คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4239-4240/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวนนอกจากจะขอรับตัวผู้ต้องหาไปควบคุมไว้ยังที่ทำการของกองปราบปรามเพื่อให้พยานชี้ตัวแล้ว พนักงานสอบสวนได้อ้างเหตุที่ต้องขออนุญาตฝากขังด้วยว่า การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบสวนพยานเพิ่มเติมอีก 15 ปาก พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจกระทำการอื่นใดอันจำเป็นเพื่อให้การสอบสวนเสร็จสิ้นได้ มิได้จำกัดเพียงให้พยานชี้ตัวผู้ต้องหาเพียงอย่างเดียวเท่านั้นพนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจนำตัวผู้ต้องหาออกนอกพื้นที่ที่ทำการของกองปราบปรามเพื่อตรวจค้นตามหมายค้นได้
คำร้องของผู้ต้องหาที่ขอให้หน่วยนิติเวช ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาล ร. และให้ พ. ตรวจพิสูจน์ศพผู้ตายเพื่ออ้างเป็นพยานหลักฐานของผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 101 นั้นก็คือการชันสูตรพลิกศพนั่นเองซึ่งตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ถือว่าการชันสูตรพลิกศพเป็นการสอบสวนความผิดอาญาอย่างหนึ่ง และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้บัญญัติผู้มีหน้าที่ทำการชันสูตรพลิกศพและได้ให้อำนาจผู้ทำการชันสูตรพลิกศพทำการผ่าศพแล้วแยกธาตุส่วนใดหรือจะให้ส่งทั้งศพ หรือบางส่วน ไปยังแพทย์หรือพนักงานแยกธาตุของรัฐบาลก็ได้ และยังให้อำนาจผู้ชันสูตรพลิกศพจัดให้ขุดศพขึ้นเพื่อตรวจดูได้กำหนดวิธีการที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติไว้ โดยเฉพาะในภาค 2ลักษณะ 2 หมวด 2 แล้วตามมาตรา 150,151 และ 153 จึงนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 101 มาอนุโลมบังคับหาได้ไม่ ดังนี้ เมื่อพนักงานสอบสวนได้ทำการชันสูตรพลิกศพผู้ตายเสร็จแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะดำเนินการตามคำร้องของผู้ต้องหาที่ขอให้ชันสูตรพลิกศพผู้ตายได้อีก

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2541 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ต่อศาลชั้นต้นว่า เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2541 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนากองบัญชาการทหารสูงสุด ส่งตัวผู้ต้องหาซึ่งร่วมกับพวกกระทำความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกาย ร่วมกันตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป ข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยใช้กำลังประทุษร้าย ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น ร่วมกันฆ่าผู้อื่น ร่วมกันซ่อนเร้น ย้ายหรือทำลายศพ เพื่อปิดบังการตายหรือสาเหตุแห่งการตายร่วมกันทำลายเอกสารของผู้อื่น และร่วมกันลักทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 295, 309 วรรคสอง, 310, 288, 199, 188 และ 335(7) เข้าพบผู้ร้องผู้ร้องแจ้งข้อกล่าวหา ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนารับตัวผู้ต้องหาไปควบคุมไว้ตามอำนาจฝ่ายทหารตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498มาตรา 46 และตามข้อตกลงระหว่างกระทรวงกลาโหมกับกระทรวงมหาดไทยเรื่องการปฏิบัติและประสานงานเกี่ยวกับกรณีที่ทหารเป็นผู้เสียหายหรือเป็นผู้ต้องหาในความผิดอาญา พ.ศ. 2498 โดยฝ่ายทหารควบคุมตัวไว้ครั้งที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2541ถึงวันที่ 11 กันยายน 2541 แต่เนื่องจากการสอบสวนยังไม่เสร็จ ผู้ร้องจึงขอให้ควบคุมผู้ต้องหาไปอีกเป็นครั้งที่ 2 มีกำหนด 12 วัน แต่ผู้ร้องได้รับแจ้งจากฝ่ายทหารว่าผู้ต้องหาถูกปลดออกจากราชการแล้ว ฝ่ายทหารไม่มีอำนาจควบคุมผู้ต้องหาไว้ต่อไปและส่งตัวผู้ต้องหาให้ผู้ร้องในวันที่ 11 กันยายน 2541 ผู้ร้องยังสอบสวนไม่เสร็จ เนื่องจากต้องสอบสวนพยานเพิ่มเติมอีก 15 ปาก และรอผลการตรวจพิสูจน์คราบโลหิตในรถยนต์ของกลาง และผลการตรวจเปรียบเทียบคราบโลหิตจากกองพิสูจน์หลักฐาน จึงขอฝากขังผู้ต้องหาไว้ระหว่างการสอบสวนต่อไปอีกมีกำหนด 12 วัน นับแต่วันที่ 11 กันยายน2541 ถึงวันที่ 22 กันยายน 2541 พร้อมกับขอรับตัวผู้ต้องหาไปควบคุมไว้ยังที่ทำการของกองปราบปราม เนื่องจากมีความจำเป็นจะต้องนำตัวผู้ต้องหาไปให้พยานชี้ตัวในที่ทำการของกองปราบปราม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขังตามขอ และไต่สวนคำขอรับตัวผู้ต้องหาไปขังที่กองปราบปราม แล้วมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องรับตัวผู้ต้องหาไปขังไว้ที่กองปราบปรามมีกำหนด 12 วัน

