า GALLOP อ่านว่า แกลลอป เป็นสาระสำคัญแห่งการสังเกตจดจำ ไม่ใช่รูปคนขี่ม้าตีคลี รูปคนขี่ม้าตีคลีของจำเลยที่ 3 ไม่เหมือนหรือใกล้เคียงกับรูปคนขี่ม้าตีคลีของโจทก์ จำเลยที่ 3 คิดค้นประดิษฐ์ขึ้นมาเองมิได้ลอกเลียนแบบจากโจทก์ เห็นว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 เป็นรูปคนขี่ม้าตีคลีอยู่เหนืออักษรโรมันคำว่า GALLOP รูปคนขี่ม้าตีคลีน่าจะเป็นสิ่งสาระสำคัญในการสังเกตจดจำของบุคคลทั่วไปเพราะมีขนาดใหญ่และเห็นเด่นชัดกว่าตัวอักษรคำว่า GALLOP มาก รูปลักษณะคนขี่ม้าตีคลีของจำเลยที่ 3 ก็คล้ายคลึงกับรูปคนขี่ม้าตีคลีของโจทก์ตามเอกสารหมายจ.44 นอกจากนั้นตามคำเบิกความของนายสมศักดิ์ พณิชยกุล พยานโจทก์ซึ่งเคยรับราชการอยู่ที่กองเครื่องหมายการค้า กรมทะเบียนการค้า ระหว่างปี 2522 ถึง 2533 ได้ความว่าเมื่อโจทก์ไปขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปคนขี่ม้าตีคลีเมื่อปี 2532 ตามเอกสารหมาย จ.45 และ จ.46 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่ได้รับจดทะเบียนให้ เนื่องจากไปเหมือนหรือคล้ายคลึงกับเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้ก่อนแล้ว ตามเอกสารหมาย จ.47 ซึ่งก็คือเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 นั่นเอง กรณีจึงฟังได้ชัดแจ้งว่าเครื่องหมายการค้ารูปคนขี่ม้าตีคลีของจำเลยที่ 3 คล้ายคลึงกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของและใช้เครื่องหมายการค้ารูปคนขี่ม้าตีคลีกับสินค้าเครื่องนุ่งห่ม เครื่องแต่งกายและสินค้าอื่นอีกหลายชนิดที่ประเทศต่าง ๆ หลายสิบประเทศรวมทั้งประเทศไทยมาก่อนจำเลยที่ 3 สินค้าของโจทก์ก็มีบริษัทซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยได้สั่งมาขายที่ห้างสรรพสินค้าชั้นนำในกรุงเทพมหานครหลายแห่งรวมทั้งที่จังหวัดเชียงใหม่ด้วย และได้มีการโฆษณาสินค้าของโจทก์ในนิตยสารหนังสือพิมพ์ในประเทศไทยแพร่หลายมาเป็นเวลานานปีแล้ว การที่จำเลยที่ 3 จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปคนขี่ม้าตีคลีเพื่อใช้กับสินค้าเครื่องนุ่งห่มและแต่งกายเช่นเดียวกับสินค้าของโจทก์ แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยที่ 3 ว่า ประสงค์จะฉวยโอกาสแอบอิงเครื่องหมายการค้าของโจทก์แสวงหาประโยชน์จากการจำหน่ายสินค้าของจำเลย การกระทำดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์เสียหาย เพราะผู้ซื้อหรือใช้สินค้านั้นอาจหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยที่ 3 เป็นสินค้าที่โจทก์ผลิตขึ้น เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต จำเลยที่ 3 ไม่มีสิทธิจะทำได้ ส่วนที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่าที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิในชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าคำว่า POLO เป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดไป เพราะคำว่า POLOอ่านว่า โปโล เป็นคำสามัญทั่วไป ใคร ๆ ก็สามารถใช้ได้นั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสามมิได้ยกปัญหานี้ขึ้นต่อสู้ในคำให้การและไม่เป็นประเด็นแห่งคดี