คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 326-327/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 12 ให้อำนาจควบคุมผู้ต้องหาในกรณีกระทำผิดต่อพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ฯ ได้เท่าที่จำเป็นแก่การสอบสวนเท่านั้น ไม่ใช่ให้ควบคุมโดยไม่มีกำหนด
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 วางหลักเป็นประกันเสรีภาพของประชาชนไว้ 2 ตอน ตอนต้นว่า จะควบคุมตัวผู้ต้องหาเกินกว่าจำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดีไม่ได้ตอนที่สองว่า ความจำเป็นดังกล่าว จะจำเป็นเพียงใดก็ตามก็จะควบคุมเกินกว่ากำหนดเวลาดังบัญญัติไว้ไม่ได้
ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 12 เป็นการแก้ไขและขยายระยะเวลาขั้นสูงดังกำหนดไว้ในมาตรา 87 ไม่ได้ยกเลิกหลักใหญ่ของมาตรานี้ที่ให้ควบคุมผู้ต้องหาได้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 7/2505)

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลพิจารณามีคำสั่งและคำพิพากษารวมกัน

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เนื่องจากได้มีการปฏิบัติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 เจ้าพนักงานตำรวจได้ทำการจับกุมผู้ร้องในข้อหาว่ามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์และความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ เริ่มแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2501 แล้วควบคุมตลอดมาจนบัดนี้ ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าพนักงานสอบสวนควบคุมผู้ร้องไว้โดยมิชอบ และขอให้มีคำสั่งปล่อย

เดิมศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ยกคำร้อง เพราะเห็นว่าข้อหาที่ผู้ร้องถูกกล่าวหาอยู่ในอำนาจศาลทหาร ศาลพลเรือนไม่มีอำนาจพิจารณาสั่ง แต่ศาลฎีกาให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องไว้แล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี

ศาลชั้นต้นเห็นว่า ผู้ร้องถูกควบคุมอยู่ในระหว่างสอบสวนตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 12 ฟังไม่ได้ว่าต้องควบคุมอยู่โดยผิดกฎหมาย ให้ยกคำร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่ เห็นว่าประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 12 เป็นการให้อำนาจควบคุมผู้ต้องหาในกรณีกระทำผิดต่อพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ฯ เพื่อทำการสอบสวน แต่จะคิดว่าให้อำนาจควบคุมได้ตลอดไปไม่มีกำหนดนั้น เป็นไปไม่ได้เพราะการให้อำนาจควบคุมก็เพื่อประโยชน์แก่การสอบสวน แม้แต่การลงโทษในทางอาญายังมีกำหนดเวลา นอกจากจะเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิตแล้วก็ไฉนการควบคุมเพียงเพื่อการสอบสวนจะไม่มีกำหนด ในระบอบประชาธิปไตย การเทอดทุนสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเป็นหลักการที่สำคัญ การแปลว่าให้อำนาจควบคุมโดยไม่มีกำหนดเวลาเท่ากับให้ร้ายคณะปฏิวัติว่าไม่ห่วงใยในเสรีภาพของบุคคลผู้ต้องหาอันเป็นสิ่งที่หวงแหน ซึ่งหาอาจที่จะเป็นไปได้ไม่ ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 12 นี้กล่าวว่า “ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจควบคุมผู้ต้องหาไว้ตลอดระยะเวลาที่ทำการสอบสวน” ถ้อยคำที่ใช้ในประกาศฉบับนี้ก็ให้มีความเข้าใจอยู่แล้วว่า ให้อำนาจพนักงานสอบสวนที่จะควบคุมผู้ต้องหาดังกล่าวไว้เท่าที่จำเป็นแก่การสอบสวนเท่านั้น

เรื่องสอบสวนนี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87วางหลักไว้เป็นประกันเสรีภาพของประชาชนว่า พนักงานสอบสวนจะควบคุมผู้ต้องหาไว้ได้ก็เพียงไม่เกินจำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดี และบัญญัติกำกับไว้อีกทีหนึ่งว่า ความจำเป็นดังกล่าวต้องไม่เกิน 48 ชั่วโมงหรือ 7 วัน หรือตามแต่ศาลจะสั่งขังได้ ซึ่งต้องไม่เกิน 84 วันเป็นการกำหนดคั่นสูงไว้เป็นประกันเสรีภาพของประชาชนอีกชั้นหนึ่งบทบัญญัติ มาตรา 87 จึงเป็นสองตอน คือ ตอนต้นว่าจะควบคุมผู้ต้องหาเกินกว่าจำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดีไม่ได้ ตอนที่สองว่า ความจำเป็นดังกล่าวแล้ว จะจำเป็นเพียงใดก็ตาม ก็ยังมีกำหนดเวลาดังบัญญัติไว้ ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 12 เป็นการแก้ไขและขยายระยะเวลาคั่นสูงดังกำหนดไว้ในมาตรา 87 ดังกล่าว ไม่ได้ยกเลิกหลักใหญ่ของมาตรา 87 ที่ให้ขังผู้ต้องหาได้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น สรุปแล้วที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเห็นว่า ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 12 ให้อำนาจพนักงานสอบสวนที่จะควบคุมผู้ต้องหาว่ากระทำผิดต่อพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2495 ได้เท่าที่จำเป็นแก่การสอบสวน ไม่ใช่ว่าให้ควบคุมโดยไม่มีกำหนด

ในการที่จะพิจารณาว่า ผู้ร้องคนใดถูกควบคุมในชั้นสอบสวนเกินกว่าที่ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 12 ให้อำนาจไว้หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไปสุดแล้วแต่ความจำเป็นในการสอบสวน คดีนี้ผู้ร้องร้องว่าต้องถูกควบคุมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นการร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 ศาลชอบที่จะสอบถามพนักงานสอบสวนว่ามีความจำเป็นแก่การสอบสวนที่จะต้องควบคุมผู้ร้องคนใดไว้ต่อไปอย่างไรหรือไม่ หากปรากฏว่าผู้ร้องคนใดถูกควบคุมมาเกินกว่าความจำเป็นในการสอบสวนแล้วก็ชอบที่จะสั่งปล่อยผู้ร้องคนนั้นเสีย

พิพากษาให้ยกคำสั่งศาลล่าง ย้อนสำนวนไปให้ศาลอาญาดำเนินการไต่สวนต่อไป แล้วมีคำสั่งตามแนวข้อกฎหมายตามควรแก่รูปเรื่อง

Share