ต่อมาวันที่ 15 กันยายน 2541 ผู้ต้องหายื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า เมื่อวันที่ 14กันยายน 2541 ผู้ร้องดำเนินการสอบสวนผู้ต้องหาเพิ่มเติมและนำผู้ต้องหาออกนอกพื้นที่ที่ทำการของกองปราบปรามโดยผู้ต้องหาไม่ยินยอมเพื่อตรวจค้นตามหมายค้น ซึ่งขัดต่อคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 และขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 87, 89 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 240 ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องปฏิบัติตามคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 อย่างเคร่งครัด เพื่อให้พยานชี้ตัวผู้ต้องหาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า พนักงานสอบสวนมีเหตุจำเป็นในการสอบสวนเพื่อให้การสอบสวนเสร็จสิ้นไป โดยขอรับตัวไปควบคุมที่กองปราบปราม ส่วนการนำตัวผู้ต้องหาไปนอกพื้นที่เป็นส่วนหนึ่งของการสอบสวนคดี ข้อคัดค้านจึงไม่อาจรับฟังได้ยกคำร้องคัดค้าน และเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2541 ผู้ต้องหายื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่าสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ ได้ตรวจพิสูจน์ศพนายพูลสวัสดิ์ จิราภรณ์ ผู้ตายเสร็จแล้วศพผู้ตายอาจถูกเผาทำลายไปก่อน ผู้ต้องหาประสงค์จะขอตรวจพิสูจน์ศพผู้ตาย เพื่อหาข้อเท็จจริงและอ้างเป็นพยานหลักฐานของผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 101 โดยจะให้หน่วยนิติเวช ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และนางพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ซึ่งเป็นแพทย์ที่เป็นคนกลางไม่เกี่ยวข้องกับฝ่ายใดเป็นผู้ตรวจพิสูจน์ว่าใช่นายพูลสวัสดิ์ จิราภรณ์ หรือไม่ ตายเพราะอะไร บาดแผลใดตรวจน้ำอสุจิ ตรวจเลือด ตรวจเส้นผลและอื่น ๆ ค่าใช้จ่ายในการเคลื่อนย้ายศพและค่าตรวจนั้น ผู้ต้องหาจะเป็นผู้ชำระ

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า การตรวจพิสูจน์ศพผู้ตายเป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณาอยู่แล้วว่าศพนั้นเป็นผู้ตายจริงจึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้ กรณีไม่มีเหตุที่ผู้ต้องหาจะขอสืบพยานเพื่อพิสูจน์ศพในชั้นนี้ ให้ยกคำร้อง

ผู้ต้องหาอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นทั้งสองคำสั่ง

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ต้องหาฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติตามคำร้องขอฝากขังอย่างเคร่งครัดเพื่อให้พยานชี้ตัวผู้ต้องหาเพียงอย่างเดียวเท่านั้นเห็นว่า แม้การที่พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาออกนอกพื้นที่ที่ทำการของกองปราบปรามเพื่อตรวจค้นตามหมายค้นจะเป็นการนอกเหนือจากคำร้องขอฝากขังที่ระบุว่าขอรับตัวผู้ต้องหาไปควบคุมไว้ยังที่ทำการของกองปราบปรามเพื่อให้พยานชี้ตัวในที่ทำการของกองปราบปราม แต่ตามคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวนดังกล่าว นอกจากพนักงานสอบสวนจะขอรับตัวผู้ต้องหาไปควบคุมไว้ยังที่ทำการของกองปราบปรามเพื่อให้พยานชี้ตัวแล้ว พนักงานสอบสวนได้อ้างเหตุที่ต้องขออนุญาตฝากขังด้วยว่า การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบสวนพยานเพิ่มเติมอีก 15 ปาก ดังนั้น พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนพยานดังกล่าวหรือกระทำการอื่นใดอันจำเป็นเพื่อให้การสอบสวนเสร็จสิ้นได้ มิได้จำกัดเพียงให้พยานชี้ตัวผู้ต้องหาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ส่วนคำร้องขอให้หน่วยนิติเวช ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และนางพรทิพย์ โรจนสุนัน์ ตรวจพิสูจน์ศพตามคำร้องของผู้ต้องหาเพื่ออ้างเป็นพยานหลักฐานของผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 101 นั้นก็คือการชันสูตรพลิกศพนั่นเอง ซึ่งตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาถือว่าการชันสูตรพลิกศพเป็นการสอบสวนความผิดอาญาอย่างหนึ่ง และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ได้บัญญัติผู้มีหน้าที่ทำการชันสูตรพลิกศพไว้แล้วคือพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ กับสาธารณสุขจังหวัด หรือแพทย์ประจำสถานีอนามัย หรือแพทย์ประจำโรงพยาบาล ถ้าบุคคลดังกล่าวไม่มีหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้ใช้เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขประจำท้องที่หรือแพทย์ประจำตำบล นอกจากนี้มาตรา 151 ได้ให้อำนาจผู้ทำการชันสูตรพลิกศพทำการผ่าศพแล้วแยกธาตุส่วนใดหรือจะให้ส่งทั้งศพ หรือบางส่วน ไปยังแพทย์หรือพนักงานแยกธาตุของรัฐบาลก็ได้ และมาตรา 153 ยังให้อำนาจผู้ชันสูตรพลิกศพจัดให้ขุดศพขึ้นเพื่อตรวจดูได้ ซึ่งเป็นวิธีการที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติไว้โดยเฉพาะในภาค 2 ลักษณะ 2 หมวด 2 แล้ว จึงนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 101 มาอนุโลมบังคับหาได้ไม่ และข้อเท็จจริงได้ความว่า พนักงานสอบสวนได้ทำการชันสูตรพลิกศพผู้ตายเสร็จแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะดำเนินการตามคำร้องของผู้ต้องหาได้ ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องของผู้ต้องหามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล

พิพากษายืน

Share