จึงไม่ใช่เป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่า บริษัทจำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ย่อมจะใช้ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นชื่อสถานประกอบการและชื่อสถานการค้าได้จำเลยที่ 1 ไม่ได้แสวงหาประโยชน์จากชื่อเสียงและความนิยมในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โจทก์ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในประเทศไทย จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามนั้น เห็นว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเทศสหรัฐอเมริกา มีชื่อภาษาอังกฤษว่า THE POLO LAUREN COMPANY ชื่อเป็นภาษาไทยว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดเดอะโปโลลอเรน คัมปะนี โจทก์ประกอบการค้าโดยส่งสินค้าไปจำหน่ายตามประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทย สินค้าที่จำหน่ายได้แก่เครื่องนุ่งห่ม เครื่องแต่งกายและสินค้าอื่น ๆ ส่วนจำเลยที่ 1 ใช้ชื่อว่าบริษัทโปโล ช้อปปิ้ง เฮ้าส์ จำกัด มีชื่อภาษาอังกฤษว่า POLOSHOPPING HOUSE CO. , LTD. และใช้ชื่อร้านค้าซึ่งตั้งอยู่ที่ศูนย์การค้าสยามสแควร์ว่า POLO SHOPPING HOUSE ประกอบกิจการค้าขายสินค้าหลายชนิดรวมทั้งเครื่องนุ่งห่มและเครื่องแต่งกายเช่นเดียวกับโจทก์ ชื่อของจำเลยที่ 1 รวมทั้งชื่อร้านค้าดังกล่าวก็มีความหมายว่า เป็นสถานที่จำหน่ายสินค้ายี่ห้อหรือตรา POLO หรือโปโลซึ่งคำว่า POLO หรือโปโลนี้เป็นส่วนหนึ่งของชื่อโจทก์รวมทั้งเป็นคำในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.44 ซึ่งใช้แพร่หลายอยู่ทั่วโลกดังกล่าวมาข้างต้น นอกจากนั้นจำเลยยังใช้คำ POLO ให้ปรากฏอยู่อย่างเด่นชัดในดวงตราประทับของจำเลยที่ 1 ใบเสร็จรับเงินถุงบรรจุสินค้า และใช้ป้ายซึ่งมีคำ POLO ติดที่สินค้าเสื้อผ้าซึ่งผลิตและจำหน่ายอยู่ในร้านค้าที่ตั้งขึ้นดังกล่าวด้วย พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดว่าจำเลยที่ 1 คือโจทก์และกิจการร้านค้าของจำเลยเป็นกิจการค้าของโจทก์ เนื่องจากชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 และร้านค้าดังกล่าวมีคำว่า POLO หรือโปโลอยู่ด้วย เมื่อโจทก์ใช้ชื่อว่า POLO หรือโปโลมานานจนมีชื่อเสียงไปทั่วโลกและจำเลยได้นำชื่อนี้ไปใช้ในกิจการค้าขายสินค้าเช่นเดียวกับของโจทก์ ส่อแสดงว่าจำเลยมีเจตนานำชื่อ POLOหรือโปโลมาใช้โดยเจตนาไม่สุจริต โดยเจตนาแสวงหาประโยชน์และความนิยมในชื่อและเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จำเลยจึงไม่มีสิทธิจะทำได้ แม้โจทก์จะไม่ได้อยู่ในประเทศไทย แต่ส่งสินค้ามาจำหน่ายที่กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นสถานที่จำเลยประกอบกิจการค้าอยู่ เมื่อโจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิดของจำเลย ทั้งกรณีเช่นนี้ไม่มีกฎหมายจำกัดสิทธิมิให้โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศฟ้องคดีต่อศาลในประเทศไทย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้

ที่จำเลยทั้งสามฎีกาข้อสุดท้ายในปัญหาเรื่องค่าเสียหายของโจทก์ว่า โจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย หากโจทก์เสียหายก็ไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท นั้น เห็นว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า POLO และรูปคนขี่ม้าตีคลีดีกว่าจำเลย จำเลยเป็นฝ่ายลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปลวงขาย ทำให้ผู้ซื้อสินค้าหลงผิดซื้อสินค้าจำเลยโดยเข้าใจผิดว่าเป็นของโจทก์ โจทก์ย่อมเป็นฝ่ายได้รับความเสียหาย และฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ แม้โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นได้ชัดแจ้งว่าโจทก์ได้รับความเสียหายคิดเป็นเงินเท่าใด ศาลก็มีอำนาจกำหนดให้ตามสมควรแก่พฤติการณ์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้โจทก์ได้รับชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินเดือนละ 10,000 บาท ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

ปัญหาสุดท้ายโจทก์ฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยที่ 3 เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปคนขี่ม้าตีคลี ทะเบียนเลขที่ 75688 (คำขอเลขที่ 118436) กับห้ามใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวตามคำขอท้ายฟ้องด้วย เห็นว่า โจทก์ได้มีคำขอท้ายฟ้องตามที่โจทก์ฎีกาแล้ว และศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยถึงสิทธิของโจทก์ในเรื่องนี้ว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้ แต่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้พิพากษาให้เพราะความผิดหลงเนื่องจากศาลอุทธรณ์ระบุคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ไม่ครบถ้วนจึงเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

อนึ่งคดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาบังคับจำเลยที่ 3 เกินไปกว่าที่โจทก์มีคำขอมา ทั้งกำหนดให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าทนายความแทนโจทก์อย่างคดีมีทุนทรัพย์ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะคดีทั้งสองสำนวนเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ปัญหาดังกล่าวแม้จำเลยทั้งสามไม่ได้ฎีกาแต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง

ปัญหาสุดท้ายโจทก์ฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยที่ 3 เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปคนขี่ม้าตีคลี ทะเบียนเลขที่ 75688 (คำขอเลขที่ 118436) กับห้ามใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวตามคำขอท้ายฟ้องด้วย เห็นว่า โจทก์ได้มีคำขอท้ายฟ้องตามที่โจทก์ฎีกาแล้ว และศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยถึงสิทธิของโจทก์ในเรื่องนี้ว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้ แต่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้พิพากษาให้เพราะความผิดหลงเนื่องจากศาลอุทธรณ์ระบุคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ไม่ครบถ้วน จึงเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

อนึ่ง คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาบังคับจำเลยที่ 3 เกินไปกว่าที่โจทก์มีคำขอมา ทั้งกำหนดให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าทนายความแทนโจทก์อย่างคดีมีทุนทรัพย์ซึ่งไม่ถูกต้องเพราะคดีทั้งสองสำนวนเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ปัญหาดังกล่าวแม้จำเลยทั้งสามไม่ได้ฎีกาแต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง

พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้ารูปคนขี่ม้าตีคลี และชื่อทางการค้ากับเครื่องหมายการค้า คำว่า POLO ที่พิพาทและมีสิทธิดีกว่าจำเลยทั้งสามห้ามจำเลยทั้งสามเข้าไปเกี่ยวข้องกับเครื่องหมายการค้าดังกล่าว ให้จำเลยที่ 3 ถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ 75688 (คำขอเลขที่ 118436) รูปคนขี่ม้าตีคลี หากจำเลยที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 3 ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อจำเลยที่ 1 เสียใหม่ มิให้ใช้คำว่า POLO รวมทั้งชื่อหรือคำอื่นใดที่เหมือนหรือคล้ายกับคำดังกล่าวเป็นชื่อหรือส่วนหนึ่งของชื่อจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเปลี่ยนดวงตราจำเลยที่ 1 เสียใหม่ มิให้มีคำว่า POLO ปรากฏอยู่ในดวงตราของจำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เลิกใช้คำว่า POLO SHOPPING HOUSE (โปโล ช้อปปิ้ง เฮ้าส์) เป็นชื่อสถานประกอบการค้าของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และห้ามจำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้คำว่า POLO เป็นชื่อหรือสาระสำคัญของชื่อสถานประกอบการค้าของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เลิกจำหน่ายและเสนอจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ ที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า POLO โดยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เก็บสินค้าดังกล่าวให้หมดจากท้องตลาดให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เลิกใช้คำว่า POLO และโปโลกับเอกสารที่ใช้ประกอบการค้าและภาชนะบรรจุสินค้าของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รื้อถอนป้ายชื่อที่มีคำว่า POLO หรือ POLO SHOPPING HOUSE ในบริเวณสถานประกอบการค้าของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้หมด ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นรายเดือน เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยแต่ละคนจะเลิกกระทำละเมิดต่อโจทก์ และเฉพาะจำเลยที่ 1 จนกว่าจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อและดวงตราของจำเลยที่ 1 เสียใหม่จนแล้วเสร็จด้วย

Share